10 คุณลักษณะภาวะผู้นำ ของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร : โดย ผศ.ดร.สมาน ฟูแสง

ผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารหรือมีตำแหน่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโดยการแต่งตั้ง การเลือกตั้งหรือแม้กระทั่งตั้งตนเองเป็น การจะเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับหรือประสบความสำเร็จในการทำงานปัจจัยสำคัญที่สุด
คือ “ภาวะผู้นำ” (Leadership) ผู้มีตำแหน่งจำนวนมากที่ไม่ประสบความสำเร็จหรืออาจล้มเหลวก็มักเกิดจาการขาดภาวะผู้นำที่เหมาะสมกับการอยู่ในตำแหน่งนั้นๆ ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้นำในการช่วยเหลือเด็กนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่า 13 คน ที่ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย นับว่าเป็นคนที่มีภาวะผู้นำที่โดดเด่นที่สุดในสถานการณ์นี้ ท่ามกลางผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญการกู้ภัยหลากหลายสาขาทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ พร้อมผู้มีจิตอาสารวมกันมากกว่า 1,000 คน ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ณ บริเวณถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

ระยะเวลา 17 วัน ที่ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์อยู่ในพื้นที่ท่านแสดงออกถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจและใส่ใจอย่างยิ่งต่อการช่วยเหลือเด็ก ท่านได้แสดงให้เห็นความเป็นผู้นำที่มีพลัง มีคุณค่าในสายตาของทุกคนทั้งในพื้นที่และผู้ติดตามข่าวสารทั่วโลก

หากเราพิจารณาจากพฤติกรรมในสถานการณ์นี้ที่ได้รับรู้จากข่าวสาร ประกอบกับการศึกษาประวัติของผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์น่าจะพอสรุปว่าท่านมีภาวะผู้นำที่ดีเยี่ยมและสามารถเป็นแบบอย่างต่อการศึกษาเรียนรู้ โดยสามารถวิเคราะห์คุณลักษณะภาวะผู้นำของท่านได้ดังต่อไปนี้

1.มีความมุ่งมั่น จริงจังและแน่วแน่ในการทำงานที่ต้องการผลสำเร็จ คิดแล้วต้องทำให้ได้จึงมีการเกาะติดไม่ใช่มีแต่สั่งให้คนอื่นทำหรืออาจเรียกว่า “คนลุย” อยู่กับผู้ปฏิบัติงานทั้งกลางวันกลางคืนโดยไม่ปริปากว่าเหนื่อย สีหน้าแววตาของท่านบ่งบอกถึงความหวังเสมอ เสมือนว่าคิดอยู่ตลอดเวลาว่าต้องทำให้ได้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้องและผู้ร่วมงาน ดังที่ท่านพูดว่า “มีคนถามว่า ทำไมผมต้องมายืนอยู่ตรงนี้ตลอด…มันเหมือนแม่ทัพ รบแล้วเรากำลังจะพ่ายแพ้ เราจะเสียพื้นที่ ถ้าแม่ทัพไม่ยืนอยู่ข้างหน้า ใครจะไปช่วยแม่ทัพรบ นั่นคือเหตุผลที่เราต้องสู้กันตลอด เราจะเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้ายังไง เราก็จะสู้กันตลอด” ผู้ร่วมงานได้ฟังอย่างนี้คงไม่มีใครถอยแน่ๆ

Advertisement

2.มีวินัย รักษากฎกติกา เป็นคนตรงต่อเวลา การนัดหมายแถลงข่าวแต่ละครั้งแทบไม่ผิดเวลาที่นัดหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่นแม้ตนเองมีความสำคัญกว่า เช่น เดินตามหลังเจ้าหน้าที่เข้าคิวรอรับประทานก๋วยเตี๋ยว บางวันท่านสวมชุดข้าราชการตากแดดตากฝนเพราะต้องปฏิบัติงานในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด ที่อาจต้องอยู่ที่ศาลากลางหรือต้องปฏิบัติภารกิจที่จำเป็นอื่นด้วยก่อนที่จะเข้ามาบัญชาการในพื้นที่ (ในขณะที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย) คุณลักษณะนี้เป็นที่ทราบในบรรดาผู้ที่เคยร่วมงานกับท่านคือยึดระเบียบวินัยค่อนข้างเคร่งครัด

