จิตวิวัฒน์ : การสะท้อนการเรียนรู้:บทเรียนจาก ปฏิบัติการจิตอาสาพาทีมหมูป่ากลับบ้าน : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

หลังจากที่มีเวลาหยุดใคร่ครวญ ทบทวนกับเหตุการณ์

ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ผมได้เรียนรู้และเข้าใจ “ชีวิต” โดยเฉพาะ “คุณค่า” ของชีวิตเพิ่มมากขึ้น

ทำไมผู้ช่วยเหลือจึงยอมเสี่ยงชีวิตของตนเองช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แค่รู้เรื่อง หรือได้รับการร้องขอ ทุกคนก็พร้อมใจกันมาช่วยเหลือ โดยไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น สีผิว ชาติ ศาสนา ภาษา…

พวกเขาล้วนมาด้วยใจ ด้วยจิตอาสา พวกเขาทุ่มเทกำลังกาย พลังความคิด นำประสบการณ์ชีวิต ความรู้
ความชำนาญเฉพาะตัวที่มี มารวมเป็นพลังช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ ฟันฝ่าและก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ จนได้รับความสำเร็จ พาทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้อย่างปลอดภัยทุกคน

Advertisement

ความสำเร็จของปฏิบัติการจิตอาสาครั้งนี้ หลายคนบอกว่ามันเป็นปาฏิหาริย์ แต่สำหรับผม ผมว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่า “ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์” เพราะมันเป็นการรวมตัวกันของหลายๆ คน หลายๆ เชื้อชาติ หลายๆ ประเทศ หลายๆ ศาสนา และหลายๆ สิ่ง แล้วก่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีพลังกว่าเมื่อแต่ละสิ่งแยกกันอยู่ แยกกันทำ มันเป็นการรวมตัวกันระหว่างสิ่งที่บางคนเรียกว่าปาฏิหาริย์ ความเชื่อ ความศรัทธา ไสยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และที่สำคัญ คือความมุ่งมั่นของผู้มีจิตอาสาที่ต้องการช่วยชีวิตผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ช่วยเพราะต้องการช่วย ช่วยแบบไม่มีเงื่อนไข หากเรารวบรวมเรียบเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เบื้องหลังเหตุการณ์และการตัดสินใจต่างๆ เราก็แทบจะจินตนาการไม่ออกว่าอะไรจะบังเอิญขนาดนั้น ที่ทุกสิ่ง ทุกคน ทุกเหตุการณ์ มีที่มาที่เชื่อมโยงและร้อยเรียงรวมกันอย่างพอเหมาะพอดี มันช่างเป็นความบังเอิญที่ประจวบเหมาะ ถูกที่ ถูกเวลา เหมือนภาพยนตร์ที่มีผู้เขียนบท มีนักแสดง มีผู้กำกับ…แล้วจบอย่างมีความสุขดุจดั่งปาฏิหาริย์ อะเมซิ่งไทยแลนด์จริงๆ

มีการร่วมและรวมกันระหว่างเทคโนโลยีระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น มีการร่วมและรวมกันระหว่างความเชี่ยวชาญระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น มีการร่วมและรวมตัวกันของคนที่มีจิตอาสา คนที่มีจิตใหญ่ ทั้งในพื้นที่ ในประเทศ และนานาประเทศทั้งหมดหลอมรวมเป็นพลัง รังสรรค์ความสำเร็จที่ก่อให้เกิดความสุข ความปลื้มปีติของคนทั่วโลก ทุกคนที่ช่วยเหลือทีมหมูป่า ต่างได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้ช่วยเหลือที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษกลับพูดอย่างสุภาพนอบน้อมถ่อมตนว่า เขาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปฏิบัติการครั้งนี้ เขามีความสุขที่ได้มาช่วย และเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ไม่ได้คิดหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ได้หวังเป็นวีรบุรุษ และบางคนพูดออกมาตรงๆ ว่าเขาไม่ใช่วีรบุรุษ แถมยังขอบคุณคนในพื้นที่ คนไทย และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ให้โอกาสเขาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจนี้

เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ไม่ได้ “สร้าง” วีรบุรุษ เพราะความเป็นวีรบุรุษที่แท้จริงเกิดขึ้นจากจิตใจภายในของคนคนนั้น สถานการณ์เป็นผู้ “เปิดเผย” ความเป็นวีรบุรุษของคนคนนั้นออกมาให้เป็นที่ประจักษ์เท่านั้นเอง

Advertisement

ความเป็นคนที่มีจิตอาสา มีจิตสาธารณะ หรือมีจิตใหญ่ เป็นคุณสมบัติภายในของคนคนนั้น มิได้ขึ้นอยู่หรือรอให้สถานการณ์เกิดขึ้น

สิ่งที่ผู้มีจิตอาสา ผู้มีจิตใหญ่ทำ ล้วนมี “คุณค่า” ต่อจิตใจของเขา และต่อจิตใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประเมินเป็น “ราคา” ไม่ได้ และไม่ควรตัดสินด้วย “ราคา” หรือปริมาณของเงินที่ใช้ ไม่ว่าจะในกรณีใด

ความสำเร็จครั้งนี้เป็นบทเรียนที่งดงาม มีคุณค่ายิ่งสำหรับมนุษยชาติ ที่ทุกคนทุกฝ่ายควรจะเรียนรู้ ควรจะนำมาสรุปถอดเป็นบทเรียนร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และที่สำคัญ เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับการ
สร้างคนที่มีคุณค่าทางจิตใจ มีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เห็นคุณค่าของความเป็นหนึ่งเดียวกัน บนการยอมรับและเคารพในความแตกต่าง
และหลากหลาย (Unity Through Diversity)

ไม่ต้องคิดเหมือนกัน แต่คิดร่วมกันได้

ไม่ต้องทำเหมือนกัน แต่ทำร่วมกันได้

ไม่ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน แต่รับผิดชอบร่วมกันได้

ไม่ต้องรู้เท่าและเหมือนกัน แต่รู้และเรียนรู้ร่วมกันได้

ไม่ต้องเป็นผู้นำเหมือนกัน แต่เป็นผู้นำร่วมกันได้…

สำหรับผม บทเรียนชีวิตครั้งนี้สอนว่า ความช่วยเหลือเกื้อกูล ความเอื้ออาทร ความรัก ความกรุณาเมตตา
ความมีจิตใหญ่ ซึ่งเป็นมิติทางบวกของมนุษย์ต่างหากที่จะรักษามนุษยชาติไว้ได้ ไม่ใช่การแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว จิตเล็ก จิตแคบ ซึ่งเป็นมิติทางลบ เป็นด้านมืดของมนุษย์

เรามาช่วยกันคิด สร้าง และพัฒนาคนและระบบต่างๆ ในสังคมที่เอื้อต่อการสร้าง และพัฒนามิติด้านบวกของมนุษย์กันดีไหม? เพื่อที่มนุษยชาติจะได้ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองกระแสหลักที่เป็นอยู่ (รวมถึงไทยแลนด์ 4.0) ให้ความสำคัญกับการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น…ซึ่งเป็นด้านลบ เป็นมิติด้านมืดของความเป็นมนุษย์ใช่หรือไม่?

ไม่อยากเห็นประเทศไทยและคนไทย เจริญก้าวหน้าไปด้วยเทคโนโลยียุค 4.0 แต่เป็นคนที่มีจิตเล็ก คับแคบ และเห็นแก่ตัว

ไม่อยากเห็นคนไทยและประเทศไทยเป็น High Tech แต่ Low Touch ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีแต่ถอยหลังและตกต่ำด้านจิตใจ

ปฏิบัติการจิตอาสาพาทีมหมูป่ากลับบ้านเป็นกรณีศึกษาของประเทศไทยที่ทรงคุณค่า มิใช่เฉพาะต่อคนไทย แต่ทรงคุณค่าต่อคนทั้งโลก

จุมพล พูลภัทรชีวิน

www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image