วิกฤตอุดมศึกษา : บทเรียนเรื่อง ‘ความเคยชินบดบังปัญหา’ : โดย ดำรง ลีนานุรักษ์

ในการศึกษาเรื่องอริยสัจ 4 เรามักเรียนหรือท่องกันจำกันว่ามีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และรู้ว่าแต่ละข้อคืออะไรแบบคำแปล แต่ไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงขั้นเอาไปใช้งานได้ ความจริงท่านว่าในอริยสัจแต่ละข้อนั้นเรามีกิจที่ต้องกระทำ ที่เรียกว่ากิจญาณ กิจญาณเป็นหนึ่งในสามญาณทัสสนะ หรือการหยั่งรู้ครบสามรอบของเราต่ออริยสัจแต่ละข้อ ญาณทัสสนะสามประกอบด้วย สัจญาณ กิจญาณ และกตญาณ ญาณทั้งสามเมื่อเข้าจับกับอริยสัจสี่ จึงมีอาการ 12

ในที่นี้เราจะนำมากล่าวเฉพาะอาการสามในข้อทุกข์ นั่นคือ

– “สัจญาณ หยั่งรู้ว่า นี่คือตัวทุกข์ หรือปัญหา

– “กิจญาณ หยั่งรู้ว่า หน้าที่ต่อตัวทุกข์ของเราคือการกำหนดรู้

Advertisement

– “กตญาณ หยั่งรู้ว่า เราได้ทำกิจที่ต้องทำต่อตัวทุกข์แล้ว นั่นคือ ได้กำหนดรู้แล้ว

ท่านได้กล่าวว่ามนุษย์เรา อยู่ท่ามกลางความทุกข์หรือปัญหา จำเจ วนเวียน ซ้ำซาก อยู่กับปัญหา (ท่านว่าอยู่ในสังสารวัฏ) ด้วยขาดศักยภาพในการกำหนดรู้ตัวปัญหา แบบเหมือนรู้แต่ทำอะไรต่อไม่ได้ หรือเหมือนเห็น แต่อยู่กับมันจำเจ จนเคยชิน ท่านจึงว่า “ความเคยชินบดบังปัญหา” แล้วทำให้ประโยชน์จากอริยสัจข้อต่อๆ ไปไม่เกิดขึ้น นั่นคือ

เมื่อไม่สามารถกำหนดรู้ตัวสภาวะทุกข์หรือปัญหาได้ตรงและชัดเจน ก็ไม่สามารถไล่หาเหตุปัจจัยหรือสาเหตุของปัญหาได้ จึงไม่เข้าใจว่าถ้าเหตุแห่งทุกข์หรือต้นตอของปัญหาดับ ทุกข์หรือปัญหาก็จะดับ จึงไม่สามารถวางแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ทุกข์หรือปัญหาได้

Advertisement

วิกฤตใหญ่ของการอุดมศึกษา ผลกรรมจากประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนไป

ปัญหาเรื่องจำนวนนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาที่เป็นตัวป้อนเข้าสู่การเรียนระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนลดน้อยลง เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา หรือตัวมหาวิทยาลัยได้รับรู้สัมผัสมาหลายปีแล้ว จากปรากฏการณ์ที่หลายสาขาของการศึกษามีนักศึกษาสมัครเข้าเรียนน้อยกว่าเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะรับ โดยเฉพาะสาขาทางด้านศิลปศาสตร์ หรือสายวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์บางสาขา

แต่ความจริงเรารู้ว่านี่จะเป็นปัญหามายาวนานกว่าสองทศวรรษแล้ว คนที่ออกมาชี้เรื่องนี้ที่เด่นๆ และผู้เขียนได้รับฟังการนำเสนอของท่านในช่วงปี 2543 คืออาจารย์เกื้อ วงศ์บุญสิน และพบว่าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ร่วมกับทาง UNFPA หรือกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา แล้วทำรายงานมาเล่มหนึ่งชื่อ Impact of Demographic Change in Thailand ( http://thailand.unfpa.org/th/node/11858)

หรือรายงานฉบับย่อภาษาไทย ชื่อ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในประเทศไทย : สถานการณ์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ตีพิมพ์ในปี 2554