3.มีความสามารถในการวางแผน เขาเป็นผู้มองทะลุ คิดออกแบบกระบวนการทำงานที่มีความเชื่อมโยงในลักษณะบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม การแจกแจงบทบาทหน้าที่ ภารกิจให้แต่ละหน่วยหรือผู้รับผิดชอบแต่ละส่วนมีความชัดเจน สามารถกำกับติดตามประสานกันได้ทุกขั้นตอน ความเยี่ยมยอดในการวางแผนนำเด็กแต่ละคนออกจากถ้ำจนถึงโรงพยาบาลที่เสมือนการแสดงที่มีบทกำกับ แทบไม่มีสิ่งใดผิดพลาด เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก เราไม่อาจพูดได้ว่าท่านคิดท่านทำคนเดียวโดยลำพังแต่นี้คืออยู่ภายใต้การนำของผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์
ท่านจึงเป็น “แม่ทัพผู้ชนะ”

4.มีความสามารถในการสื่อสาร ท่านพูดทุกอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมและที่สำคัญคือไม่พูดมากเกินความจำเป็น สิ่งที่ท่านพูดล้วนเป็นสิ่งที่ทำได้ หรือมองในมุมกลับแทบทุกอย่างที่ทำได้ก็คือสิ่งที่ท่านพูด การพูดของท่านมีความจริงจังแฝงอยู่ เช่น “คนที่ไม่พร้อมจะทำงานจะลงชื่อแล้วกลับไปเลยก็ได้” ลักษณะเช่นนี้ท่านเคยพูด ในช่วงที่มีความขัดแย้งในท้องถิ่นกรณีการก่อสร้างที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องว่า “ผมเซ็นไม่ได้เพราะมันผิดกติกาหมด ผมยอมไปที่ไหนก็ได้แต่ผมจะไม่ยอมเซ็นโครงการที่ผิดเพราะรู้ว่าผิด ผมยอมย้ายไปที่ไหนก็ได้ถ้าไปแล้วไม่ปวดหัวอย่างนี้” มีข้อสังเกตว่าในสถานการณ์นี้ในกรณีที่ต้องการให้ทุกคนปฏิบัติตามข้อตกลงถึงแม้ท่านจะพูดหนักๆ เหมือนกับไม่ประนีประนอมแต่เมื่อมีโอกาสท่านจะใช้คำว่า “ผมขอโทษ” เสมอ

นี่คือวุฒิภาวะที่เป็นแบบอย่างของท่าน

5.เป็นนักประสานที่มีพลัง การที่มีผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ จำนวนมากและมาจากองค์กรที่หลากหลายทั้งในประเทศ ต่างประเทศ องค์กร บุคคลจำนวนมากเป็นผู้มีชื่อเสียง ระดับโลก นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจ ยอมรับอย่างง่ายๆ เพราะคนมีทั้งอัตตา มีทั้งศาสตร์หรือเทคนิคที่ตนเองเคยปฏิบัติมา แต่ต้องนำมาบูรณาการกัน บางกิจกรรมต้องประยุกต์ ปรับให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายในถ้ำที่ลำบาก จนมีคนสำคัญระดับโลกหลายคนพูดว่าเป็นสถานการณ์ที่ “ลำบากที่สุด” หากขาดการประสานงานที่ดีย่อมเป็นไปได้ยากที่จะประสบความสำเร็จ ภาพที่ปรากฏในสื่อตอนเย็น วันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ที่เด็กคนที่ 12 และโค้ชเอก ได้รับการส่งตัวถึงโรงพยาบาลนั้นสร้างความปลาบปลื้มยินดีจนบางคนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ หลังจากนั้นก็มีแต่คำชมจากผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กรภาครัฐภาคเอกชน คนสำคัญทางการกีฬาทั่วโลก กล่าวชื่นชมกระบวนการช่วยเหลือเด็กภายใต้การนำของท่านอย่างต่อเนื่อง

