ภาษีลดความเหลื่อมล้ำ โดยสมหมาย ภาษี

ภาษีเปรียบเหมือนยาขมสำหรับประชาชนผู้ต้องจ่ายเงินให้รัฐ แต่เหมือนขนมหวานสำหรับคนร่ำรวยสูงวัยที่เป็นโรคเบาหวาน ที่พยายามหลบเลี่ยงไม่แตะต้อง และเหมือนยาพิษสำหรับการเมืองที่ขี้ขลาดหวาดกลัว

ภาษีนั้นมีมาแต่โบราณตั้งแต่มนุษยชาติรู้จักรวมตัวกันเป็นอาณาจักร ไม่ว่าในสมัยอาณาจักรโรมัน อาณาจักรจีน และอาณาจักรสุโขทัย ที่คนได้ค้นคว้าร่ำเรียนกันมา เพียงแต่ชื่อนั้นเรียกแตกต่างกันไป เมื่อมนุษยชาติมีความเจริญขึ้น ระบบภาษีก็เจริญตาม ประเทศไหนมีวิธีการเก็บภาษีที่ดีและมีประสิทธิภาพก็สามารถสร้างความเจริญให้ประเทศชาติได้มาก และสามารถทำให้ประชาราษฎร์มีความสุข ไม่ต้องมาฟังเพลงปลอบใจไปวันๆ หนึ่งเหมือนประเทศเราในขณะนี้

ชาติตะวันตกเริ่มจากประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่นในเอเชีย ได้มีการพัฒนาระบบภาษีของตนเป็นลำดับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา หรือประมาณ 70 ปีมาแล้ว การพัฒนาระบบภาษีที่ว่า ไม่ได้หมายถึงการทำให้มีความยุติธรรมหรือเสมอภาคแบบคนจนเสียภาษีน้อย คนรวยเสียมากเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการนำระบบภาษีมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความกินอยู่ดีของประชาชน ซึ่งรวมถึงการนำระบบภาษีมาใช้ในการกำกับดูแลการบริโภคของไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น สุรา ยาสูบก็เก็บภาษีแพง เป็นต้น นอกจากนั้นยังนำระบบภาษีมาส่งเสริมการพัฒนาทั้งในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม เมื่อการค้าระหว่างประเทศขยายตัวก็นำมาใช้ในเรื่องนี้ด้วยอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ราคาสินค้าถูกแล้วแข่งขันกับคนอื่นได้ ซึ่งเรื่องนี้ต่อมาได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ของโลก ก่อให้เกิดการนินทาเนื่องจากมีการเอาเปรียบกันมากจนการค้าระหว่างประเทศปั่นป่วน ทำให้ต้องคิดร่วมกันเพื่อวางกฎเกณฑ์ที่ยุติธรรม ชาติส่วนใหญ่รับกันได้ โดยการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ จนกระทั่งมีการจัดตั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) ขึ้นในปี 1995 หรือ 34 ปีมาแล้ว

วัตถุประสงค์ของการนำระบบภาษีอากรมาใช้ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การลดความเหลื่อมล้ำของกลุ่มชนในชาติ เรื่องนี้ชาติตะวันตกได้ทำกันมานานแล้วในปัจจุบัน จึงเห็นได้ชัดว่าคนจนมีอยู่น้อยมากในชาติเหล่านั้น แน่นอนว่าการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ไม่ได้ใช้เรื่องภาษีมาช่วยแต่อย่างเดียว แต่ต้องเอามาตรการการให้สวัสดิการและการให้เงินช่วยเหลืออุดหนุนคนระดับล่างมาช่วยด้วย แต่การใช้มาตรการทางภาษีต้องมาก่อน

Advertisement

ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเรามีการให้ความสำคัญกันมากในสมัยเริ่มทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผน 5 ปี) โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 (ฉบับแรกนี้เป็นแผน 6 ปี) ได้ออกมาเมื่อปี 2504 ในช่วง 20 ปีแรก ถ้าไปเปิดแผนพัฒนาชาติดู จะพบว่ามีการพูดเรื่องการกระจายรายได้กันมาก ในทุกบทของแผนพัฒนาชาติจะพบแต่เรื่องนี้ แต่วิธีการลดความเหลื่อมล้ำของไทยเน้นอยู่แต่เรื่องสร้างโครงการพัฒนาเกษตรเป็นหลัก เช่น การชลประทาน และด้านการเกษตรอื่นๆ นอกจากนี้ก็เน้นเรื่องการสร้างระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา และถนนหนทาง แต่ไม่เคยพูดเรื่องภาษี เหมือนมองไม่เห็นว่าระบบภาษีนั้นมีความสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้อย่างไร

