‘จีซี’-ศก.หมุนเวียน : คอลัมน์เดินหน้าชน

ทั่วโลกรวมทั้งไทยให้ความสำคัญกับปัญหาขยะพลาสติกมากขึ้น เพราะก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับธุรกิจต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว ด้วยการนำสิ่งที่ใช้งานแล้วมาผ่านกระบวนการให้เป็นวัสดุใหม่แล้วนำมาใช้ซ้ำ ซึ่งหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน ต่างมุ่งเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดถึงการสร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข้อที่ 12 ของสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องแผนการบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน
ทว่า ภาคธุรกิจของไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนมากนัก แต่มีบางบริษัทที่เริ่มเดินหน้าไปแล้ว อย่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี”

Advertisement

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ “จีซี” เล่าให้ฟังว่า “จีซี” ให้ความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยร่วมมือกับคณะ

วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำกลยุทธ์สู่เป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน
โดยศึกษาว่าทั่วโลกดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไร

อย่างไรก็ตาม มีหลายโครงการที่ “จีซี” ทำไปแล้ว และเตรียมขยายขอบเขตให้กว้างขึ้น อย่างเช่น โครงการ Upcycling

Advertisement

Plastic Waste ที่ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ประเทศสเปน ในการจัดการปัญหาขยะในทะเล โดยนำขวดพลาสติกมารีไซเคิล ผลิตเป็นเสื้อวิ่งมาราธอน และจะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมาอีก

รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรงรีไซเคิลพลาสติกเชิงพาณิชย์ เพื่อนำร่องเศรษฐกิจหมุนเวียนครบวงจร พร้อมส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพลาสติกรีไซเคิล

ขณะเดียวกัน ก็พัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยนำพืชเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต BioPBSTM ใช้ทดแทนพลาสติกทั่วไป เช่น แก้ว ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานเหมือนพลาสติกทั่วไป แต่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังร่วมกับจุฬาฯในโครงการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืน หรือ “Chula Zero Waste” โดยนำพลาสติกชีวภาพ BioPBSTM เช่น แก้ว Zero-Waste Cup ที่ย่อยสลายได้ 100% ภายใน 180 วัน มาใช้ในจุฬาฯ โดยเริ่มใช้ในโรงอาหาร 17 แห่ง ลดการใช้แก้วพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งได้กว่า 170,000 ชิ้น/เดือน หรือ 2 ล้านใบ/ปี

ขณะเดียวกันนำแก้ว Zero-waste cup ที่ใช้งานแล้ว ไปฝังกลบในสภาวะปุ๋ยหมักให้เกิดการย่อยสลาย นับเป็นการบริหารจัดการขยะแบบ Closed-Loop Bioplastic Management แห่งแรกในไทย

“จีซี” ยังจับมือกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกอย่างบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) เพื่อนำนวัตกรรม “Upcycled” พัฒนาวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกที่ใช้แล้ว นำมาใช้ในทุกๆ โครงการของ “MQDC”

วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC ระบุว่า “MQDC มุ่งมั่นที่จะหาวิธีการใหม่ๆ ที่ใช้วัสดุแปรรูปจากพลาสติกใช้แล้ว ตลอดจนเศษวัสดุต่างๆ จากท้องทะเล มาใช้ในโครงการของเราทุกๆ แห่งทั่วโลก”

นับเป็นก้าวสำคัญของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่จะใช้ผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุ หรือ Upcycling ที่นอกจากจะมีความคงทนแข็งแรงแล้ว ยังช่วยจัดการกับขยะพลาสติก ซึ่งจะจุดประกายให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายอื่นหันมาสนใจใช้วัสดุ Upcycling กันมากขึ้น

“เศรษฐกิจหมุนเวียน” จึงเป็นเทรนด์ใหม่ของธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก เป็นมิติใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการช่วยโลกในการขจัดขยะพลาสติก เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและพิทักษ์ระบบนิเวศ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image