เดินหน้าชน : หมุด‘อีอีซี’-เสา‘ศก.’

เมื่อเริ่มเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง นักลงทุนอาจหวั่นไหวว่าจะมีอะไรเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” (ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา) ที่รัฐบาลชุดนี้จุดพลุขึ้น

ด้วยเพราะเครื่องจักรเดิมเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้ช้าลง จึงต้องมี “อีอีซี” เพื่อต่อยอดการลงทุนเน้นเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ 5.การแปรรูปอาหาร

เพิ่มด้วย 5 อุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ 1.หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 2.การบินและโลจิสติกส์ 3.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4.ดิจิทัล และ 5.การแพทย์ครบวงจร

ขณะที่ 8 โครงการโครงสร้างพื้นฐานใน “อีอีซี” เริ่มเดินหน้าแล้ว โดยเฉพาะ 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินกว่า 2.2 แสนล้านบาท ที่มีเอกชน 14 รายซื้อซองประมูล 2.โครงการสนามบินอู่ตะเภา 3.ศูนย์ซ่อมอากาศยาน 4.ท่าเรือแหลมฉบัง (ระยะ 3)

Advertisement

5.ท่าเรือมาบตาพุด (ระยะ 3) 6.เมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ 7.เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และ 8.เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)

“อีอีซี” เป็นนโยบายสำคัญที่ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ผลักดันเต็มที่ และให้ความมั่นใจกับนักลงทุนต่างประเทศเป็นระยะ ล่าสุดให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ตอนหนึ่งว่า “ไม่ใช่อยู่ดีๆ คิดทำอีอีซีขึ้นมา โดยไม่ประเมินว่าคุ้มค่าหรือไม่ สิ่งที่ประเมินไว้ 5 ปีแรก เศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างน้อย ร้อยละ 5 ต่อปี เกิดการจ้างงานกว่าแสนคนอัตราต่อปี สร้างฐานภาษีใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนต่อปี สร้างฐานรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 4.5 แสนล้านบาท จะช่วยกระจายรายได้”

ขณะที่ทีมเศรษฐกิจ ทั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ก็ประสานเสียงการันตีถึงความต่อเนื่องของ “อีอีซี” ในงาน “The Eastern Economic Corridor (EEC) : Taking Off”

Advertisement

โดยชี้แจงกับคณะผู้แทนทางการทูตและกงสุลประจำการในประเทศไทย 55 ประเทศทั่วโลก เพื่อแจ้งผ่านไปยังนักลงทุนของตนให้คลายความกังวล

นอกจากนี้ “บิ๊กตู่” ยังนำทีมเศรษฐกิจไปเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส เมื่อ 20-26 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทั้ง 2 ชาติต่างสนใจลงทุนใน “อีอีซี” นอกจากความร่วมมือการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ระหว่างแอร์บัสกับการบินไทยแล้ว

ยังมีบริษัท ทรานด์เดฟ ของฝรั่งเศส ที่เจรจากับเครือซีพี เพื่อร่วมกันประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือบริษัท เอ็นจี ของฝรั่งเศสสนใจลงทุนพลังงานทางเลือก

ส่วนนักลงทุนอังกฤษ จะมีคณะนักลงทุนเอเชียเฮาส์ เดินทางมาดูพื้นที่ “อีอีซี” เดือนกรกฎาคมนี้ โดยสนใจสมาร์ทซิตี้และไบโออีโคโนมี รวมถึงบริษัท โรลส์-รอยซ์ ซึ่งปัจจุบันลงทุนเอ็มอาร์โอกับการบินไทยที่สนามบินดอนเมือง ก็สนใจลงทุนในพื้นที่ “อีอีซี” ด้วย

หลังจาก “บิ๊กตู่” กลับจากยุโรป พอวันที่ 27 มิถุนายน ก็เปิดทำเนียบต้อนรับ “ทะโร โคโนะ” รมว.ต่างประเทศของญี่ปุ่น ที่แจ้งว่า เอกชนญี่ปุ่นสนใจจะลงทุนใน “อีอีซี”

ถัดมา 29 มิถุนายน “บิ๊กตู่” ก็เปิดทำเนียบต้อนรับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) ซึ่งมีตัวแทนจาก 39 บริษัทชั้นนำ ก็แสดงความสนใจจะลงทุนใน “อีอีซี”

จะเห็นได้ว่านักลงทุนจากหลายประเทศ ต่างเชื่อมั่นและยืนยันจะลงทุนใน “อีอีซี” ที่รัฐบาลตอกหมุดลงอย่างมั่นคง ซึ่งจะเป็นอีกเสาหลักของเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image