อำนาจรัฐ กฎหมาย และผู้สื่อสารจากโลกอันอยู่เหนือเหตุผล

ก่อนหน้านี้เรื่องของร่างทรง โลกของความเชื่อทางจิตวิญญาณที่เคยอยู่ในมุมลึกลับด้วยเสียงสวดและลางเลือนในควันธูป กลับออกมาสู่พื้นที่สว่างเปิดโล่งด้วยเทคโนโลยีสื่อใหม่ พร้อมกับที่มีร่างทรงกำเนิดขึ้นมามากมายทั้งใหม่เก่า บ้างก็คล้ายเป็นเรื่องตลก ด้วยบางองค์ที่มาทรงร่างนั้นเป็นเทพผีที่เพิ่งสร้าง ตัวละครจากนิยายหรือตัวการ์ตูน เช่นมีคนอ้างว่าเป็นร่างทรงของผีเสื้อสมุทรจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ผีอีแพงจากละครเรื่องบ่วง หรือแม้แต่เจ้าพ่อโดราเอมอน!

เมื่อมีข่าวเด็กๆ นักฟุตบอลและโค้ชของทีมหมูป่าอะคาเดมี่ รวมสิบสามชีวิตไปประสบภัยติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนอกจากจะเป็นหน่วยกู้ภัยจากรัฐ เอกชน และจากต่างประเทศแล้ว ตัวละครสำคัญที่เป็นเหมือนเครื่องแนมควบคู่ไปด้วย คือ “บรรดาคนทรง” ผู้ถ่ายทอดความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณเหนือธรรมชาติ ผู้นำสารจากเทพเจ้าหรือเจ้าป่าเจ้าเขาออกมาถ่ายทอด มีตั้งแต่สาเหตุของการที่เด็กๆ เข้าไปติดในถ้ำว่าเพราะกระทำการบางอย่างที่ลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชะตากรรม สภาพ และสถานที่อยู่ของผู้ที่อยู่ในถ้ำ หรือแม้แต่เสนอวิธีการแก้ไขในทางจิตวิญญาณพิธีกรรม ให้เซ่นให้ไหว้ขอขมาอะไรอย่างไรก็ว่ากันไป

บทบาทของบรรดาผู้สื่อสารทางจิตวิญญาณนี้ถูกตั้งคำถามทั้งเบาและหนักจากผู้คนกลุ่มที่ไม่เชื่อถือว่าเป็นการล้นเกินไปจนก่อปัญหาและความเสียหาย พร้อมเรียกร้องให้ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาดำเนินการอะไรสักอย่างหนึ่งด้วยเครื่องมือของรัฐที่จะจัดการในเรื่องนี้คือ “กฎหมาย”

เราอาจจะสำรวจกันว่า จะมีกฎหมายใดบ้างที่เคยถูกนำมาปรับใช้ และอาจจะถูกปรับใช้ในกรณีนี้ได้บ้าง

Advertisement

ความเชื่อไสยศาสตร์เหนือธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อกฎหมาย โดยเฉพาะถ้ามีเรื่องของเงินทองทรัพย์สินเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็อาจจะคาบเกี่ยวเข้าไปในแดนของความผิดฐานฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และมาตรา 343 ที่มีองค์ประกอบสำคัญคือ ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ฯลฯ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ถ้าการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือด้วยการปกปิดความจริงนั้นกระทำต่อประชาชน ก็จะไปเข้าความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีโทษหนักขึ้นและยอมความไม่ได้

มีแนวคำพิพากษาฎีกาหลายเรื่องที่วินิจฉัยวางแนวไว้ว่า การใช้ “ไสยศาสตร์” มาเพื่อให้ได้เงินทองหรือผลประโยชน์อะไรที่จะถือเป็นความผิดฉ้อโกงนี้ อาจจะพอจับแนวได้ว่า ถ้าเป็นกรณีที่ผู้กระทำนั้นมีความเชื่อหรือเลื่อมใสอย่างแท้จริง ว่าวิธีการทางไสยศาสตร์นั้นอาจจะแก้ปัญหาหรือแม้แต่รักษาโรคภัยได้แล้ว ศาลมองว่าการใช้พิธีกรรมเหล่านั้นเรียกค่าตอบแทนจากผู้เลื่อมใส ถือเป็นการให้คำยืนยันต่อเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน ไม่ใช่การแสดงข้อความอันเป็นเท็จที่เป็นองค์ประกอบของความผิดฐานฉ้อโกง (คำพิพากษาฎีกาที่ 3074/2539 และที่ 8534/2554)

แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ทำพิธีนั้นไม่เชื่อในไสยศาสตร์หรือรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลที่ตัวเองแสดงออกไปนั้นไม่เป็นความจริง ก็จะถือว่าเข้าองค์ประกอบความผิดนี้ได้ เช่น คนหัวใสรายหนึ่งเอาเท้าแกว่งให้น้ำกระเพื่อมแล้วบอกคนอื่นว่าเป็นน้ำพุศักดิ์สิทธิ์แก้โรคได้สารพัด และเรียกเอาเงินจากคนที่ไปตักน้ำนั้นกิน ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน (คำพิพากษาฎีกาที่ 557/2502) หรือตัวเองก็ไม่ได้เชื่อในไสยศาสตร์ แต่ทำน้ำมันพรายออกมาขาย ก็ถือเป็นความผิดเช่นกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 219/2531)

จุดตัด “เจตนาฉ้อโกง” ของศาล คือ “ความเชื่อ” ในข้อความที่แสดงออกมา หากเป็นเรื่องที่ตัวเองไม่ได้เชื่อ และรู้อยู่แล้วว่าข้อความหรือสารที่แสดงออกมานั้นเป็นเรื่องไม่จริงจึงจะถือว่าเข้าองค์ประกอบความผิดฐานนี้

แต่กระนั้นก็มีอีกกรณีหนึ่งที่ถือว่าการป่าวประกาศข่าวสารอันเหนือธรรมชาตินั้น ก็อาจเป็นความผิดได้โดยไม่พิจารณาถึงความเชื่อหรือไม่เชื่อของผู้กระทำ หากข่าวสารนั้นเลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ เคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 96/2517 ปรับบทว่า กรณีที่มีผู้ออกโทรทัศน์ว่าพระพรหมมาเข้าฝันจะเอาชีวิตคนเกิดปีมะ ให้เร่งทำบุญสะเดาะเคราะห์กับเจ้าตัว ก็เป็นความผิดฐานแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ ตามมาตรา 384 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ (อย่างไรก็ตาม ในฎีกาดังกล่าวมีเรื่องผลประโยชน์เป็นเงินทองด้วย จึงเป็นเรื่องฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นบทหนักกว่า)

หรือคดีที่ไม่ถึงฎีกาซึ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ อาจจะยังจำเรื่อง “พ่อปลาบู่” กันได้ เรื่องที่ชายคนหนึ่งอ้างว่าลูกชายที่เสียชีวิตไปแล้วหลายสิบปีก่อนได้พยากรณ์ไว้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จนเขื่อนภูมิพลจะแตกในคืนปีใหม่ของพุทธศักราช 2555 ทำให้แตกตื่นเป็นกระแสไปพักหนึ่ง เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้น “พ่อปลาบู่” ก็ถูกดำเนินคดีกันไป

ศาลตัดสินให้จำคุก 15 วัน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอไว้

จะเห็นว่าแนวคำพิพากษาฎีกาในความผิดบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจนั้น ศาลไม่พิจารณาเจตนาว่าคนที่เผยแพร่ข้อมูลเหนือความจริงนั้นมีความเชื่อในข้อมูลของตนอย่างไรหรือไม่ เพราะความผิดลหุโทษนี้เป็นความผิดที่ไม่ต้องการเจตนา แต่เรื่องพ่อปลาบู่นี้ก็มีข้อสังเกตว่า การมาดำเนินคดีกับเขาในภายหลังจากที่คำทำนายไม่เกิดขึ้นนั้น มันจะตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งป้องกันสังคมจากการตื่นตกใจด้วยข่าวลือข่าวเท็จหรือไม่ หรือต้องรอดูก่อนว่าจะเป็นไปตามคำทำนายหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นก็จึงจะเป็น “ความเท็จ” ที่จะเข้าองค์ประกอบความผิด

