ในความมืดมิดของถ้ำนั้น มนุษยธรรมฉายนำทางเรา

เมื่อเจ้าหน้าที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนพบรถจักรยานกลุ่มหนึ่งจอดทิ้งร้างไว้หน้าถ้ำ ก่อนจะพบว่าเป็นของนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมี่และโค้ชรวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำที่ลึกแคบมืดหนาว กับมวลน้ำที่กำลังบ่าเข้ากักขังในตอนนั้น เขาคงไม่อาจคาดฝันได้ว่านี่คือย่อหน้าแรกของเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นวาระของโลก

เพราะใครจะคาดว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส องค์ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ทรงนำสวดมนต์ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ อธิษฐานท่อนหนึ่งเพื่ออำนวยพรให้พวกเขาปลอดภัย

หรือจะเชื่อไหมว่ามหาเศรษฐีเจ้าแห่งอุตสาหกรรมนวัตกรรมเทคโนโลยีของโลก ผู้ที่ชื่อของเขาถูกอ้างถึงบ่อยที่สุดคนหนึ่งในยุคอย่าง อีลอน มัสก์ จะเสนอความคิดและเทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่เขามี เสนอความช่วยเหลือให้

และที่รัฐบาลของนานาประเทศร่วมกันเสนอเทคโนโลยีและบุคลากรที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือ สื่อมวลชนทั่วโลกมุ่งตรงมาติดตามรายงานข่าวพร้อมบทวิเคราะห์

Advertisement

เรื่องนี้กลายเป็นวาระของโลก และเมื่อภาพแรกที่ค้นพบและยืนยันได้ว่าผู้ประสบภัยทั้งสิบสามคนในถ้ำนั้นยังมีชีวิตอยู่ ถูกถ่ายทอดออกไปเป็นวิดีโอที่ประชากรชาวโลกได้รับชมพร้อมกันอย่างไม่อาจประเมินประมาณได้ หลายคนเสียน้ำตาด้วยความยินดีและโล่งอกโล่งใจในเปลาะแรก

อะไรหรือที่ทำให้มนุษยชาติที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อาจจะถึงขนาดไม่รู้ว่าเชียงรายอยู่ที่ไหนของประเทศไทย หรือแม้แต่ว่าประเทศไทยอยู่ที่ไหนของโลก พลันรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียว และร่วมเป็นห่วงเป็นใยในชีวิตของคนหนุ่มที่พวกเขาก็คงเรียกชื่อไม่ถูกหรือไม่เคยเห็นหน้าค่าตา โดยไม่ต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องหรือร่วมประโยชน์อันใดด้วยเลย

ปรากฏการณ์ทีมหมูป่าที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน สามารถอธิบายได้หลายประการ ด้วยแนวคิดทฤษฎีหลายๆ อย่าง ก็เช่นเดียวกับเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวง

Advertisement

อย่างน้อยประการแรกคือการพิสูจน์ว่า ทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ที่เสนอว่าการตัดสินใจในการกระทำหรือไม่กระทำอะไรของมนุษย์ ควรพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความคุ้มค่าในแง่ของการชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ระหว่างผู้คนนั้น พึงต้องละเว้นเมื่อมี “ชีวิตมนุษย์” เข้ามาเกี่ยวข้อง

ชีวิตมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะต้องไม่ถูกนำมาพิจารณาชั่งตวงความคุ้มค่าใดๆ ไม่ว่าจะเป็นความสิ้นเปลืองในทางเศรษฐกิจหรือทรัพยากร หรือแม้แต่ชั่งวัดด้วย “จำนวน” หรือ “คุณภาพ” แห่งชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ในกรณีที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน เช่นนี้ เราจึงเห็นว่าไม่มีการคิดคำนึงเรื่องความคุ้มค่าใดๆ ทั้งในเชิงต้นทุนทรัพย์สินและกำลังคน หรือแม้แต่ชีวิตคนที่จะใช้ในการช่วยเหลือ เราทุ่มสรรพกำลังทุกอย่างที่เต็มความสามารถ เพื่อช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่กำลังอ่อนแรงสุดขีด แม้ในขณะที่ยังไม่สามารถรับประกันใดๆ ว่าพวกเขายังรอดชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ ไม่ว่าโอกาสจะมากน้อยเพียงใด ทุกคนก็เห็นว่าคุ้มค่าที่จะเสี่ยงและยินดีจ่ายโดยไม่นำมาคิดเป็นต้นทุนกำไร

