คอลัมน์ดุลยภาพดุลยพินิจ สิงคโปร์ รวยก่อนแก่? โดย : สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

เมื่อคราวที่แล้ว (8 มิถุนายน 2561) ผู้เขียนเคยเล่าเรื่องการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในประเทศไทยแล้ว วันนี้ขออนุญาตพูดถึงการดูแลผู้สูงอายุในประเทศเพื่อนสมาชิกอาเซียนรายหนึ่งคือ สิงคโปร์

ใครๆ ก็ทราบว่าสิงคโปร์เป็นประเทศอาเซียนที่พัฒนาแล้วมีฐานะดี และเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุแล้ว เป็นประเทศที่รวยก่อนแก่ ต่างกับประเทศไทยที่แก่ก่อนรวย ถึงเราจะไม่มีความคิดที่จะทาบสิงคโปร์ เราก็คงอยากทราบว่าประเทศที่มีทุกอย่างพร้อมเขาดูแลผู้สูงอายุระยะยาวอย่างไรประสบความสำเร็จหรือมีปัญหาหรือไม่ คนสิงคโปร์รวยก่อนแก่จริงหรือ

ปัจจุบันคนสิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยปีละเกือบ 2 ล้านบาท หรือประมาณ 10 เท่าของไทยที่มีรายได้เฉลี่ยปีละ 2 แสนบาท คนสิงคโปร์อายุยืนถึง 83 ปี (ชาย 81 หญิง 85) ในปี 2560 สิงคโปร์มีประชากรโดยรวมประมาณ 5.6 ล้านคน ประกอบด้วย พลเมืองสิงคโปร์ 3.4 ล้านคน เป็นผู้พำนักถาวร 0.5 ล้านคน ที่เหลือเป็นคนต่างด้าว 1.7 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปประมาณ 5 แสนคน คิดร้อยละ 14 ของพลเมืองสิงคโปร์ (ไม่นับกลุ่มอื่น) และคาดว่าอีก 15 ปี สัดส่วนของผู้มีอายุ 65 ปี ขึ้นไปจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ปัจจุบันสิงคโปร์มีอัตราเกิดต่ำ อัตราการเพิ่มของประชากรสิงคโปร์เท่ากับร้อย 0.1 และจะเพิ่มช้าลงจนเป็นติดลบในเวลาไม่ช้า

คำว่าการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในสิงคโปร์รัฐบาลให้นิยามว่า หมายถึงบริการทางสังคมและการดูแลสุขภาพเพื่อสนับสนุนประชาชนที่ไม่สามารถดูแลตนเองเป็นระยะเวลานานเนื่องจากสุขภาพไม่ดีเรื้อรัง การดูแลผู้สูงอายุระยะยาวจัดเพื่อประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาหลังจากออกจากโรงพยาบาลและผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนซึ่งมีความเปราะบางและจำเป็นต้องได้รับการกำกับดูแลหรือความช่วยเหลือในกิจกรรมประจำวัน

Advertisement

รัฐบาลสิงคโปร์กำหนดทิศทางในการดูแลผู้สูงอายุโดยยึดปรัชญา “การชรากับบ้านและชุมชน” (Aging-in- place) ซึ่งชี้ให้เห็นความปรารถนาที่จะดูแลผู้สูงอายุที่บ้านและชุมชนให้นานเท่าที่จะทำได้วิธีนี้เน้นบทบาทของครอบครัวในการช่วยให้ผู้สูงอายุอยู่ที่บ้านและใช้บริการแบบนอกบ้านพักผู้สูงอายุ (Non-residential services) ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการใช้บริการโรงพยาบาล คลินิกหรือสถานบริบาลผู้สูงอายุ

โดยทั่วไป การดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของสิงคโปร์แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ (1) ประเภทอยู่บ้านพักผู้สูงอายุ (Residential services) (2) ประเภทอยู่บ้านตนเองนอกบ้านพักผู้สูงอายุ (Non-residential home-based services) และ (3) ประเภทใช้ศูนย์ดูแล นอกบ้านพักผู้สูงอายุ (Non-residential centre-based services)

ประเภทแรก เป็นการดูแลในบ้านพักที่จัดสำหรับบริการผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้หรือไม่สามารถดูแลที่บ้านตนเองได้ การให้บริการเป็นแบบสถานบริบาล (Nursing homes) หรือการดูแลผู้สูงอายุอาการหนักหรือสุขภาพทรุดโทรมค่าดูแลผู้สูงอายุประเภทนี้ค่อนข้างแพง ตกราวๆ เดือนละเกือบ 2 แสนบาท หรือเท่ากับรายได้เฉลี่ยของคนไทยทั้งปี

