สมอง : เหยี่ยวถลาลม 4 กค.

เมื่อวานตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ที่คนเราพูดผิดที่ ผิดเรื่อง ผิดคน และผิดเวลาเอาไว้ว่า เหตุใด? คนเราจึงไม่รู้ หรือไม่มี “กาลเทศะ”

“กาลเทศะ” เป็นคำเก่าที่ใช้มานาน หมายความถึงอาการที่รู้ว่าอันใดควร หรือไม่ควรในการพูดการแสดงออก ซึ่งจะสะท้อนถึงการถูกอบรมบ่มเพาะให้เป็นผู้รู้จักสังเกต รู้มารยาท รู้กติกาเพื่อที่จะปฏิบัติเหมาะสมในการเข้าสังคม

ความมีหรือไม่มีกาลเทศะต้องเริ่มต้นกันที่ “สมอง” เพราะต้องใช้ “สมอง” ในการเรียนรู้
สมองเป็นสมบัติและเครื่องมือล้ำค่าที่สุดที่มนุษย์มีเพื่อที่จะคิดพิจารณา วิเคราะห์

จำแนกแยกแยะ ตีความ จากสิ่งที่เห็น ที่ได้ยินได้ฟัง แล้วสื่อสารถ่ายทอดสนทนาหรือแสดงพฤติกรรม ตลอดจนเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหลายเอาไว้เป็นความทรงจำ

Advertisement

การรู้ หรือไม่รู้กาลเทศะนั้นจึงต้องมีการสั่งสอนอบรมฝึกฝน ให้รู้จักสังเกต ดู ฟังจากผู้อื่น ไม่ใช่เอา “ความต้องการ” หรือ “ความอยาก” ของตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลให้คนอื่น หรือสิ่งอื่นหมุนตาม

เราทุกคนไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ตามใจตัวเองในทุกสิ่ง ทุกสถานที่ ทุกเวลา หรือทำกับทุกคนได้

จึงต้องเรียนรู้ ฝึกฝน ได้รับการอบรมบ่มเพาะทั้งความรู้ทั่วไป ความรู้ในการดำเนินชีวิต ระเบียบ กติกา

Advertisement

มารยาท ซึ่งทุกเรื่อง “สมอง” จะเก็บบันทึกเอาไว้ โดยเมื่อจะนำออกไปใช้ “สมองส่วนหน้า” จะทำหน้าที่ควบคุม ดูแล คิดพิจารณา ตลอดจนสร้างสรรค์ผลักดันจนกลายเป็นการแสดงออก หรือพฤติกรรม

ถ้ากับ “เด็ก” ซึ่งทั้งในทางกายภาพ และทางสังคมยังขาดการเติมเต็มให้สมบูรณ์ จะมีคำว่า “ไม่เดียงสา” เพื่อให้เข้าใจว่าต้องผ่อนปรน ให้เวลาให้โอกาสที่พัฒนาการทางสมองยังเติบโตไม่เต็มที่

แต่หากเป็น “ผู้ใหญ่” ถ้าประพฤติไม่เหมาะสม ไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลา ไม่ถูกกับบุคคล ไม่ถูกเรื่อง จะถูกเรียกว่า “ไม่มีกาลเทศะ”

ทั่วทั้งโลกมีสมมุติฐานเหมือนกันคือ “ในทางกายภาพ” ผู้ใหญ่หรือผู้บรรลุนิติภาวะนั้น “สมอง” จะพัฒนาเติบโตเต็มวัยแล้ว ขณะเดียวกัน “ในทางสังคม” ผู้ใหญ่ก็ต้องผ่านการเรียนรู้ การอบรม บ่มเพาะหล่อหลอมทั้งจากครอบครัว โรงเรียน สถาบันการศึกษา มาพอสมควร

ผู้ใหญ่จึง “ต้องรู้” และ “ต้องสามารถ” พิจารณาสถานการณ์อย่างมีสติ สามารถที่จะควบคุมการประพฤติ การแสดงออกของตัวเองได้ ไม่ใช่เอาความทะยานอยากหรืออารมณ์ความรู้สึกเป็นที่ตั้ง !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image