ในช่วงหลังจากปี 2525 เป็นช่วงที่การพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นหน้าขึ้นตา การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้ากลายเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน เพราะประเทศไทยสมัยนั้นขาดดุลการค้ามาตลอด ฐานะเงินทุนสำรองมีน้อย จึงมีแค่เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเบื้องต้น นับตั้งแต่การผลิตสิ่งทอ เสื้อผ้า สินค้าในการบริโภคขั้นพื้นฐาน เช่น พัดลม ตู้เย็น ทีวี ฯลฯ รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ในการก่อสร้างบ้าน เป็นต้น มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขึ้นมาไม่นาน ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกได้ดีมากอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนได้เฟื่องฟูมาก ต่อจากนั้นจำได้ว่าในช่วงการหลงระเริงในการพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งนักการเมืองลืมเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนไปอย่างสิ้นเชิง

ตรวจสอบดูตั้งแต่ปี 2500 หรือในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการนำระบบภาษีมาลดความเหลื่อมล้ำของรายได้เป็นครั้งแรกในปี 2525 ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นรัฐบาลกึ่งประชาธิปไตย โดยได้มีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นอัตราก้าวหน้าแบบบันได 13 ขั้นอัตรา เริ่มจากคนจนที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีเสียภาษีเงินได้ ที่อัตรา 7% และอัตราสูงสุดสำหรับคนรวยที่มีรายได้สุทธิเกิน 2 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป เสียภาษีที่อัตรา 65% ของรายได้สุทธิ ซึ่งนับว่าสูงมาก เหตุจูงใจให้รัฐบาลกล้าทำในเรื่องนี้เพราะสมัยนั้นฐานะการคลังของภาครัฐแย่มาก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็มีน้อยนิด แทบจะไม่มีจ่ายค่าน้ำมันนำเข้า ซึ่งจวนเจียนจะเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอยู่แล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องราชาเงินทุนและแชร์แม่ชม้อย ผู้สูงวัยสมัยนี้คงพอนึกภาพออก สมัยนั้นโชคดีที่ได้ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ามาช่วยเหลือ จึงรอดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจไปได้

Advertisement

ความกล้าตัดสินใจของท่านนายกฯเปรม ติณสูลานนท์ ที่มีขุนคลังคู่ใจ คือ ท่านสมหมาย ฮุนตระกูล ช่วยดูแลเรื่องเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดในสมัยนั้น การที่นักการเมืองรุ่นหลังๆ จะเอาเป็นแบบอย่างมั่งแต่ก็ไม่เห็นเคยมีเลย สมัยนั้นกล่าวได้ชัดว่าท่านนายกฯเปรม ติณสูลานนท์ ทำเรื่องแบบนี้โดยไม่เกรงใจพวกเศรษฐีใดๆ ในประเทศ เหมือนอย่างที่เราท่านเคยพบเห็นกันต่อๆ มา ซึ่งการปรับโครงสร้างของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนั้น แท้ที่จริงไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำมากเท่าใด เพราะสมัยนั้นผู้ที่มีรายได้ต้องเสียภาษีเงินได้ทั่วประเทศมีอยู่ไม่เกิน 2 ล้านคน แต่ความกล้าตัดสินใจทำเรื่องนี้ของรัฐบาลที่มีผู้นำที่อดีตเป็นพลเอกคนหนึ่งจากกองทัพ ยากที่จะหาผู้นำอดีตระดับนายพลเอกใดๆ ในช่วงหลังคิดทำตามพอที่จะสรรเสริญได้เลย

นับจากการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยป๋าเปรมในครั้งนั้น ก็มีการปรับอัตราภาษีต่างๆ บ้าง แต่ไม่มีชิ้นไหนที่เป็นลักษณะของการมุ่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ในสังคมไทย จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2535 ในสมัยของนายกฯอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ รสช.ซึ่งมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้ทำการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศไทยครั้งใหญ่ที่สุด โดยได้นำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทนภาษีการค้า พร้อมกับการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือเพียง 5 ขั้นอัตรา โดยได้ทำการลดภาษีเงินได้ อัตราสูงสุดที่ 50% เหลือ 37% ของรายได้สุทธิ และลดอัตรารองลงมาทุกระดับ โดยเพิ่มผู้มีรายได้สุทธิต่ำสุดที่ 50,000 บาท เสียภาษีที่อัตรา 5% วัตถุประสงค์ของการปรับโครงสร้างโดยลดอัตราขั้นภาษีของเงินได้บุคคลธรรมดาในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ใกล้เคียงกับอัตราของเพื่อนบ้านโดยเฉพาะสิงคโปร์และมาเลเซีย เพื่อให้เกิดการแข่งขันกับเขาได้

การนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มาใช้ครั้งนั้นเริ่มใช้ที่อัตรา 10% แต่ในปัจจุบันได้ถูกลดลงมาเหลือแค่ 7% ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ดูเหมาะสมดีกับประเทศไทย เป็นการปรับโครงสร้างภาษีครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของไทย แม้ว่าการเตรียมนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้นี้จะมีการศึกษาเตรียมการมานานก่อนรัฐบาล รสช.แต่การนำมาประกาศใช้ในรัฐบาลปฏิวัติชุด รสช.สมัยนั้น อย่างน้อยก็ต้องขอจารึกว่าเป็นรัฐบาลปฏิวัติที่แม้จะเข้ามาบริหารประเทศเพียงระยะเวลาไม่นาน แต่ก็สามารถทำให้คนไทยพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่เสียของ อย่างที่เห็นๆ กัน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ประเทศที่ได้เจริญแล้วและเจริญมาได้อย่างยั่งยืน เพราะรัฐบาลกล้าเก็บภาษีจากประชาชน และประชาชนของเขาก็ยินดีให้เก็บในอัตราที่สูงเพื่อความกินดีอยู่ดีของชนชาติเขาเอง ข้อเท็จจริงของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประเทศต่างๆ เก็บอยู่ในปัจจุบันล้วนสูงกว่าไทยทั้งนั้น เช่น ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเก็บที่อัตรา 24-25% ประเทศเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ เก็บที่อัตรา 19-21% ส่วนในเอเชีย ประเทศเกาหลีใต้ 10% กลุ่มอาเซียน ฟิลิปปินส์ เก็บ 12% อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และลาว เก็บ 10% ส่วนประเทศไทยเรา ทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ล้วนแต่เอาความขี้ขลาดเป็นเกณฑ์ ไม่คิดถึงการยกระดับคนจนให้อยู่ดีกินดีจึงกดและดองอัตราภาษีแวตไว้ที่ 7% มานานถึง 21 ปีมาแล้ว

ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไทยคิดว่าการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนี้คนจนจะเดือดร้อน ความจริงไม่ใช่ ถ้ารัฐบาลนำรายได้ที่เพิ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกปรับขึ้นไปใช้ในเรื่องช่วยคนจนให้หมด ประเทศก็จะสามารถเพิ่มความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชนได้อย่างแน่นอน

ประเทศไทยมีการจัดเก็บรายได้สูงสุดในปี 2534 ก่อนที่จะนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ในปี 2535 หนึ่งปี คือ สามารถจัดเก็บรายได้เท่ากับ 19% ของ GDP แต่หลังจากนั้นถึงปัจจุบัน สัดส่วนดังกล่าวนี้ลดลงมาเรื่อยเหลือแค่ 15.4% ของ GDP ในปี 2542 ทั้งนี้เป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง รัฐบาลจึงต้องลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 10% เหลือ 7% มาจนถึงบัดนี้ ซึ่งขณะนี้สัดส่วนการจัดเก็บรายได้ต่อ GDP ก็อยู่แค่ 17-18% เท่านั้นเอง เห็นได้ชัดตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมาว่าประเทศนี้ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยในแง่การจัดเก็บรายได้ แม้จะมีการปรับโครงสร้างภาษีมาบ้างดังกล่าวข้างต้น