ประเภทที่สอง อยู่บ้านตนเอง ในสิงคโปร์เป็นการดูแลทั้งสุขภาพและความต้องการทางสังคมของผู้สูงอายุรวมทั้งในการสนับสนุนครอบครัวและผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน บริการดังกล่าวได้แก่ การรักษา การบริบาล การดูแลเป็นผู้สูงอายุเป็นส่วนตัว การบำบัด การพยาบาลประคับประคอง การป้อนอาหารผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น การบริการผู้ติดตามและการเคลื่อนย้าย ในสิงคโปร์มีบริษัทจัดส่งทั้งผู้ดูแลแบบอยู่ประจำ หรือพนักงานแม่บ้านแบบเช้าไปเย็นกลับจากบริษัทเอกชนหรือองค์กรการกุศลค่าจ้างพนักงานดูแลแบบอยู่ประจำเริ่มตั้งแต่เดือนละ 15,000 บาท ถึง 25,000 บาท ตามคุณสมบัติและประสบการณ์ของผู้ดูแล ทั้งนี้ ยังต้องจ่ายให้บริษัทนายหน้า (ครั้งเดียว) กว่า 6 หมื่นบาท บวกค่าประกันสุขภาพ 2 ปี อีกราว 7 พันบาท

ประเภทที่สาม ใช้ศูนย์ดูแล เป็นการดูแลผู้สูงอายุที่ศูนย์เฉพาะตอนกลางวัน ศูนย์แบบนี้ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนเพื่อการดูแลในสภาพแวดล้อมของบ้านผู้สูงอายุในขณะที่ผู้ดูแลของครอบครัวต้องไปทำงาน บริการในศูนย์แบบนี้ได้แก่ บริการการฟื้นฟู การดูแล (เวลากลางวัน) ผู้สูงอายุที่สมองเสื่อม การดูแลเวลากลางวัน การบริบาลศูนย์ดูแลดำเนินกิจการเป็นอิสระจากระบบการดูแลประเภทอื่น ส่วนความเชื่อมโยงกับการสูงอายุอยู่ในชุมชนเป็นอย่างไร ค่าบริการการดูแลโดยศูนย์เท่าใดไม่ทราบทราบเพียงว่าคิดเป็นรายวันและแตกต่างกันไปตามศูนย์และรายละเอียดการใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ในศูนย์รับฝากดูแลชั่วคราวแบบ Centre-based Respite Care service ตกราววันละ 2,500-3,700 บาท แต่ข้อมูลอีกแห่งของภาครัฐบอกว่าเฉลี่ยวันละพันกว่าบาทก่อนหักส่วนลดสำหรับผู้รายได้น้อย

ในตารางแสดงให้เห็นว่าในปี 2560 สิงคโปร์มีสถานบริบาลผู้สูงอายุ 73 แห่ง เป็นของรัฐ 20 แห่ง ขององค์กรไม่หากำไร 23 แห่ง และของเอกชน 30 แห่ง บ้านผู้สูงอายุป่วยเรื้อรัง หรือบ้านอนาถาเพียง 2 แห่ง ซึ่งเป็นขององค์กรไม่หากำไร มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 88 แห่ง มีผู้รับดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน 21 แห่ง (จำนวนกิจการ) และมีผู้รับดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน 7 แห่ง (จำนวนกิจการ)

ดูจากแนวโน้มจะเห็นว่าจำนวนสถานบริบาลและกิจการดูแลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เพิ่มขึ้นในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุของสิงคโปร์เพิ่มมากขึ้นทุกปี นี่คือสิ่งที่คนสิงคโปร์เป็นห่วง

ยังมีการดูแลแบบที่สี่ที่เริ่มเมื่อต้นปี 2559 เป็นแบบผสมของการดูแลที่บ้านกับการดูแลรายวัน (Integrated Home and Day Care: IHDC) เป็นรูปแบบที่ยึดคนเป็นหลักและใช้การบริการเบ็ดเสร็จในที่เดียวที่ประกอบด้วยการดูแลที่บ้านผสมกับการดูแลที่ศูนย์โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้สูงอายุแก่ตัวลงในบ้านของตนและครอบครัว เป้าหมายคือผู้สูงอายุที่มีภาวะซับซ้อนและต้องการการดูแลระยะยาว โดยมีรูปแบบการให้บริการ เช่น การจัดการการดูแลเป็นรายบุคคล การฟื้นฟู การดูแลรักษา พร้อมทั้งกิจกรรมทางสังคม ซึ่งจะให้การดูแลต่างๆ ดังกล่าวอย่างกลมกลืนโดยไม่ต้องคำนึงถึงประเภทของบริการที่ใช้ ขณะเดียวกันยังให้บริการการฝึกอบรมผู้ดูแล ค่าดูแลขึ้นอยู่กับระดับของการดูแลที่ต้องการ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุอาจได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐสูงสุดถึงร้อยละ 80 ของค่าดูแล ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของผู้สูงอายุ

โครงการ IHDC อีกรูปแบบคล้ายกันที่ดำเนินการโดยสำนักงานการดูแลแบบบูรณาการ (Agency of Integrated Care:AIC) ของรัฐเพื่อช่วยพัฒนาการปรับตัวเข้ารับบริการดูแลระยะยาวเรียกชื่อว่า โครงการเพื่อการดูแลอย่างบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุแห่งสิงคโปร์ (Singapore Programme for Integrated Care for the Elderly: SPICE) เป็นทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านสุขภาพซึ่งทำหน้าที่ช่วยดูแลรักษาให้ผู้สูงอายุที่เปราะบางและต้องการการดูแลอย่างเข้มข้นและมีคุณสมบัติเข้าสถานบริบาลเพื่อให้อาการดีขึ้นและชราลงภายในชุมชน SPICE ให้การดูแลผสมแบบบ้านและศูนย์อย่างเข้มข้นและพัฒนาอย่างมีรูปแบบชัดเจนให้ออกจากโรงพยาบาลและเข้าสู่ครอบครัว

