ทางออกพ้นถ้ำ : บทนำมติชน

เนื่องในวันสถาปนาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ครบรอบ 17 ปี เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ในการเสวนาหัวข้อ “โรดแมป : สิทธิมนุษยชนบนเส้นทางประชาธิปไตย” นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 60 มีหลายเรื่องที่จะมีปัญหาว่าขัดกับหลักกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งความขัดแย้งกันในรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในอนาคต ขณะเดียวกันการปฏิรูปและการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีระยะเวลากว่า 20 ปี โดยคนกลุ่มหนึ่งนั้น สิ่งเหล่านี้จะขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่

นายวัสกล่าวว่า การจะแก้ปัญหาของประเทศชาติ ศาลถือเป็นองค์กรสำคัญ แต่อีกองค์กรที่จะควบคู่ไปกับศาลก็คือประชาชน จะต้องช่วยกันสร้างพลังต่อรองกับอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมได้ พร้อมกันนี้ ประธาน กสม.ได้ตั้งคำถามถึงการเซตซีโร่องค์กรอิสระในลักษณะ 2 มาตรฐาน โดยอ้างว่าต้องทำตามมาตรฐานสากล มองว่าผู้เขียนกฎหมายน่าจะมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ ส่วนนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเสวนาว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นอำนาจขององค์กรอิสระและศาล แต่ที่ผ่านมามีการเซตซีโร่องค์กรอิสระ เหมือนกับการเอาองค์กรอิสระมาอยู่ในกำมือ กรธ.และ สนช. ใครทำดีก็อยู่ต่อ ใครทำไม่ดีก็เซตซีโร่

นั่นคือปัญหาที่วงเสวนาหยิบยก ส่วน “ทางออก” จากสภาพที่มืดมนของสิทธิเสรีภาพ น่าจะเป็นแนวทางนายพงศ์เทพ ระบุว่าองค์กรที่ควรจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสามารถทำได้และเกิดความเปลี่ยนแปลงคือศาลและตุลาการ จะต้องไม่ยอมรับอำนาจที่ละเมิดสิทธิของคณะรัฐประหาร ไม่รองรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ กสม.มีหน้าที่เสนอแนะให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่ง กสม.ทำได้ และจะเป็นคุณูปการต่อประเทศ คือการเสนอให้ยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่รับรองให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กฎหมายอย่างนี้จะปล่อยให้อยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image