“เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ที่ต้องอยู่ในน้ำ เป็นภาวะที่เราก็ไม่เคยเจอมาก่อน”
“ยืนยันไม่ใช่การทำโดยบ้าบิ่น ไม่มีแผน”
“แต่เราก็รออะไรไม่ได้ เพราะสถานการณ์บีบคั้น…”
“..การปฏิบัติงานของหน่วยยังดำเนินการต่อ”
“เพราะเราฝึกมาให้ทำงานในความเสี่ยง ไม่ว่าความเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญเพราะเราฝึกมาอย่างนี้”
“ขอยืนยันไม่เคยเสียขวัญ กำลังพลยังคงฮึกเหิม คนเสียชีวิตไปจะไม่สูญเปล่า”
“ขอยืนยันหนทางที่น้อง (13 ชีวิต) ออก ต้องปลอดภัยที่สุด”
อ่านคำให้สัมภาษณ์ พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.หน่วยซีล หลังสูญเสียลูกน้องในปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิต ในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ศรัทธาที่มีต่อ “หน่วยซีล” มีมากขึ้น
และเห็นความจำเป็นที่ทุกคนจะต้องช่วยกันปกป้อง “หน่วยซีล” ให้ดำรงเป้าหมายของหน่วยตนต่อไป
ไม่แทรกแซง หรือนำหน่วยทหาร “พิเศษ” ไปทำหน้าที่อื่น
นอกเหนือจากปกป้องประเทศ และช่วยเหลือประชาชนเท่านั้น
ด้วยหน่วยซีลนั้น เมื่อได้รับมอบภารกิจใดก็ต้องทำภารกิจนั้นให้สำเร็จ
“ทีมสปิริต” สูงยิ่ง
แม้กระทั่งการยอมอุทิศชีวิต อย่างเหตุการณ์ข้างต้น
จึงไม่ควรมีใครเข้าไปแทรกแซง หรือนำเอาความพิเศษของ “หน่วยซีล” ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวกเด็ดขาด
ในช่วง “วิกฤตการณ์ทางการเมือง” ที่ผ่านมา หลายคนอาจไม่สบายใจกับข่าวการแทรกแซง “หน่วยซีล”
จนทำให้รู้สึกเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
แต่ก็น่าดีใจ “หน่วยซีล” กลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่ถ้ำหลวงอย่างดีเยี่ยม
มาในฐานะ “หน่วยปฏิบัติ” โดยอยู่ภายใต้นโยบาย และการบังคับบัญชาของข้าราชการพลเรือน
มิได้แสดงบทบาท หรือท่าทีว่าจะขอเป็น “ผู้นำ” หรือ “ควบคุม” ภารกิจไว้ในมือ
ทั้งที่ “หัวใจ” ปฏิบัติการครั้งนี้อยู่ในมือของทหาร
และที่สำคัญ ในบรรยากาศปัจจุบัน “ทหาร” คุมการบริหารทุกอย่างไว้ในมือ
แต่หน่วยซีลและกองทัพเรือขอยืนอยู่ข้างหลัง
พร้อมปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด
ปฏิบัติภารกิจอย่างหนัก
ไม่พูดมาก
ไม่อวดตัว
ดำรงเป้าหมาย “ที่จะต้องเอา 13 ชีวิตออกมาปลอดภัยที่สุด” อย่างแน่วแน่
ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองจะต้องเป็น “ฮีโร่”
แต่ยิ่งไม่อยาก ภาพความเป็นฮีโร่กับฉายเด่น
โดยเฉพาะผู้สูญเสีย เป็น “วีรบุรุษของชาติ” โดยแท้จริง
นี่จึงเป็นแนวทางที่หน่วยซีลควรจะเป็น
และว่าที่จริงก็คือ “กองทัพ” โดยรวมนั่นเอง
เพื่อให้สถาบันกองทัพเกิดความเข้มแข็งในมิติทางทหาร ในการปกป้องประเทศชาติ ปกป้องประชาชน
มีสถานะเป็นเครื่องมือในโครงสร้างของรัฐที่ผูกพันกับประชาชน
ไม่ก้าวล่วงไปเป็นรัฐเสียเอง เพราะเท่ากับเป็นการเปิดประตูให้ “การเมือง” เข้ามาแทรกแซง
จนทำให้กองทัพกลายเป็น “สถาบันการเมือง” ที่ทำให้ห่างจากความเป็น “ทหารอาชีพ”
ยิ่งขึ้นทุกที
แต่ก็น่าเสียดาย ภายใต้กระแส “ปฏิรูป” มีการพูดเรื่องปฏิรูปทหารเพื่อเป็นทหารอาชีพน้อยเต็มที
อย่างไรก็ตาม ก็ยังดี “ทหารหน่วยซีล” ได้เป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นว่า “ทหารอาชีพ” เป็นอย่างไร
สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร