เดินหน้าชน : เงินกู้ครูใครได้ใครเสีย โดย : สุพัด ทีปะลา

ประเด็น “ปฏิญญามหาสารคาม” ที่ได้ออกมาเรียกร้องครูทั่วประเทศซึ่งกู้เงินในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) งดชำระหนี้กับแบงก์ออมสิน ทำให้เรื่องหนี้สินพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติกลายเป็นวาระที่ทั้งรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และสังคมต้องหันกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้ง

การออกปฏิญญาของครูกลุ่มนี้แม้ถูกตำหนิว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร แต่ก็สะท้อนถึงปัญหาหนี้สินครูที่ยังไม่บรรเทาเบาบางลงเลย แม้ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการจะมีหลายมาตรการลดหนี้สิน

หนี้สินครูในปัจจุบันรวมกันมีมากถึง 4.1 แสนล้านบาท ทั้งหมดเป็นเงินกู้จากโครงการสวัสดิการเงิน ช.พ.ค.และ ช.พ.ส. มีครูที่เป็นหนี้ 5 แสนคน จากครูที่เป็นสมาชิก ช.พ.ค. 9 แสนกว่าคน

การปล่อยกู้โครงการเงินกู้สวัสดิการ ช.พ.ค.จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของหนี้สินครูที่เรื้อรังมาจนทุกวันนี้

Advertisement

เนื่องจากมีการปล่อยกู้ที่ง่าย ไม่มีการตรวจสอบเครดิตบูโร บางคนมีหนี้สินอื่นอยู่แล้วแต่ก็สามารถกู้เงินในโครงการนี้ได้ หนี้สินจึงพอกพูน

บางคนวิกฤตหนักเมื่อหักบัญชีเงินเดือนจ่ายหนี้แล้วถึงกับติดลบ หรือเหลือเงินหลักร้อยหลักพันบาท

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.เกิดขึ้นครั้งแรก 27 ก.ย.2547 โดยแบงก์กรุงไทย วงเงินกู้สูงสุด 2 แสนบาท มีครู 37,000 คนกู้เงินรวม 7,000 กว่าล้านบาท

Advertisement

จากนั้นในเดือน ต.ค.2548 เกิดโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ที่ดำเนินการโดยแบงก์ออมสินเรื่อยมาจนถึงโครงการ 7

เป็นที่น่าสังเกตว่ายอดวงเงินกู้สูงสุดตั้งแต่โครงการ ช.พ.ค.1-7 ปรับเพิ่มจาก 2 แสนบาท เป็น 6 แสนบาทในโครงการ ช.พ.ค.5 ในปี 2552 ก่อนจะเพิ่มวงเงินกู้เป็น 1.2 ล้านบาทของโครงการ ช.พ.ค.ในปีถัดมา และเพิ่มเป็น 3 ล้านบาทกับโครงการ ช.พ.ค.7 ปี 2554-2558

สวนทางกับความพยายามที่ไม่ให้ครูมีหนี้สินเพิ่มแต่ยอดปล่อยกู้กลับเพิ่มสูงขึ้น

ในอดีตที่ผ่านมาโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.มักถูกโยงกับเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ

ทั้งเรื่องของการกำหนดให้ผู้กู้ต้องทำประกันสินเชื่อในครั้งแรกเป็นระยะเวลา 9 ปี ค่าเบี้ยประกันตั้งแต่ 11,160-186,300 บาท ขึ้นอยู่กับวงเงินกู้ 200,000-3,000,000 บาท และเมื่อครบ 9 ปีก็ต้องทำประกันรอบใหม่

ยอดเบี้ยประกันส่วนนี้รวมกันแล้วมากโข จนมีเสียงเรียกร้องจากครูในขณะนั้นห้ามไม่ให้บังคับทำประกันสินเชื่อ

แต่สุดท้ายก็ยังต้องทำประกันเพราะหากไม่ทำต้องหาคนค้ำประกันแทนทำให้ครูส่วนใหญ่จำยอมที่จะทำประกัน

นอกจากนี้ยังมีเงินค่าบริหารจัดการที่ทางแบงก์ส่งคืนให้สำนักงาน สกสค.เข้ากองทุน ช.พ.ค.ร้อยละ 0.5-1 เป็นอีกส่วนที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งผลประโยชน์ของผู้บริหาร สกสค.ในอดีต

เงินค่าบริการจัดการหรือเงินค่าตอบแทนนี้ตั้งแต่โครงการ 2-7 รวมแล้วหลายพันล้านบาท เงินส่วนนี้นำไปใช้อะไรบ้างนั้นไม่มีใครตรวจสอบได้

และที่เป็นปัญหากรณีการทุจริตที่อดีตผู้บริหาร สกสค.นำเงินส่วนนี้ไปปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอกชนหลายพันล้านบาท

เงินส่วนนี้ในปัจจุบัน “หมอธี” นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้แบงก์ออมสินหักส่วนหนึ่งนำมาเป็นส่วนลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ที่มีวินัยดี ไม่มีหนี้ค้างชำระ เพื่อบรรเทาหนี้สิน

ปัญหาหนี้สินครูสะสมกันมานานหลายสิบปี ถ้าแก้ไม่ตกก็จะเกิดกรณี “ปฏิญญามหาสารคาม” ขึ้นมาอีกอย่างแน่นอน

สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ การไม่ปล่อยกู้ให้ครูง่ายเกินไป

และที่สำคัญที่สุดตัวครูเองต้องยึดความพอเพียง ไม่สร้างหนี้เพิ่มเป็นดีที่สุด

สุพัด ทีปะลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image