หลังการปฏิวัติโดย คสช.ในเดือนพฤษภาคมปี 2557 ก่อนที่จะจัดตั้ง ครม.เสียอีก คสช.ได้ประกาศนโยบายปฏิรูปที่จะให้มีภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (Property Tax) ขึ้นมา ซึ่งปรากฏว่าภาษีการรับมรดกได้ออกมาใช้โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2558 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 โดยสรุปภาษีการรับมรดกคือภาษีที่จัดเก็บจากผู้รับทรัพย์มรดกที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 5 เมื่อได้รับแบ่งทรัพย์มรดกนั้น อย่างไรก็ตาม ผ่านมา 2 ปีเศษแล้ว ผลการจัดเก็บภาษีการรับมรดกของกรมสรรพากร
ยังไม่ได้รายได้เป็นรูปธรรมเท่าใดเลย ได้ทราบว่าถึงขณะนี้ 2 ปีครึ่งแล้ว จัดเก็บได้ไม่ถึง 200 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีรายใหญ่รายหนึ่งจ่ายภาษีมรดกให้รัฐประมาณ 120 ล้านบาท ที่เหลือเป็นรายเล็กรายน้อย ที่เป็นแบบนี้เพราะรู้ๆ กันอยู่ตั้งแต่ตอนร่างกฎหมายแล้วว่า คนไทยที่รวยไม่มีใครอยากจะเสียภาษีนี้

โดยเฉพาะในระดับเศรษฐีก็จะมีการแปรรูปมรดกไปในทิศทางต่างๆ จนยากที่กฎหมายจะเอื้อมมือไปถึง หากไม่เล่นแร่แปรธาตุไม่ก็จัดแบ่งกองมรดก และให้ลูกหลานใช้เงินจากกองมรดกอย่างสุขสำราญได้ตลอดไป ก็ไม่ต้องเสียภาษี การออกกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำฉบับนี้จึงไม่ได้ผลตามที่ คสช.คิด

สุดท้ายขอให้มาดูภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำฉบับที่ 2 คือ “ภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ซึ่งริเริ่มจากนโยบายของ คสช.พร้อมๆ กับภาษีการรับมรดก กฎหมายภาษีเรื่องนี้ต่างจากฉบับแรกเพราะถ้าออกมาบังคับใช้เมื่อใดก็จะทำให้รัฐเก็บภาษีได้แน่ๆ ตัวเลขที่เคยคำนวณกันตอนทำร่างแรกของกระทรวงการคลัง จะอยู่ที่ปีละ 80,000-120,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต เพราะแวตนั้นถ้าเก็บเพิ่มอีก 1% รัฐจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 60,000 ล้านบาทต่อปี จ่ายภาษีให้มาก ไม่ใช่เอาแต่หลบเลี่ยงดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ เงินภาษีที่ได้มาก็ต้องยกให้ท้องถิ่นของใครของมันทั้งหมด ทั้งจะช่วยแบ่งเบาภาระที่รัฐต้องอุดหนุนท้องถิ่นลงไปด้วย แต่สุดท้ายร่างกันมาแล้วเกือบ 5 ปี มีการนำเข้าสู่การพิจารณาแปรญัตติวาระ 2 ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ถึงร่วมปีเศษ ขอเลื่อนเวลาการพิจารณาถึง 7 ครั้ง ครั้งละ 60 วัน ซึ่งไม่มีกฎหมายใดมีการกระทำแบบนี้มาก่อนเลย แล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะออกมาเลย ยังไม่รู้ว่าจะใช้บังคับได้ในปี 2562 ที่จะถึงนี้ หรือจะถูกโยกไปปี 2563

การดึงให้กฎหมายสำคัญฉบับนี้ล่าช้าออกไปถึง 2 ปี และอาจเป็น 3 ปีในความรับผิดชอบของ สนช.ยุคนี้นั้น ถ้าหากว่าเนื้อในของกฎหมายยังมีสภาพที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะลดความเหลื่อมล้ำของสังคมด้านรายได้ ก็ยังพอรับได้ โดยถือเสียว่าที่ลากยาวมานั้นต้องการแก้ไขในรายละเอียดให้ครบถ้วน ให้มีประสิทธิผล แต่เมื่อดูร่างที่กระทรวงการคลังได้นำเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีและผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อร่วม 2 ปีที่แล้ว เทียบกับร่างปัจจุบันที่คณะกรรมาธิการแปรญัตติของ สนช.พิจารณาใกล้จะสรุปในขณะนี้ พบว่าสาระสำคัญๆ ของกฎหมายฉบับนี้กลับปกป้องคนชั้นกลางระดับที่มีเกินจะกินขึ้นไป ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ใน สนช.ให้ไม่ต้องเสียภาษีทรัพย์สินกันสักเท่าไหร่ ร่างใหม่นี้แทนที่จะเพิ่มฐานภาษีให้กว้างกลับลดลงไปอย่างมาก

