ภาพเก่าเล่าตำนาน : รถ Jeep… ยานยนต์มนต์เสน่ห์ : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

การทำสงครามเข่นฆ่ากันของมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ จะก่อเกิดสิ่งประดิษฐ์ เครื่องมือใหม่ๆ อาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุด จะถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อเพิ่มอำนาจกำลังรบให้เหนือกว่าข้าศึก เพื่อทำให้ข้าศึกเสียชีวิตให้มากที่สุด ทำให้ฝ่ายเรามีความปลอดภัยสูงสุด มีอำนาจกำลังยิงที่สูงกว่า มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สูงสุด

1 ในอำนาจกำลังรบที่ทหารต้องการมากที่สุดคือ ยานพาหนะที่จะร่วมเป็นร่วมตายในสนามรบ มันจะต้องเคลื่อนที่ไปได้ในทุกภูมิประเทศ ขึ้นเขา ลงห้วย ลงโคลน ฝ่าหิมะ สมบุกสมบัน แข็งแรง ทนทาน ซ่อมบำรุงได้ง่าย ไม่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากนัก

ยานยนต์สายพานคือ นวัตกรรมที่มนุษย์ค้นพบ เพื่อต้องการให้รถถังที่หนักอึ้ง ไม่จมลงไปในดิน ไม่จมโคลน ลุยลงไปในน้ำ บุกตะลุยไปได้ทุกที่ประดุจดังม้าป่าที่ปราดเปรียวคึกคะนอง

การใช้ยานพาหนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีพัฒนาการยกระดับจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ยังเน้นการขุดสนามเพลาะแล้วยิงใส่กัน

Advertisement

ยานพาหนะที่โดดเด่นที่สุดที่ทหารยอมรับ คือ รถจี๊ป

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพไทยบรรจุยานยนต์ตระกูลนี้ในราชการทั้ง 3 เหล่าทัพ เรียกยานพาหนะเหล่านี้อย่างเป็นทางการว่า รยบ. คือ รถยนต์บรรทุก มีขนาด ตัน

Advertisement

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ขอชวนคุยเรื่อง รยบ. ตัน ที่เรียกกันติดปากว่า รถจี๊ป ที่มีเสน่ห์ทั้งในราชการและใช้ส่วนตัว

1 กันยายน 2482 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น กองทัพเยอรมันบุกตะลุยยึดดินแดนเกือบหมดทวีปยุโรป ส่วนในเอเชีย กองทัพลูกพระอาทิตย์ส่งกำลังเข้ายึดดินแดนทั่วเอเชีย

8 ธันวาคม พ.ศ.2484 มายกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งอ่าวไทย รบกับทหารอากาศไทยตายเกลื่อนที่อ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์ กองทัพซามูไรขอขึ้นบกฝั่งไทยเพื่อบุกต่อไปในพม่า ไปตีอังกฤษ

ยักษ์ใหญ่ อเมริกาเฝ้าดูการสู้รบที่ดุเดือดในยุโรปและเอเชีย เห็นภาพในสนามรบ ประมาณการว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้จะเป็นการรบด้วยยานยนต์เป็นหลัก

รถบันตัม (Bantam BRC-40) คือ รถต้นแบบ ซึ่งเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ผลิตโดยบริษัท เชคเกอร์

กองทัพสหรัฐสอดส่อง มองหายานรบสำหรับภารกิจลาดตระเวนชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ เพื่อเตรียมเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุด กองทัพต้องรีบเปิดการประกวดราคาหารถที่จะเข้าสู่สนามรบแบบ “พระเอก ตัวจริง” ซึ่งในเวลานั้นมีถึง 130 บริษัทที่สามารถผลิตรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อได้

มีบริษัทที่ตอบรับกองทัพบกสหรัฐเพียง 3 แห่ง คือ บันตัม (American Bantam) วิลลีย์-โอเวอร์แลนด์ (Willys-Overland Motors) และบริษัทฟอร์ด (Ford Motor) ทั้ง 3 บริษัทส่งข้อเสนอคุณลักษณะ หน้าตา “รถต้นแบบ” ให้กองทัพบกสหรัฐเพื่อพิจารณา

บันตัม เป็นบริษัทขนาดกลาง ทางราชการเป็นกังวลว่าบริษัทนี้จะมีกำลังผลิตรถไม่พอความต้องการของกองทัพ