ความผิดอีกฐานหนึ่งที่อาจจะปรับฐานได้ เนื่องจากในยุคปัจจุบันนี้ แทบจะกล่าวได้ว่าข้อมูลข่าวสารอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นหรือเสนอออกมานั้น เข้าไปสู่เครือข่ายสื่อออนไลน์ทั้งหมดแล้ว ก็อาจจะไปเข้าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ที่ว่า ผู้ใดกระทำความผิดโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ฯลฯ แต่เรื่องนี้ก็จะมีข้อถกเถียงอีกนั่นแหละ “ความเท็จ” ตามกฎหมายนี้ น่าจะเป็นความเท็จในเชิงภาวะวิสัยที่ชัดเจน เหมือนกับการที่ไปจับเว็บข่าวปลอมทั้งหลายที่เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ใช่การส่งออกสาระข้อมูลที่มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อทางไสยศาสตร์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยที่ผู้นั้นเชื่อเช่นนี้อยู่จริงๆ ซึ่งอาจจะถือตามแนวคำพิพากษาฎีกาเรื่องฉ้อโกงประชาชนที่ว่า เป็นเพียงคำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเท่านั้น

การใช้อำนาจรัฐและกฎหมายจัดการกับสิ่งที่บางคนอาจจะเรียกว่าเป็นความเชื่องมงายนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างคาบเกี่ยวกับการเข้าไปแทรกแซงเสรีภาพในทางศาสนาและความเชื่อพอสมควร การที่รัฐเลือกที่จะเอาผิดหรือลงโทษต่อความเชื่อในรูปแบบหนึ่ง เช่นการเข้าทรงหรือพยากรณ์ ก็จะเกิดคำถามว่า เช่นนั้นแล้ว “ความเชื่อทางจิตวิญญาณ” ในรูปแบบอื่นที่อยู่นอกเหตุเหนือผลทางวิทยาศาสตร์ ก็จะเป็นความผิดสมควรถูกห้ามปรามคาดโทษในระดับเดียวกันหรือไม่

เราอาจจะปล่อยให้กลไกของสังคมนั้นถ่วงดุลกันเอง ด้วยการให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเข้าต่อสู้กับเสรีภาพในทางความเชื่อ ให้การแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผลเชิงประจักษ์หรือตรรกะไปคัดง้างหักล้างความเชื่อเหล่านั้นด้วยเหตุผล โดยที่รัฐก็คุ้มครองเสรีภาพเช่นนั้นอย่างเท่าเทียมกัน นั่นคือ เมื่อใครคนหนึ่งกล่าวว่า “เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะลงโทษผู้ไม่เคารพเชื่อถือ” ก็ต้องมีอีกฝ่ายหนึ่งออกมากล่าวได้ด้วยน้ำเสียงที่ดังเท่ากันว่า “เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่มีจริง หรือถึงมีจริงก็จะไม่ลงโทษ” ได้

กระนั้น ในสังคมที่วาทกรรม “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” นั้นเป็นข้อห้ามสำคัญที่แม้แต่คนหัวก้าวหน้าซึ่งยังมีความประนีประนอมต่อสังคมอยู่บ้างก็ยังไม่กล้าล่วงผ่าน หรือในสังคมที่การห้ามลบหลู่นั้นมีระดับชั้น และหากเป็นเรื่องทางศาสนา การแสดงความคิดเห็นหรือตีความในทางอื่น ก็สุ่มเสี่ยงจะถูกมองว่าเป็นการลบหลู่และอาจมีความผิดตามกฎหมาย หรือตกเป็นจำเลยของกระแสสังคมและการบังคับโทษแบบประชาทัณฑ์เสมือนจริง

ความเชื่อ เหตุผล และความคิดเห็น จึงไม่อาจจะต่อสู้กันได้เต็มที่เสียทีเดียว บนเวทีและด้วยอาวุธอย่างเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image