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ก่อนที่รัฐมีนโยบายและมาตรการลดอัตราการเกิดของประชากร ประเทศไทยก็เหมือนประเทศกำลังพัฒนาและยังไม่พัฒนาทั้งหลายในอดีตที่มีฐานประชากรเด็กเล็กมาก และเป็นภาระแก่ประเทศเพราะเด็กเล็กครอบครัวต้องดูแลอีกทั้งคนวัยทำงานมีสัดส่วนน้อย จนเมื่อนำประชากรแต่ละช่วงอายุมาทำเป็นกราฟสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตามแนวตั้งจะได้กราฟที่เรียกว่าพีระมิดประชากร แบบฐานกว้างแล้วตอบขึ้นไปเรื่อยๆ แบบทรงเจดีย์ ดังแสดงในภาพของปี 2503 20 ปีต่อมามาตรการคุมกำเนิดลดอัตราการเกิดได้ผล ส่งผลให้กราฟพีระมิดประชากรของปี 2523 เริ่มมีฐานตอบเข้าแล้วบานขึ้นบน ประชากรเด็กเกิดปีแรกลดลงเรื่อยๆ ในแต่ละปีต่อๆ ไป ถัดมาอีก 20 ปี ในปี 2543 เราก็เห็นพีระมิดประชากรรูปคล้ายโถที่มีฝาปิดที่ส่วนกลางตอบเล็กลงหาฐานล่างที่เล็กลงทุกปีตามภาพ ผลของการลดอัตราการเกิดลงเรื่อยๆ นี้ทำให้สัดส่วนประชากรวัยทำงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะแรกเพราะเด็กในอดีตได้โตสะสมมาเป็นวัยทำงาน อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศในแง่เศรษฐกิจมาก

(http://social.nesdb.go.th/social/Portals/0/Documents/1000_UNFPA_rev_Policy%20Brief%20Thai_200411_69.pdf)

ภาพพีระมิดประชากรของปี 2553 2563 และ 2573 มาจากตัวเลขการประมาณการขั้นต่ำของประชากรประเทศไทยโดยสหประชาชาติ ซึ่งในปี 2553 นี้ พบว่าการประมาณการขั้นต่ำที่มีเด็กเกิดต่อปีที่ 970,000 รายต่อปีนี้ ยังสูงกว่าตัวเลขจริงที่ต่ำกว่า 800,000 ราย อย่างไรก็ตาม รูปพีระมิดประชากรทั้งสามภาพ จะเห็นว่าประชากรเด็กที่เกิดในแต่ละปีลดลงเรื่อยๆ จนเป็นรูปโถที่มีฐานแคบลงเรื่อยๆ เช่นกัน การลดลงนี้ตามประมาณการจะลดลงไปเหลืออัตราการเกิดประมาณ 500,000 รายต่อปีในอีกประมาณสามสิบปีข้างหน้า หรือปี 2588-2593

ขณะเดียวกันรูปโถส่วนบนก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ อันนำไปสู่ภาวะที่กล่าวเรียกเมืองไทยทุกวันนี้ว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นั่นคือประชากรอายุ 60+ ได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี ปีต่อปี

ผลกระทบต่อการจัดการการอุดมศึกษา

สภาวะความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการจัดการการศึกษาของระบบอุดมศึกษา นั่นคือที่มีผลต่อตัวป้อน หรือเด็กนักเรียนที่จบชั้น ม.6 ทั้งสายสามัญและ ปวช. ที่จะเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยที่ลดลงทุกปี ปีต่อปี ต่อเนื่องไปในอนาคต ตามฐานของพีระมิดประชากรที่ตอบแคบลงเรื่อยๆ ทุกปีนี้

เพื่อให้เห็นภาพสถานการณ์ตัวป้อนที่จะเข้าสู่ระบบการอุดมศึกษาที่ลดลงในแต่ละปีนี้ให้ชัดเจน จึงขอยกตัวเลขในตารางที่ 2 ที่คัดมาจากรายงานการสำรวจประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนปีที่ 1 ในระบบอุดมศึกษาของปี 2558 และ 2559 (http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/03.aspx)