กองทัพบก จึงส่งแบบของรถลาดตระเวนอเนกประสงค์ของ บันตัม ไปให้บริษัทวิลลีย์และบริษัทฟอร์ด เพื่อขอคำแนะนำ ช่วยปรับปรุงให้เป็น “รถรบ” มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ต่อมา บริษัทฟอร์ดสามารถผลิตรถ “ปิกมี่” (Pygmy) และบริษัท วิลลีย์ผลิตรถ “ควอด” (Quad) และ “บันตัม” รวม 3 แบบให้กองทัพบกสหรัฐพิจารณาเป็นการเร่งด่วน

บริษัท วิลลีย์-โอเวอร์แลนด์ ชนะใจกรรมการ ได้รับการคัดเลือก แต่มีข้อแม้ว่าต้องปรับปรุงเรื่องน้ำหนักรถชนิดนี้ ซึ่งวิลลีย์สจะยังคงใช้เครื่องยนต์เดิมที่มีน้ำหนักมากแต่ทรงพลัง รถของบริษัทวิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ ที่ได้รับการคัดเลือก มีราคาคันละ 738.74 ดอลลาร์สหรัฐ

กองทัพสหรัฐมียุทธศาสตร์จะต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ร่วมกันและทดแทนกันได้เสมอ กรณีของการควบคุมน้ำหนักรถก็เพื่อจะสามารถบรรทุก หรือยกโดยอากาศยานได้ กรณีรถจี๊ปนี้กำหนดให้มีน้ำหนักไม่เกิน 1,300 ปอนด์ ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ 2199 ซีซี 60 แรงม้า 1 ใช้ไฟกระแสตรง 6 โวลต์

เนื่องจากกองทัพต้องการรถจำนวนมาก บริษัทวิลลีย์ยินยอมให้บริษัทอื่นร่วมผลิตด้วยช่วยกัน รัฐบาลสหรัฐเลือกบริษัทฟอร์ดเป็นผู้ร่วมผลิตได้ ทำให้มีชื่อเรียกเป็น “จี๊ปวิลลีย์” กับ “จี๊ปฟอร์ด” ซึ่งทั้งสองรุ่นจะมีรูปร่างหน้าตาแบบฝาแฝด

แนวคิดแบบ “แบ่งปันผลประโยชน์แบบ win-win” ตรงนี้น่าชื่นชมนะครับ (ผู้เขียน)

ในที่สุดสหรัฐก็เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แบบเต็มตัว สหรัฐทำศึก 2 ด้าน คือ ช่วยอังกฤษรบกับกองทัพนาซีเยอรมันในยุโรป และทำศึกกับกองทัพลูกพระจักรพรรดิญี่ปุ่นในเอเชียแปซิฟิก

สหรัฐที่กำลังร่ำรวย รุ่งเรือง เฟื่องฟู ปรับฐานการผลิตในอเมริกาเป็นอุตสาหกรรมหนัก เป็นชาติที่ยังไม่บุบสลายจากสงคราม เป็นมหาอำนาจตัวจริง บริษัทวิลลีย์และบริษัทฟอร์ดเร่งผลิตยานรบชนิดนี้ได้ถึง 640,000 คัน สำหรับกองทัพสหรัฐส่งไปใช้ในสนามรบแบบเร่งด่วน

รถจี๊ปถูกนำไปใช้ในภารกิจทางทหารสหรัฐเป็นหลัก และแพร่กระจายไปทั่วโลก ในภารกิจต่างๆ ที่รถจี๊ป นอกจากจะเป็นยานพาหนะในสนามรบแล้ว มันยังถูกออกแบบมาเพื่อทำงานสารพัด เช่น วางสายเคเบิล เป็นเลื่อยตัดสิ่งของ เป็นเครื่องสูบน้ำ เป็นรถพยาบาล เป็นรถแทรกเตอร์ ฯลฯ

คุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ เมื่อมีการต่อเพลาจากเครื่องยนต์ส่งพลังขับไปที่เครื่องจักร จะสามารถทำงานได้จริงเหมือนเครื่องยนต์ “รถอีแต๋น”

สหรัฐยังใจดีแบ่งมอบรถจี๊ปให้กับกองทัพอังกฤษ กองทัพโซเวียต มันเป็นยานพาหนะหลักที่ทุกคน ทุกหน่วยทหารชื่นชอบในความคล่องตัว ทนมือ ทนตีน ถูกอก ถูกใจพระเดชพระคุณเป็นที่สุด

กองทัพที่เป็นพันธมิตรของพี่ใหญ่มะกันได้รับแบ่งมอบ “รถจี๊ป” ต่างพึงพอใจ รถจี๊ปที่เปรียบเสมือน “เพื่อนตาย” ในสนามรบ…มันเป็นรถในฝันของทหารทุกเหล่าทัพ

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทวิลลีย์ผลิตรถจี๊ปออกมา 363,000 คัน บริษัทฟอร์ดผลิตได้ 280,000 คัน กระทรวงกลาโหมสหรัฐมอบให้กองทัพรัสเซีย 51,000 คัน

อย่างไรก็ตาม จี๊ปวิลลีย์ที่รับใช้ทหารอเมริกันและทหารพันธมิตรในสนามรบอย่างซื่อสัตย์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีข้อบกพร่องบางประการ คือรถจี๊ป เป็นรถขนาดเล็กที่ยกสูง ใส่ยางดอกใหญ่ ทำให้สามารถลุยได้ทุกสภาพทางในแบบออฟโรดด้วยความทนทานและความสามารถในการลุยเป็นเลิศ มีความผิดพลาดในทางวิศวกรรม ที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุไม่น้อย คือ เมื่อเหยียบเบรกแล้ว ทำให้พวงมาลัยบังคับให้ล้อเลี้ยวไปทางซ้ายเอง คนขับต้องออกแรงขืนพวงมาลัยกลับทุกครั้งที่เบรก ยิ่งเบรกแรงกะทันหัน รถก็ยิ่งเป๋ออกซ้ายมากขึ้น

แต่ในช่วงเวลานั้น ทางบริษัทต้องเร่งผลิตรถเข้าสู่สนามรบจึงไม่มีโอกาสแก้ไข แต่เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางบริษัทจี๊ปก็ได้ปรับปรุงระบบเลี้ยวใหม่หมด มาติดตั้งจุดหมุนของคานงัดมาอยู่บนคานขวางของตัวถังรถแทน

เกียรติภูมิ มนต์เสน่ห์ของรถจี๊ปยังคงประทับใจ ตรึงใจผู้คนมิรู้ลืม รถจี๊ปที่ปลดจากราชการสงคราม โดยเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์ที่มีจำนวนมหาศาล

ช่วงหลังสงคราม ข้าวยากหมากแพง ชาวตากาล็อกจึงนำซากรถจี๊ปมาดัดแปลง ต่อเติม ปรับปรุงออกมาใช้งานเป็นรถโดยสารมีสีสันงดงาม ใช้งานแบบรถสองแถวของไทย ที่ดังไปทั่วโลก เรียกกันว่า จี๊ปนีย์ (Jeepney)

โรงงานผลิตรถจี๊ปนีย์ ชื่อ ซาเรา (Sarao) ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 อยู่ในกรุงมะนิลา เป็นมือหนึ่งในการผลิตจี๊ปนีย์ ตามความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ชาวฟิลิปปินส์จะแข่งขันกันตกแต่งรถจี๊ปนีย์ เน้นสีสันที่ฉูดฉาด หน้ารถจี๊ปนีย์มักนิยมประดับรูปม้า แสดงถึงความเร็ว มีเครื่องประดับที่ต้องประกวดประขันกัน ให้มีสีสันลวดลาย ฉูดฉาดวูบวาบ

รถจี๊ปนีย์โด่งดังขนาดที่เคยได้รับเชิญให้ไปตั้งแสดงในงานแสดงสินค้าของฟิลิปปินส์ในนิวยอร์กในปี พ.ศ.2507

นายพลไอเซนฮาร์ ผบ.ทหารสูงสุด ในการยกพลขึ้นบกครั้งประวัติศาสตร์ กล่าวยกย่องว่า “รถจี๊ป เครื่องบินดาโกต้า และยานยกพลขึ้นบก คือ 3 เครื่องมือหลักที่ทำให้เราชนะสงคราม”

กองทัพไทยในช่วงรับความช่วยเหลือจากสหรัฐตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมาก็ได้รับรถจี๊ปวิลลีย์ พวงมาลัยซ้ายมาใช้ในราชการทั้ง 3 เหล่าทัพจำนวนมาก เมื่อปลดประจำการ รถจี๊ปจำนวนมากออกมาวิ่งบนท้องถนนในประเทศไทย จดทะเบียนเป็นรถใช้ส่วนตัว เป็นรถบรรทุกของที่แข็งแกร่งไร้เทียมทาน

คำว่า จี๊ป-Jeep มาจากไหน?

ข้อมูลที่ผู้เขียนสืบค้นมาระบุว่า ในยุคนั้นมีภาพยนตร์ที่มีตัวการ์ตูนชื่อ ยูจีน ที่ถูกเรียกว่าจี๊ป เพราะสามารถไปได้ทุกหนแห่ง จี๊ปเลยมีความหมายว่า รถที่ไปได้ทุกที่ สำหรับชื่อ Jeep ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้แน่นอนว่ามีที่มาจากที่ใด อีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่า “จี๊ป” เป็นชื่อที่ช่างเทคนิคของกองทัพบกสหรัฐ ใช้เรียกพาหนะที่พวกเขาต้องทดสอบ

คนรัก ชื่นชอบรถจี๊ปในประเทศไทย ก็มีนะครับ

“มติชน” ฉบับวันที่ 24 มกราคม 2559 เสนอข่าว พบ “หมู่บ้านรถจี๊ป” ที่บ้านตาชี ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา ที่ชาวบ้านที่มีอาชีพทำสวนยางทั้งหมู่บ้านพร้อมใจกันใช้รถจี๊ปที่มีรวมกันราว 200 คัน ชาวบ้านแห่งนี้ชื่นชอบยานยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า ซื้อหารถจี๊ปกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านที่นี่ยังคงรักษาสภาพ สี ของรถจี๊ปวิลลีย์ไว้ได้แบบนักอนุรักษ์มืออาชีพ เมื่อมีงานเทศกาลคราใด ชาวบ้านเจ้าของรถจี๊ปจะพร้อมใจกันนำกองทัพรถจี๊ปมาร่วมงานแบบสุดเท่อลังการ

กาลเวลาผ่านมานานเกือบ 80 ปี รถจี๊ปวิลลีย์ยังคงเป็น “ของรัก-ของหวง” มีธุรกิจค้าอะไหล่ ขายอุปกรณ์ของแท้ ของจี๊ปอยู่ไม่น้อย รวมทั้งมีผู้คนที่เป็นนักเลงรถเก่าจำนวนมากทั่วโลก ที่ยังคงชื่นชม อนุรักษ์ ซ่อมแซมรถจี๊ปวิลลีย์ให้อยู่สภาพเดิมๆ บ้างก็วางเครื่องยนต์ใหม่ บางรายติดตั้งอุปกรณ์ใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น พลั่วสนาม ขวาน เลื่อย และถังน้ำมันสำรองไว้ด้านท้ายกับยางอะไหล่แบบรถใช้ในสงคราม วันดีคืนดี ก็นำมาโลดแล่นบนท้องถนนอวดความเท่ โปรยเสน่ห์ให้ได้ยลโฉมกัน

หลังสงคราม รถจี๊ปกลายเป็นรถยอดนิยมไปโดยไม่ต้องโฆษณา บริษัทวิลลีย์รีบออกแบบ และผลิตรถยนต์สำหรับพลเรือนออกสู่ตลาด ในรูปแบบต่างๆ ในสายการผลิตของ CJ ตั้งแต่ CJ-2A, CJ-3A, CJ-5, CJ-7 และ SCRAMBLER และมีพัฒนาการต่อเนื่อง และกลายเป็นรถสัญลักษณ์ของอเมริกา

หลายฝ่ายลงความเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ชื่อ จี๊ป ทั้งขลังทั้งคงกระพัน ก็เนื่องจากการผ่านสนามรบสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอย่างโชกโชน เป็นเวลา 4 ปีเต็ม ทั้งในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย โดยไม่มียานพาหนะใดมาเทียบเทียมได้

รถจี๊ป ยังไปรับใช้ทหารอเมริกัน กองทัพสหประชาชาติ รวมทั้งทหารไทยที่ไปร่วมรบในสงครามเกาหลีอย่างสมภาคภูมิ

ทั่วโลก… รวมทั้งในประเทศไทยทุกวันนี้ ยังคงมีคนรัก หลงใหลรถจี๊ป ยานยนต์มนต์เสน่ห์ ต้นตำนานแห่งรถออฟโรด รุ่นคุณทวด อยู่ไม่น้อย

 

แปลและเรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image