นั่นเพราะมนุษย์มีสิ่งหนึ่งที่ในทางพุทธศาสนามหายานเรียกว่า “โพธิจิต” นั่นคือจิตแท้ดั้งเดิมของมนุษย์แต่ละคน เป็นจิตที่งดงามและมุ่งหวังให้มนุษย์ผู้อื่นได้พ้นทุกข์พบสุข เป็นจิตที่ทำให้สามารถหยั่งถึงทุกข์ของมนุษย์ผู้อื่นได้ และเมื่อใดก็ตามที่มีความรู้สึกสุขทุกข์ร่วมกับผู้อื่น ยินดีเข้าไปร่วมรับรู้ทุกข์ของผู้อื่น แม้คุณจะไม่รู้จักเกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์ใดร่วมกัน คุณจะระลึกได้ว่า หากตัวคุณอยู่ในสภาวะเช่นนั้น คุณก็จะเป็นทุกข์เช่นเดียวกับผู้คนเหล่านั้นเอง

เป็นสิ่งเดียวกับที่เราเรียกว่า “มนุษยธรรม” ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งของมนุษย์ ที่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่นที่พ่อแม่ทุกคนในโลกที่ทราบข่าวนี้ ก็จะรับรู้ถึงความทุรายทุรนหวาดหวั่นเจียนคลั่งของพ่อแม่ของผู้ประสบภัย ดังเช่นว่าเป็นลูกของตัวเองที่ไปติดค้างอยู่ในถ้ำลึกมืดหนาวนั้นด้วย

เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกหวาดหวั่น หิวกระหายเพิ่มขึ้นในทุกวันที่ผ่านไป ในช่วงที่ยังไม่มีการค้นพบชะตากรรมของผู้ประสบภัยว่าเป็นเช่นไร ความหิวนั้นทุกคนรู้จัก และรู้ว่ายิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร ความทรมานทุรนทุรายจากความโหยกระหาย รวมกับความหวาดกลัวสิ้นหวังนั้น จะเกาะกินใจอย่างช้าๆ ดวงจิตหัวใจเราทุกคนที่รับรู้ข่าวนี้ก็ร่วมติดอยู่ในถ้ำหลวงไปด้วย แม้ว่าตัวจะอยู่บนรถไฟฟ้าที่จอดค้างนิ่งบนรางกลางกรุงเทพฯ กำลังนั่งทำงานอยู่ในสำนักงานที่นิวยอร์ก หรืออ่านข่าวอยู่ในร้านกาแฟของกรุงปารีส

ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่ใช่เรื่องที่เพียงใครก็ไม่รู้ 13 คน ติดอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศไทย แต่หมายถึงมนุษย์ทุกคนในโลกต่างร่วมติดอยู่ในถ้ำของตนแต่ละคน และใครที่มีลูกหลานในวัยเดียวกันกับเด็กนักเตะทีมหมูป่า ลูกหลานของเขาก็ติดอยู่ในถ้ำนั้นด้วยเช่นกัน

เหตุนี้เอง เรื่องนี้จึงกลายมาเป็นวาระของโลก

ทั้งมีปัญหาในทางนิติปรัชญาที่ถกเถียงกันมาหลายร้อยปีแล้วว่า มนุษย์เราที่แท้แล้วมีธรรมชาติอย่างไรกันแน่ เหตุใดเล่ามนุษย์จึงมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมก่อนจะพัฒนาไปสู่รัฐประเทศ

ก่อนนั้นเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีธรรมชาติโหดร้ายป่าเถื่อน เห็นแก่ตัว และจ้องแต่จะทำร้ายเอารัดเอาเปรียบกัน หากมาอยู่ร่วมกัน มนุษย์จะอยู่ในสภาวะวุ่นวายเข่นฆ่าแย่งชิงกันแบบใครใหญ่ใครอยู่ ผู้ใดมีพลังมากย่อมครอบครองกุมเหงคนตัวเล็กตัวน้อย เช่นนี้จึงต้องยกอำนาจไว้ให้แก่รัฐและผู้นำที่เข้มแข็งให้ถืออำนาจเหนือ คอยกำกับควบคุมกุมบังเหียนไว้

ในขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งเชื่อว่า มนุษย์เรานั้นเกิดมาพร้อมธรรมชาติอันดี มีคุณธรรมและชีวิตอันเรียบง่าย มีความต้องการเพียงเท่าที่จำเป็น และด้วยธรรมชาติเช่นนั้น มนุษย์จึงไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนกันเองหรือเบียดเบียนผู้ใด แต่มนุษย์นั้นเปลี่ยนไปเมื่อมาอยู่รวมกันมากขึ้น เกิดความกลัวและความไม่มั่นคง ความกลัวว่าจะมีปัจจัยดำรงชีวิตไม่เพียงพอทำให้มนุษย์แย่งชิงและกักตุน ทำร้ายผู้อื่นด้วยความกลัวว่าตนจะถูกแย่งชิง และความที่มนุษย์มีอิสระเสมอภาคกันเช่นนี้ จึงไม่มีใครยอมใครหรือมีอำนาจเหนือใคร เพื่อให้มนุษย์กลับไปรักษาสภาวะอันดีได้เช่นเดิมนั้น มนุษย์จึงต้องอยู่ร่วมกันโดยมีกฎกติกา โดยการยอมสละเสรีภาพของแต่ละคนเข้ารวมไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นอำนาจซึ่งมนุษย์จะเคารพเชื่อฟังคนอื่นในสังคม เพราะจะเท่ากับเคารพกันเอง และเกิดการคุ้มครองสิทธิและแบ่งปันทรัพยากรกันอย่างเป็นธรรม

เรายังไม่อาจจะสรุปได้ว่ามนุษย์นั้นมีธรรมชาติเช่นไร เราเกิดมาโหดร้ายเห็นแก่ตัว แต่เรากลัวอำนาจใดอำนาจหนึ่ง เราจึงต้องยอมเป็นคนดี หรือเราเป็นคนดีอยู่แล้ว แต่อำนาจแห่งความกลัวทำให้เราทำร้ายคนอื่นเพื่อความรอด เช่นนี้เราจึงต้องร่วมกันขจัดความกลัว เพื่อให้เรากลับไปสู่สภาวะเดิมอันดีนั้น

คำตอบตายตัวในเรื่องนี้คงไม่มี หากสิ่งที่เรียกว่าโพธิจิต หรือมนุษยธรรมอาจจะพอเป็นเบาะแสให้เราได้เห็นว่า แท้จริงแล้วมนุษย์เราโดยทั่วไป ปกติก็ไม่น่าที่จะมีธรรมชาติโหดร้ายหรือมุ่งหมายที่จะเอาเปรียบหรือทำร้ายกันเอง เพราะในเมื่อเราทุกคนสามารถรับรู้ถึงความทุกข์ของมนุษย์คนอื่นได้ด้วยตนเอง และเราสัมผัสถึงความหวาดกลัว หิวโหย เจ็บปวด ทุกข์ทรมานของผู้อื่น และถ้าเป็นไปได้ ธรรมชาติของเราก็จะมุ่งหมายให้มนุษย์ที่ทุกข์ทนเช่นนั้นพ้นจากภาวะอันไม่พึงประสงค์นี้ได้โดยเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องรู้จัก ไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด เชื้อชาติ ศาสนา หรือผลประโยชน์อื่นใด เมื่อโพธิจิตหรือมนุษยธรรมเรืองสว่างขึ้นในหัวใจ เมื่อนั้นเราจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อใดที่กำลังแห่งแสงสว่างนั้นเรืองโรจน์จนขจัดความกลัวจนหมดสิ้น เราจะพบว่าเราอาจจะยอมสละสิ่งที่เรามีอยู่เพื่อผู้อื่นได้

ปรากฏการณ์ของทีมหมูป่า คือปรากฏการณ์ที่คุณสมบัติอันดีงาม ไม่ว่าจะเรียกว่าความรัก โพธิจิต มนุษยธรรม หรืออะไรก็ตามนั้น เปล่งแสงสว่างไสวสุกสกาวที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกในช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่นี้

ในความมืด ห้อมล้อมด้วยมืด ในการต่อสู้ระหว่างความหวังและความหวาดกลัวนั้น พวกเขาได้ค้นพบและนำเอาของมีค่าที่สุด มหาสมบัติที่เปล่งประกายงดงามที่สุดของมวลมนุษยชาติ และส่งต่อออกมาสู่โลกแจ้ง จากในถ้ำลึกลับและศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนน้ำนางนอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image