ในตารางที่ 1 แสดงข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตัวเลขตัวป้อนที่เข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนในปี 2558 และ 2559 พบว่าในปี 2559 จำนวนนักศึกษาเข้าสู่ ม.ของรัฐลดลง 51,988 คน ส่วนเข้าสู่ ม.เอกชนเพิ่มขึ้น 6,175 คน

รวมทั้งระบบลดลง 45,813 คน ซึ่งถ้าอัตราการลดลงถ้าเป็นไปในเกณฑ์นี้ เชื่อได้ว่าในปี 2561 นี้ จะมีจำนวนนักศึกษาเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาประมาณห้าแสนคนต้นๆ

ตัวปัญหาที่ไม่ได้ถูกกำหนดรู้

จะเห็นได้ว่าความรู้เรื่องประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนไปนี้ที่ส่งผลกระทบต่อการอุดมศึกษาจนเป็นวิกฤต เป็นสิ่งที่เรารับรู้ว่ามีอยู่ (เป็นสัจญาณ) ได้มีการกล่าวถึงและนำมาอ้างอิงตลอดเมื่อตัวสภาวะปัญหาแสดงออกให้เห็นในแต่ละปีว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะรับเด็กเข้าเรียนของแต่ละมหาวิทยาลัย ไม่ได้ตามเป้า จำนวนที่ขาดก็ลดหลั่นกันไปจากมหาวิทยาลัยใหญ่ชั้นนำลงไปเรื่อยๆ แต่จะเห็นได้ว่าตัวปัญหานี้มิได้ถูกหยิบออกวางตั้งให้เด่นชัด (กำหนดรู้) ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยตัวตั้งที่มีคือภาพฉายประมาณการประชากรเด็กในแต่ละชั้นอายุที่จะลดลงทุกปีนี้ คือสิ่งที่เราจะต้องอยู่กับมันและยอมรับว่าวางมาตรการแก้ไขยาก แต่การแก้ไขเรื่องนี้ ต้องเป็นนโยบายและแผนระดับชาติ เพราะการแก้ไขปัญหาที่จะได้ผลจริงจะมีผลกระทบต่อตัวสถานศึกษาทุกระดับ รวมทั้งมหาวิทยาลัย ทั้งในเชิงแผนงาน แผนคน แผนเงิน และการปรับโครงสร้าง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะได้ระดมบุคลากรทางด้านการจัดการศึกษามาวิเคราะห์ให้กระจ่างแจ้งให้ครอบบริบทของการจัดการศึกษาทุกระดับว่า

– เด็กในวัยเรียนที่เข้าสู่ระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถม-มัธยม เราจะจัดการศึกษาของชาติทั้งระบบอย่างไรที่จะลดปริมาณเด็กที่ออกจากระบบโดยไม่สมควร เช่น จากปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัว สังคม หรืออื่นๆ ที่แก้ไขให้ลดลงได้ ที่จะเพิ่มสัดส่วนเด็กนักเรียนในระบบให้มากขึ้น และจะเป็นผลให้มีเด็กจบชั้นมัธยมที่มากขึ้น และหรือ

– วางแผนระยะสั้น-ยาว เพื่อปรับ ยุบ รวม เลิก โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบางแห่งของรัฐที่จะมีปัญหามากขึ้นจนจัดการศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ได้ในอนาคต และหรือ

– อื่นๆ

จะเห็นได้ว่าเรายังไม่มีการกระทำในรูปแบบที่แนะนำหรือยกตัวอย่างข้างต้นนี้ที่จะนำไปสู่แผนชาติระยะสั้นถึงยาวในระดับนโยบายเลย ที่เป็นอยู่จึงเป็นเรื่องที่แต่ละมหาวิทยาลัยของรัฐจะต้องช่วยตัวเอง อย่างไม่มียุทธศาสตร์ชาติรองรับ ครับปัญหานี้จึงกล่าวได้ว่าไม่ได้ถูกกำหนดรู้ เพราะ “ความเคยชินบดบังปัญหา”

ดำรง ลีนานุรักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image