นอกจากนั้น ยังมีโครงการฟื้นฟูทางไกล (tele-rehabilitation) และการให้คำปรึกษาออนไลน์ (AI-Care Link อ่านว่า I Care Link) เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมจัดโดยกระทรวงสุขภาพเพื่อส่งเสริมปรัชญาการชราอยู่กับบ้านและชุมชน

แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่ก็ยังมีคนส่วนหนึ่งที่เป็นผู้รายได้น้อยในขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลค่อนข้างแพงในข้อนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ใช้หลัก “Many helping hands approach” หรือช่วยกันหลายมือโดยที่สำคัญคือการให้ความช่วยเหลือด้านเงินอุดหนุน มากน้อยขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของครอบครัวผู้สูงอายุและสถานะพลเมืองคือต้องเป็นพลเมืองสิงคโปร์หรือผู้พำนักอาศัยถาวรเท่านั้น โดยถ้าเป็นพลเมืองจะได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินสมทบในอัตราสูงกว่าผู้พำนักอาศัยถาวร เช่น อัตราเงินอุดหนุนสูงสุดสำหรับครอบครัวผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 17,000 บาท พลเมืองสิงคโปร์จะได้รับเงินอุดหนุนร้อยละ 75 ของค่าดูแลแต่ผู้พำนักถาวรจะได้รับเงินอุดหนุนเพียงร้อยละ 50 อัตราต่ำสุดสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้ครอบครัวระหว่างเดือนละ 45,000-65,000 บาทจะได้รับเงินอุดหนุนร้อยละ 20 สำหรับพลเมืองสิงคโปร์และร้อยละ 10 สำหรับผู้พำนักถาวร สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้ครอบครัวเกินเดือนละ 65,000 บาท ไม่ได้รับเงินอุดหนุน

ประการต่อมา รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีแหล่งให้ความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายการดูแลระยะยาวอีก 3 วิธี เรียกว่า 3 Ms คือ Medisave (เงินออมเพื่อการรักษาพยาบาล), Medishield (โล่การรักษาพยาบาล) และ Medifund (กองทุนรักษาพยาบาล) ซึ่งกล่าวย่อๆ คือ Medisave เป็นการออมภาคบังคับที่รัฐบังคับให้ทุกคนออมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง โดยแบ่งเป็น 4 บัญชี หนึ่งในนั้นคือ Medisave ซึ่งสามารถถอนมาใช้เพื่อการรักษาพยาบาลและจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ Medishield เป็นการประกันสุขภาพแบบสมัครใจที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีเงินรักษาสุขภาพเพิ่มจาก Medisave และ Medifund เป็นกองทุนที่รัฐตั้งขึ้นเพื่อการรักษาพยาบาลผู้ที่ยากจนมากและเป็นแหล่งเงินช่วยขั้นสุดท้าย Medifund ยังมี Medifund Silver สำหรับผู้สูงอายุของ Medifund ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป

นอกจากนั้น ยังมีเงินทุนช่วยเหลืออีกแห่ง คือ เอลเดอร์ชีลหรือโล่ผู้สูงอายุ (Eldershield) ซึ่งเป็นการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลระยะยาวและอาการหนักสำหรับผู้สูงอายุมีบัญชีเงินฝาก Medisave โดยเสียเบี้ยประกันเป็นรายปี อายุขั้นต่ำที่จะใช้บริการนี้คือ 40 ปี และเบี้ยประกันปีละกว่า 4 พันบาทสำหรับผู้ชาย และกว่า 5 พันบาทสำหรับผู้หญิง โดยจะต้องจ่ายจนกระทั่งอายุ 65 ปี Eldershield จะออกค่าใช้จ่ายให้ผู้สูงอายุที่มีจำเป็นในอัตราเดือนละเกือบ 1 หมื่นบาทเป็นเวลาไม่เกิน 72 เดือน รัฐบาลสิงคโปร์กำลังทบทวนโครงการนี้เพื่อเพิ่มความคุ้มครองและอาจกำหนดเป็นการประกันภาคบังคับ

ล่าสุดมีโครงการชื่อ Pioneer Generation (PG) ที่รัฐจัดเพิ่มในปี 2558 เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบ 50 ปีแห่งการประกาศอิสรภาพสิงคโปร์ให้แก่ผู้ที่เกิดวันที่ 31 ธันวาคม 2492 หรือก่อนนั้น เป็นโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป

ในสิงคโปร์ ความชราไม่ได้ใช้แค่เวลา แต่ต้องใช้เงินเยอะด้วย

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image