เดินหน้าชน : หมอผีปลุก‘เอ็นโอซี’

ขณะที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียมสำคัญคือ “บงกช” และ “เอราวัณ” หลังถูกหยุดยื้อมาหลายครั้งหลายคราจนถึงขณะนี้ยังไม่วายถูกปัดแข้งปัดขาอีก

ทั้งที่ “บงกช” และ “เอราวัณ” เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ด้วยเพราะปริมาณผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่งนี้คิดเป็น 76% ของปริมาณการจัดหาก๊าซในอ่าวไทย และ 44% ของปริมาณการจัดหาก๊าซทั้งประเทศ

ก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่งนี้ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หากล่าช้าออกไปอีก สถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศสุ่มเสี่ยงที่จะอันตรายอย่างยิ่ง

แต่เอ็นจีโอ กลุ่มเดิมๆ โดยเฉพาะเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ก็มิสนใจว่าประเทศจะเสี่ยงแค่ไหน ยังคงเคลื่อนไหวไม่เลิกรา แถมคราวนี้ใช้ยุทธวิธีแยกกันเดิน ร่วมกันตี โดยแตกเซลล์เป็นคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และพรรคพลังธรรมใหม่

Advertisement

แต่ละกลุ่มต่างออกมาเรียกร้องประเด็นพลังงานในเรื่องต่างๆ แต่มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน นั่นคือให้จัดตั้ง “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” หรือ “เอ็นโอซี” ก่อนจะมีการประมูลแหล่งปิโตรเลียม

ปมประเด็น “เอ็นโอซี” นี้ มีการหยิบยกมาหารือกันหลายครั้งหลายครา โดยรัฐบาลมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เป็นแกนหลักในการศึกษา ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปออกมา

แต่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงาน ต่างยืนยันว่า “เอ็นโอซี” เป็นร้ายมากกว่าดี มีบทเรียนความล้มเหลวให้เห็นมาแล้วในหลายประเทศ

ขณะที่ปัจจุบันนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือเรกูเลเตอร์อยู่แล้ว โดยรับนโยบายจากกระทรวงพลังงาน จากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ขณะที่บทบาทของหน่วยงานปฏิบัติการหรือโอเปอเรเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไปจนถึงการกลั่นและค้าน้ำมัน ก็มีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สผ.ทำหน้าที่อยู่แล้ว

แต่ทว่ากลุ่มเอ็นจีโอยังยืนกระต่ายขาเดียวจะให้ล้มการประมูลแหล่งปิโตรเลียม เพื่อรอตั้ง “เอ็นโอซี” ก่อน เพื่อให้ “เอ็นโอซี” เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐทั้งหมด ทั้งแท่นขุดเจาะ ระบบท่อขนส่งปิโตรเลียม สถานที่เก็บ โรงแยกก๊าซ เป็นผู้ขายปิโตรเลียมที่เป็นของรัฐตามสัญญาจ้างผลิตบริการ และตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต

รวมถึงเป็นผู้ซื้อปิโตรเลียมในส่วนที่แบ่งปันเป็นของเอกชนตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต และปิโตรเลียมของเอกชนตามสัมปทาน

กลุ่มเอ็นจีโออ้างว่า “เอ็นโอซี” จะทำให้การรับซื้อและขายพลังงานมีความเป็นธรรม แต่ความจริงแล้วยากที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะ “เอ็นโอซี” จะเป็นการรวมศูนย์ดูแลพลังงานแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด น่าจะทำให้ระบบพลังงานของประเทศย่ำแย่ ถอยหลังลงเหวมากกว่า

เหตุไฉนเอ็นจีโอถึงอยากให้มี “เอ็นโอซี” กันนักกันหนา ต้องย้อนไปดูช่วงที่มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับของเอ็นจีโอกลุ่มนี้ ที่กำหนดสัดส่วนและล็อกสเปกกรรมการ “เอ็นโอซี” ไว้ชัดเจนว่าต้องมาจากองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากคนในกลุ่มเอ็นจีโอกลุ่มนี้ ที่จะได้โควต้าไปนั่งเก้าอี้บอร์ด “เอ็นโอซี”

เคยมีคนท้าว่า หากมีการตั้ง “เอ็นโอซี” เอ็นจีโอกลุ่มนี้ทุกคนต้องประกาศจะไม่ร่วมเป็นบอร์ด “เอ็นโอซี” แต่ไร้เสียงตอบรับคำท้านี้

ดังนั้น เรื่องตั้ง-ไม่ตั้ง “เอ็นโอซี” ควรรอผลการศึกษาอย่างเป็นทางการของสภาพัฒน์ ออกมาก่อนดีไหม

อย่าทำตัวเป็นหมอผี หวังจะปลุกวิญญาณ “เอ็นโอซี” ที่ล้มหายตายซากไปแล้วในประเทศต่างๆ ให้มาหลอกหลอนในไทยเลย

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image