ประเด็นสำคัญของการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่นี้ ก็เพื่อจะยกเลิกภาษีเก่าอันคร่ำครึตัวนี้ แล้วนำภาษีทรัพย์สินใหม่ที่มีประสิทธิภาพมาแทน ให้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำมาให้ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นเก็บเอง ใครอยากให้ท้องถิ่นตนเจริญเร็ว จะพิจารณาเพิ่มอัตราการเก็บให้สูงขึ้นเหมือนในต่างประเทศที่คนเขายอมเสียสละกันก็ย่อมทำได้ แต่ให้อัตราที่เก็บอยู่ในกรอบของกฎหมาย

สาระที่สำคัญที่ส่อให้เห็นการปกป้องคนมีเงินก็คือ การกำหนดข้อยกเว้นเก็บภาษีนี้ ในกรณีบุคคลที่เป็นทั้งเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งฐานภาษีตัวนี้เมื่อเช็คตัวเลขกับนักวิชาการ ปรากฏว่าทั้งประเทศเก็บได้ไม่เกิน 11,000 หลังคาเรือน อย่างนี้จังหวัดที่ยากจนทั้งหลายจะหารายได้ที่ไหนมาพัฒนาท้องถิ่นของตน

สําหรับอัตราภาษีที่กำหนดเป็นกรอบสูงสุดคือไม่เกินร้อยละ 0.3 ของฐานภาษี คือถ้ามูลค่าบ้านและที่ดินที่ต้องเสียภาษีเท่ากับ 60 ล้านบาท ก็เสียภาษีปีละ 180,000 บาท หรือในอัตราล้านละ 3,000 บาทต่อปี หรือ 250 บาทต่อเดือน ซึ่งอัตรานี้สำหรับคนที่มีบ้านและที่ดินถึง 60 ล้านบาทนั้น ยังต่ำกว่าค่าโทรศัพท์และค่าเน็ตที่ใช้กับมือถือเสียอีก ยิ่งกว่านั้นในช่วง 2 ปีแรกจะเก็บต่ำกว่านี้อีก ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 91 ว่า มูลค่าของฐานภาษีที่เกิน 50 ล้านบาทนี้ ให้ใช้อัตราลดลงไปอีกสองในสาม คือเหลือร้อยละ 0.1 เท่านั้นเอง

ลดหย่อนอย่างนี้ยังไม่พอ ในมาตรา 93 ยังมีบทบรรเทาให้อีก คือใน 3 ปีแรกของการจัดเก็บ หากการประเมินภาษีที่ต้องเสียตามกฎหมายนี้ต้องจ่ายสูงกว่าที่ต้องจ่ายในปีก่อนหรือก็คือปีก่อนที่กฎหมายนี้บังคับใช้ ก็ให้เสียโดยนำยอดที่ต้องเสียตามอัตราใหม่หักด้วยยอดที่ต้องเสียตามกฎหมายเก่า เหลือส่วนต่างเป็นเท่าใดในปีแรกให้ชำระเพียง 25% ของส่วนต่างนี้เท่านั้น ปีที่สองชำระ 50% ปีที่สามชำระ 75% สรุปแล้วที่พอเก็บได้ทั้งประเทศ 11,000 รายจากเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้น จริงๆ แล้วใน 3 ปีแรกคงเก็บได้ไม่กี่ตังค์ นี่คือเจตนาในการปฏิรูปภาษีของ คสช.

ไม่ต้องดูตัวอื่นแล้วครับ ไม่ว่าบ้านหลังที่สอง ที่ดินเกษตรกรรม ที่ดินว่างเปล่าดูเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นตัวหลักดังที่กล่าวข้างต้นนี้ ก็สรุปได้คำเดียวว่าเสียเวลาและเสียของเปล่า รัฐบาลนี้ควรนั่งเฉยๆ จะดีกว่า ซึ่งตอนนี้ที่เห็นก็นั่งเฉยอยู่แล้ว ทำอะไรก็จะแตะต้องฐานเสียงในการเลือกตั้งทั้งนั้นแหละ ได้ทราบข่าวว่ามีการบอกกับข้าราชการว่า ต่อไปนี้จะไม่ขอพิจารณาเรื่องใด ทำนองที่จะทำให้เสียฐานเสียง ถ้าจะเอาอย่างนี้จริงก็ควรรีบๆ กำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วหน่อยและให้แน่ชัดเสียทีเถอะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image