6.เป็นผู้ให้หรือผู้บริการที่อยู่บนพื้นฐานของความรักความเมตตา เขาพูดถึงเด็ก พูดถึงพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กอย่างให้เกียรติ ท่านอาจจะพูดแบบขึงขังจริงจังกับผู้ร่วมปฏิบัติงานเพื่อตอกย้ำภารกิจ แต่เราจะไม่เห็นท่านพูดกระทบชาวบ้าน กระทบผู้เกี่ยวข้องกับเด็กๆ ที่ติดอยู่ในถ้ำเลย ไม่เคยมีคำถามว่า “เด็กเข้าไปทำไม” ท่านกล่าวว่า “เราไม่ได้มองเขาเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย เรามองเขาว่าเขาเป็นเด็กน้อย…..อนาคตเขาจะเป็นคนดีของสังคม” นี่คือความเป็นผู้ใหญ่ที่คิดช่วยเด็กที่ประสบภัยมิใช่มัวมาตั้งคำถามเพื่อหาเหตุผลโดยไม่จำเป็นในสถานการณ์วิกฤต การแสดงออกถึงความรักความห่วงใยที่เต็มไปด้วยความเมตตาจึงทำงานอย่างมีความสุขมีกำลังใจตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงแต่ทำงานตามหน้าที่ ลักษณะเช่นนี้มาจากพื้นฐานที่เรียกว่าเป็นผู้นำใฝ่บริการหรือ Serval Leadership

7.มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ หรือ “รอบรู้” ในหลากหลายศาสตร์ และสามารถนำความรู้ความเข้าใจมาประยุกต์ปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม จากประวัติการศึกษาที่ผ่านทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนวิทยาศาสตร์การสำรวจทางภูมิศาสตร์ ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมท่านจึงคิด ออกแบบวางแผนและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนไม่ได้ให้ความสำคัญในวุฒิปริญญาทางการศึกษา แต่ค่อนข้างแน่ใจว่าท่านสามารถนำความรู้ที่หลากหลายสู่การปฏิบัติได้จริง การที่ท่านเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ เรียนไม่รู้จบ เป็นนักอ่าน และมีประสบการณ์ในการบริหาร การเป็นผู้นำในหลายองค์กรมาเป็นโอกาสที่ทำให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถมาใช้ และที่เราสามารถสัมผัสได้จริงๆ เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางก็คือการเป็นผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายคราวนี้

8.มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม จากที่กล่าวมาแล้วว่าสถานการณ์ครั้งนี้มีผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย มีภารกิจที่ยุ่งยาก สลับซับซ้อน เสี่ยงทุกอย่าง ไม่มีหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญเพียงด้านใดด้านหนึ่งที่จะทำงานได้ตามลำพัง ที่สำคัญมากคือไม่สามารถทำให้เกิดความสำเร็จได้ด้วย “การใช้อำนาจ” จะต้องเน้นที่ความร่วมมือ การสร้างพลังร่วมเท่านั้น ซึ่งท่านคือผู้นำที่ทำได้จนเป็นที่ประจักษ์ เราอาจมองว่าท่านเป็นพระเอก แต่ท่านมักพูดถึงคนอื่นว่าเป็นพระเอกตัวจริงอยู่บ่อยๆ ทั้งในช่วงที่เผชิญกับวิกฤตจนถึงวันที่แถลงข่าวปิดศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายซึ่งท่านเป็นผู้นำในการแถลงข่าว ท่านได้เชิญชวนให้ผู้อยู่ร่วมในเวทีปรบมือให้กับผู้เกี่ยวข้องว่าท่านเหล่านั้นก็เป็นพระเอกด้วย

นั่นคือการสื่อว่าคนอื่นที่เป็นทีมงานมีความสำคัญ มิใช่ตนเองสำคัญกว่าคนอื่น เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปอยู่แล้วว่าการให้เกียรติคนอื่นเป็นพื้นฐานการทำงานเป็นทีม

