บทเรียน การเมือง บทเรียน นักรัฐประหาร ใน ‘วงจรอุบาทว์’

นักการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะมาจาก
พรรคภูมิใจไทย

จะไม่เข้าใจกระบวนการของ “คสช.” เป็นอันขาด

หากไม่ย้อนกลับไปศึกษารัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 ที่คิดกันว่านำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ โคตรของ “ซอยราชครู”

เพราะแท้จริงแล้วมาจากสมองก้อนโตของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

Advertisement

พลันที่ศึกษารัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 ก็จะเข้าใจรัฐประหารยุคหลังๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเมื่อเดือนกันยายน 2500 ไม่ว่าจะเมื่อเดือนตุลาคม 2519

และรวมถึงรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นี้ด้วย

ใครที่คิดว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เลียนแบบ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเลียนแบบ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ไม่ใช่หรอก

Advertisement

รัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 เมื่อประสบความสำเร็จก็มอบอำนาจทางการเมืองให้พรรคประชาธิปัตย์ โดย นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น ผบ.ทบ.

ถึงวันที่ 6 เมษายน 2491 ก็มีทหารจากคณะรัฐประหารไปปรากฏตัวที่บ้านหน้าสนามกีฬา ปทุมวัน ของ นายควง อภัยวงศ์ ยื่นคำขาดให้ลาออก

แล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เข้าไปแทนที่

ในตอนต้นดูเหมือนรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะยังขยายผลด้วยการไล่ล่ากลุ่มของ นายปรีดี พนมยงค์ อย่างเอาการเอางาน แต่พอถึงเดือนพฤศจิกายน 2494 ก็เกิดรัฐประหารประหลาดขึ้น

นั่นคือ รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เป้าหมาย 1 คือ การฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 อันเป็นมรดกของพรรคประชาธิปัตย์ และเป้าหมาย 1 คือ การนำเอารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 กลับมาอีกครั้ง

ความหมายก็คือ เป็นรัฐประหารเพื่อ “กระชับอำนาจ”

รัฐประหารในแบบที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2494 นี้ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็นำมาใช้ดังกรณีรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501

นั่นก็เกิดขึ้นหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500

ในยุคหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 เมื่อก่อรัฐประหารเดือนตุลาคม 2519 ก็มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

และแล้วก็รัฐประหารอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2520

นั่นก็คือ รัฐประหาร “กระชับอำนาจ” แล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็ออกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 จัดการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522

เป็นการเลือกตั้งเพื่อการสืบทอดอำนาจ

เหมือนๆ กับการเลือกตั้งของ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2512 และก่อรัฐประหารกระชับอำนาจในเดือนพฤศจิกายน 2514

นี่คือ 2 กรรมวิธีของ “นักรัฐประหาร”

สรุปจากยุครัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา ได้คิดประดิษฐ์รูปแบบทางการเมืองอันเรียกกันในกาลต่อมาว่า “วงจรอุบาทว์”

1 รัฐประหาร 1 เลือกตั้ง

นี่คือกระบวนการและความจัดเจนของ “นักรัฐประหาร” ในการสืบทอดอำนาจตั้งแต่ยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาถึงยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

เหมือนจะ “ยั่งยืน” แต่ก็ “ไม่ยั่งยืน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image