มนุษยชาติกำลังฉลาดขึ้น หรือโง่ลงกันแน่?

ไม่แปลกนัก หากคุณจะคิดว่ามนุษยชาติกำลังโง่ลง, คุณอาจมองคอมเมนต์บนเฟซบุ๊กแล้วตัดสินว่า “คนสมัยนี้ โง้โง่เนอะ, เรื่องพวกนี้มันคอมมอนเซนส์ ทำไมคนสมัยนี้ถึงไม่รู้เรื่องกัน?” หรือคุณอาจนึกตำหนิ “เด็กสมัยนี้” ที่ “ไม่รู้เรื่องง่ายๆ บางเรื่อง”

เว็บไซต์ JustScience รวบรวมเหตุผลสนับสนุนว่า “คนรุ่นดิจิทัลนั้นโง่ลง” ไว้ถึง 6 ข้อ ซึ่งซ้ำหรือทับซ้อนกันบ้างไว้ว่า เทคโนโลยีทำให้เรากลายเป็นพวกไม่รู้จักหลับจักนอน แสงสีฟ้าจากหน้าจอก็ยิ่งทำให้เรานอนไม่หลับกันขึ้นไปอีก, เราสมาธิสั้นลง จากการศึกษาของ Pew Research ที่พบว่าครู 2,400 คน ลงความเห็นพ้องกันว่าเด็กรุ่นใหม่วอกแวกง่ายกว่าเด็กรุ่นเก่าเยอะ (ซึ่งก็เป็นผลจากเทคโนโลยีอีกนั่นแหละ), กูเกิลมาทดแทน ‘สมอง’ ทำให้เราไม่ต้องจดจำอีกต่อไป (บทความนี้บอกว่า “เราพึ่งพากูเกิลมากเกินไป” “เราแค่รู้ว่าต้องไปหาที่ไหน แต่ไม่รู้ว่าข้อมูลที่เราหานั้นบอกว่าอย่างไรอีกแล้ว”), เราต้องพึ่งพา GPS และสูญเสียความสามารถในการนำทางด้วยตนเอง, เราไม่รู้จักการสะกดคำให้ถูกอีกแล้ว เพราะมีระบบเช็กคำผิดที่คอยแก้ให้โดยอัตโนมัติ และสุดท้ายคือการที่โลก “เสมือน” กำลังทดแทนโลกจริง (ซึ่งหมายถึงโลกเสมือนแบบ Virutal Reality และโลกเสมือนในความหมายของ “โลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก”)

ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีความพยายามเพื่อวัด “ระยะเวลาตอบสนอง” (Reaction Time) ของมนุษย์จากฟรานซิส แกลตัน นักวิทยาศาสตร์ในยุควิคทอเรียน แกลตันเชื่อว่า “เวลาตอบสนองต่อสิ่งเร้า” สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ความฉลาดเฉลียวได้ ระหว่างปี 1885-1892 แกลตันวัดระยะเวลาตอบสนองของมนุษย์จำนวน 3,410 คน เขาทำการทดลองซ้ำสามครั้งในปี 1885, 1890 และ 1892 พบว่าโดยเฉลี่ยมนุษย์ยุคนั้นมีระยะเวลาตอบสนองอยู่ที่ราวๆ 210 มิลลิวินาที

ต่อมามีนักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองของแกลตันซ้ำในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 พวกเขาพบเรื่องน่ากังวลจากผลการทดลองในศตวรรษนี้ว่าระยะเวลาตอบสนองต่อสิ่งเร้าของมนุษย์นั้นเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 10% (Wilkinson และ Alison ทดลองในปี 1989 พบว่าอยู่ที่ 225 มิลลิวินาที, ล่าสุด Deary & Der ทดลองซ้ำในปี 2005 พบว่าอยู่ที่ราว 235 มิลลิวินาที)

Advertisement

หากการทดลองของแกลตันไม่ผิด เป็นไปได้ไหมว่าคนยุคก่อนจะ ‘เร็ว’ กว่าคนยุคเรา? และการที่คนรุ่นก่อน ‘เร็ว’ กว่าคนยุคเรา นั้นแปลว่าพวกเขา ‘ฉลาด’ กว่าคนยุคเราตามที่แกลตันตั้งสมมุติฐานไว้ไหม?