9.มีความโปร่งใสในการทำงาน การที่ท่านมีความกล้าพูด กล้าทำทุกอย่างอย่างเปิดเผยพร้อมกับแจ้งหรือแถลงข่าวเป็นประจำ ซึ่งแต่ละครั้งท่านจะพูดจากสิ่งที่เป็นการปฏิบัติไม่อ่านโน้ต หรือไม่มีโพยทุก อย่างอยู่ในสมอง ไม่เตรียมการในลักษณะปิดบังข้อมูล แต่สิ่งใดที่ท่านเห็นว่าไม่ควรถูกเปิดเผยท่านก็แจ้งให้ทราบก่อน สิ่งหนึ่งที่ผู้ติดตามข่าวสารไม่พบเห็นคือการให้ สัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวเป็นส่วนตัวในลักกษณะเลือกปฏิบัติ ทุกครั้งจะเป็นการสัมภาษณ์พร้อมๆ กัน หรือการแถลงข่าวที่เป็นระบบ จึงไม่มีใครแย่งข่าวจากท่านได้ ทุกคนจะได้รับเหมือนๆ กัน นอกจากนี้การไม่รับความช่วยเหลือหรือรับบริจาคเป็นตัวเงินนับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมในวิธีการที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อการทุจริต

10.มีความกล้าหาญ ตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ในวันที่ 13 ของการช่วยเหลือเด็กหลังจากที่มีอดีตทหาร หน่วยซีล (SEAL) ซึ่งเป็นจิตอาสาเสียชีวิตจากการดำน้ำในถ้ำ ผู้เกี่ยวข้องและผู้ติดตามข่าวสารจำนวนมากช็อก เหมือนกับจะเริ่มคิดว่า “จะเอาอยู่ไหม” สถานการณ์บีบรัดให้เกิดการตัดสินใจว่าจะรอความพร้อม รอน้ำลดต่อไป จะรอความช่วยเหลืออื่นใดจากต่างประเทศหรือไม่ สิ่งที่คนจำนวนมากคิดไม่ถึงคือเกิดการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว “ต้องช่วยเด็กออกให้ได้ก่อนที่ฝนจะตกหนักอีกรอบหนึ่ง” คือรอต่อไปไม่ได้

แน่นอนการตัดสินใจนี้ขึ้นอยู่กับการมีผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำ หรือดำถ้ำตลอดถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ประกอบกับหน่วยซีลที่มีความเชี่ยวชาญสูงสุดของไทยร่วมปฏิบัติการ แต่เราก็ได้เห็นผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์เป็นผู้อยู่หัวแถวในสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเนื่องจากมีความเสี่ยงมากที่สุด

โดยภาพรวมสามารถกล่าวได้ว่าณรงค์ศักดิ์เป็นผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำที่เป็นแบบอย่าง เป็นต้นแบบ (Charismatic Leader) ที่ควรศึกษาเรียนรู้สำหรับนักปกครอง นักบริหารทุกวงการตลอดจนนักวิชาการทางด้านการศึกษาเกี่ยวกับผู้นำทั่วไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากท่านประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นที่รับรู้กันทั่วโลกว่าผู้นำในการช่วยเหลือเด็กที่ประสบภัยครั้งนี้คือผู้ว่าราชการจังหวัด

ผู้เขียนเห็นว่าเป็นโอกาสของกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาลที่จะนำเอาบทเรียนด้านภาวะผู้นำที่โดดเด่นของท่านมาเป็นตัวอย่างในการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้บริหารทุกระดับ อย่างน้อยที่สุดการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารที่ใช้เหตุผลว่า “เพื่อความเหมาะสม” ก็ควรจะลดลงเพราะเป็นเหตุผลประเภทกำปั้นทุบดินที่มีความชัดเจนเฉพาะผู้ออกคำสั่ง เช่นเดียวกับกรณีของผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ที่ต้องออกจากจังหวัดใหญ่ไปอยู่จังหวัดที่เล็กกว่า ตามความเข้าใจของสังคมจะถูกหรือไม่ก็แล้วแต่ คนมองว่านี่คือการลดเกรดเหมือนถูกลงโทษ ผู้มีอำนาจเหนือกว่าน่าจะลองนำภาวะผู้นำของท่านมาเป็นข้อคิดสะกิดใจผู้นำระดับสูงของ
ประเทศ

ผู้เขียนคิดว่าวันหนึ่งบทเรียนที่ได้จากท่านจะมีส่วนยกระดับคุณค่าและศักดิ์ศรีของนักปกครองให้สูงยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.สมาน ฟูแสง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image