เรียนรู้จากผู้ว่าฯฮีโร่

สร้างความปลื้มปริ่มให้ไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมถึงสายตาที่จับจ้องจากทั่วโลกในภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย

เพราะนี้คือภารกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาโดยมี 13 ชีวิตเป็นเดิมพัน

เมื่อสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ในเหตุการณ์นี้ก็เช่นกัน สายตาจับจ้องไปที่ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯเชียงราย ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในภารกิจบีบคั้นเช่นนี้

ผมไม่มีข้อมูลเบื้องต้นของผู้ว่าฯท่านนี้ แต่ผมสังเกตบุคลิกการทำงาน การสั่งการ แม้แต่การให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ต้องยอมรับว่า ท่านเป็นคนที่คิดและทำอะไรอย่างเป็นระบบ ในคำพูดมีความเด็ดขาดในตัว การตอบคำถามนั้นกระชับและชัดเจน หลายครั้งพูดต่อว่าหรือตักเตือนคนที่ออกนอกลู่นอกทาง แต่ก็ไม่ได้สร้างความเกลียดชัง พูดจาด้วยข้อเท็จจริงด้วยข้อมูล
หลักฐาน สิ่งที่มักเน้นย้ำเสมอว่า จะไม่คาดเดาสิ่งต่างๆ แต่ดูข้อเท็จจริงของสถานการณ์หน้างานเป็นหลัก

Advertisement

ยิ่งสืบค้นประวัติถือว่ามีคุณวุฒิไม่ธรรมดา จบระดับปริญญาตรีถึง 4 ใบ คือ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา ม.เกษตรศาสตร์ พร้อมนิติศาสตรบัณฑิต, เทคโนโลยีบัณฑิต และรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต จาก ม.สุโขทัยธรรมาธิราชด้วย และปริญญาโทจาก Master of Science (Geodetic Science and Surveying) จากสหรัฐอเมริกา

ผมสังเกตและวิเคราะห์จากสื่อต่างๆ ถึงวิธีการทำงานของผู้ว่าฯท่านนี้ พบว่าท่านทำงานมีเป้าหมายชัดเจน เวลาอธิบายอะไรก็สั้นๆ กระชับเข้าใจง่าย เน้นย้ำอยู่ตลอดว่าเป้าหมายหรืองานหลักคือสูบน้ำออก เปิดทางซีลเข้าพื้นที่ แต่ก็ไม่ทิ้งทางเลือกอื่นคือ หาโพรงหรือปล่อง เจาะผนังถ้ำ และขยายปลายถ้ำ ด้วยความชัดเจนของแนวทางหลักที่ไม่มีการเบี่ยงเบนคือการสูบน้ำเปิดทางให้หน่วยซีล จนทำให้ประสบผลสำเร็จในที่สุด

ยิ่งงานภายใต้คนเป็นพันๆ ชีวิต แต่ละคนหรือแต่ละหน่วยงาน ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แยกย่อยไปมากมาย หากคุมไม่อยู่ ผลกระทบจะตามมาอีกมากมาย ท่านก็แก้ปัญหา คือ การลงทะเบียนเจ้าหน้าที่ทุกคน ทำสายการบังคับบัญชาลงทะเบียนคนทำงาน ใครไม่เกี่ยวห้ามเข้าพื้นที่ มีการเซ็นชื่อการทำงาน เพราะป้องกันอันตรายให้คนทำงาน การตกหล่น และทำงานทับซ้อนกันเอง

Advertisement

พิจารณาและแยกแยะแนวทางความช่วยเหลือ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ส่งมาช่วยว่าสิ่งไหนเหมาะสมและใช้ได้จริงหรือไม่ สิ่งนี้เห็นได้จากคำพูดของท่านที่บอกว่า “ใครอยากมาก็มาได้ แต่ต้องมาถกหลักการกันก่อน ว่าสิ่งที่นำเสนอมันทำได้หรือไม่ หรือว่าเป็นไอเดียที่จะถ่วงทีมให้ช้าลง ไม่ใช่ว่าคนที่อยากช่วยจะมีประโยชน์ทั้งหมด ตอนนี้ความช่วยเหลือตอนนี้เยอะมาก มีหุ่นยนต์ดำน้ำเป็นสิบจอดรอหน้าถ้ำ แต่มันใช้ไม่ได้ก็คือใช้ไม่ได้”

มองปัญหาที่จะเกิดในอนาคตและเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ คือ การซักซ้อมการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย นับเป็นความรอบคอบ เป้าหมายคือการหาน้องๆ ให้เจอ แต่เจอแล้วกลับปกป้องและรักษาไม่ได้ก็สูญเปล่าและจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักยิ่งกว่าเดิม จึงมีการซักซ้อมและจัดระเบียบในพื้นที่เพื่อความพร้อมเคลื่อนย้าย 13 ชีวิตให้ปลอดภัยมากที่สุด

ภายใต้สังคมโซเชียล ตลอดเวลาที่เจ้าหน้าที่ทำงาน มักมีข่าวเท็จ ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปล่อยต่างๆ มากมาย สร้างความสับสนให้กับคนทั่วไป ก็จัดการสร้างศูนย์กลางของข้อมูล แจกจ่ายให้สื่อที่มาทำงานในพื้นที่เพื่อยืนยันข้อมูลข่าวว่า ข่าวจริงต้องออกมาจากศูนย์ข่าวนี้เท่านั้น

น่าเสียดายเพราะด้วยบุคลิกการทำงานและการบริหารในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ถ้าเป็นบริษัทเอกชนก็ต้องนับว่าเป็นซีอีโอยุค 4.0 ที่มีวิสัยทัศน์สามารถผลักดันองค์กรให้เจริญก้าวหน้าได้ แต่เมื่อท่านมาอยู่ในระบบราชการแบบไทยๆ เราเพิ่งมารู้ภายหลังว่า ก่อนหน้านี้ท่านถูกโยกย้ายจากผู้ว่าฯเชียงรายมาเป็นผู้ว่าฯพะเยา ซึ่งตามหลักของกระทรวงมหาดไทยถือว่าถูกลงโทษและลดชั้น

ซึ่งเหตุผลที่ถูกโยกย้ายเพราะที่ผ่านมาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นมีความไม่ราบรื่น

ภายใต้สังคมและรัฐบาลยุคปฏิรูปที่พร่ำบอกว่าต้องการข้าราชการพันธุ์ใหม่ยุค 4.0 เช่นผู้ว่าฯเชียงรายคนนี้ แต่ความเป็นจริงข้าราชการยุคนี้ก็ยังท่องกับคำว่า “ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน” เพื่อให้เติบโตในชีวิตราชการอยู่เหมือนเดิม …

พันธศักดิ์ รักพงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image