คำตอบอาจไม่เป็นเช่นนั้น

ในแวดวงการศึกษาเรื่องความเฉลียวฉลาด มีสิ่งที่เรียกว่า Flynn Effect ซึ่งหมายถึงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสลักสำคัญที่พบในมนุษย์ในศตวรรษที่ 20 (ตั้งชื่อตาม James R. Flynn ผู้ศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบและเผยแพร่ในวงกว้าง) ตัวอย่างหลักฐานที่สนับสนุน Flynn Effect เช่นงานศึกษาที่พบในปี 2009 พบว่าเด็กอังกฤษในปี 2008 มีไอคิวเพิ่มขึ้นจากเด็กอังกฤษปี 1942 ร่วม 14 จุด ซึ่งผลแบบเดียวกันก็พบในประเทศแถบยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ด้วย

Advertisement

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจในปี 2015 ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 200,000 คนจาก 48 ประเทศ ก็พบว่าไอคิวของมนุษยชาติเพิ่มขึ้น 20 จุดตั้งแต่ปี 1950 โดยมีการเพิ่มขึ้นสูงสุดในประเทศจีนและอินเดีย

ฟลินน์ยกเหตุผลประกอบว่ามนุษย์เรามีความสามารถทางด้านการคิดเชิงนามธรรม (Abstract) สูงขึ้น เขายกตัวอย่างการทดลองครั้งหนึ่งที่ถามคนบ้านนอกชาวรัสเซียนว่า “ถ้าตรงไหนมีหิมะ ตรงนี้หมีจะมีขนสีขาว ในเขตโนวานา เซมลยา มีหิมะตลอดเวลา หมีของที่นั่นจะมีขนสีอะไร” ปรากฏว่าคนยุคก่อนไม่สามารถตอบคำถามได้ เพราะไม่เคยเห็นหมีสีอื่น นอกจากสีดำ หรือไม่เคยไปเขตโนวานา เซมลยา หรือถ้าถามคนศตวรรษที่ 19 ว่ากระต่ายและสุนัขมีอะไรที่เหมือนกัน พวกเขาก็มักไม่ตอบว่ามันเหมือนกันตรงมีสี่ขา หรือเป็นสัตว์เลือดอุ่น แต่จะตอบว่ามันมีขน หรือมนุษย์ใช้มันแทน ซึ่งเป็นคำตอบที่เป็น ‘รูปธรรม’ กว่า

เหล่านี้คือบางหลักฐานที่อาจทำให้เราเชื่อได้ว่ามนุษยชาติกำลังไต่เต้าไปตามกราฟของความเจริญทางปัญญา

แต่คำตอบก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นอีก!

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดงานวิจัยปี 2018 พบว่าในประเทศพัฒนาแล้วอย่างนอร์เวย์หรืออังกฤษ, ผลของ Flynn Effect ได้หยุด หรือเกิดขึ้นช้าลง นั่นกำลังแปลว่าในประเทศที่มีความเจริญทางด้านวัตถุ และมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาก มนุษยได้ชาติ ‘หยุด’ เจริญเติบโตทางปัญญาและกำลังเดินสู่ขาลงหรือเปล่า?

เหตุผลของเรื่องนี้ไม่ชัดเจนนัก นักวิชาการบางส่วนอ้างว่าอาจเป็นผลจากผู้อพยพที่เข้าสู่ประเทศเหล่านี้ฉุดคะแนน IQ ลงบ้าง หรือคนโง่ลงจริงๆ จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมบ้าง นอกจากนั้นยังมีการพูดถึง ‘ขีดจำกัดของการสอนเพื่อสอบ’

เทคโนโลยีกำลังทำให้มนุษย์โง่ลงหรือฉลาดขึ้น? คำตอบที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร กาลเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image