ชีวิตติดเรคคอร์ด : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

กลางดึกคืนหนึ่ง คุณเปิด “จอ” ขึ้นมา สั่งการให้มันเล่นภาพเคลื่อนไหว บนจอเป็นภาพตั้งแต่ตอนที่คุณลืมตาตอนเช้า, ภาพคุณทำกิจวัตรประจำวัน อาบน้ำ กินอาหารเช้า, คุณนั่งรถแท็กซี่ไปทำงาน มีบทสนทนากับคนขับเล็กๆ น้อยๆ ตามประสา, ถึงที่ทำงาน, นั่งนิ่งๆ กดเมาส์และพรมคีย์บอร์ดไปตามงานที่วิ่งเข้ามา, กินอาหารกลางวันที่ร้านป้าเจ้าประจำ – คุณเร่งความเร็วของภาพเคลื่อนไหวบนจอในบางครั้ง แต่สะดุดและลดความเร็วลงจนช้าเชื่องในช่วงบทสนทนากับคนพิเศษ คุณค่อยๆ ฟังบทสนทนาที่เกิดขึ้นแล้วอีกครั้งอย่างตั้งใจ คุณทำอะไรผิดไปกันนะ? เธอจึงโกรธมากมายอย่างนั้น – คุณหวังว่าภาพเคลื่อนไหวของวันนี้จะมีคำตอบ

นี่คือภาพจินตนาการของโลกอนาคตแบบที่ปรากฏในซีรีส์ชุด Black Mirror โลกที่ทุกคนมีเครื่องบันทึกฝังอยู่ภายในตา ลักษณะคล้ายเลนส์แก้ว มันคอยทำหน้าที่บันทึกประสบการณ์ทั้งภาพและเสียงในทุกลมหายใจ เพื่อให้เราสามารถกลับมาพินิจพิเคราะห์ประสบการณ์ที่ผ่านไปแล้วได้อย่างถี่ถ้วน

นอกจากมันเป็นจินตนาการ มันก็ยังเป็นความจริงด้วย!

อย่างน้อยก็เป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับมอสตาฟา “นีโอ” โมเซนแวนด์ ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้

Advertisement

ตั้งแต่เดือนมกราคม มอสตาฟา โมเซนแวนด์ นักศึกษาจาก MIT Media Lab ทำการทดลองกับตัวเองด้วยการสวมใส่กล้องและสายรัดข้อมือเพื่อตรวจสัญญาณชีพ (physiological signal-tracking band) ที่ข้อมือซ้าย ด้วยเวลาประมาณ 3-16 ชั่วโมงต่อวัน และตั้งแต่เดือนมิถุนายน เขาก็สวมอุปกรณ์เพิ่มเข้าไปอีกอย่าง – นั่นคืออุปกรณ์สวมศีรษะเพื่อวัดคลื่นสมอง (EEG) เพื่อที่จะวัด “ตัวแปร” ต่างๆ ของร่างกายได้อย่างละเอียดขึ้น

เขาทำไปทำไม?

ก่อนหน้านี้เราอาจเคยได้ยินคำว่า Lifelogger หรือ “เหล่าผู้บันทึกชีวิต” คำคำนี้มีมานานหลายสิบปีแล้ว เหล่าผู้บันทึกชีวิตคนแรกๆ ยังไม่มีอุปกรณ์ที่เล็กและพรั่งพร้อมความสามารถมากเท่าสมัยนี้ อย่างดีพวกเขาก็ทำได้เพียงสะพายกล้องที่คอยถ่ายรูปทุกๆ 10 หรือ 15 วินาที ร่วมกับเครื่องอัดเสียงเท่านั้น การที่จะคอยวัดคลื่นสมอง อัตราการเต้นของหัวใจ หรือระดับภาวะเหนี่ยวนำไฟฟ้าของผิวหนัง (level of skin conductance) นั้นเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้ สมัยก่อน คุณอาจวัดตัวแปรเหล่านี้ได้ก็จริง แต่ก็ต้องทำผ่านอุปกรณ์ขนาดยักษ์ใหญ่ที่จะมาขัดขวางการดำเนินชีวิตแบบปกติ

Advertisement

ถึงจะเป็นปี 2018 แล้ว – อุปกรณ์ที่มอสตาฟาสวมใส่ก็ไม่ปกตินักหรอกครับ หากคุณเห็นเขาเดินบนท้องถนน คุณอาจจะคิดว่าทำไมตาคนนี้สวมหมวกประหลาดๆ หรือทำไมสะพายแบตเตอรี่อยู่ที่หน้าอก ดูเหมือนคนสติไม่เต็มและอาจไม่อยากเข้าใกล้ แต่อย่างน้อย อุปกรณ์ทั้งหมดก็มีน้ำหนักเบามากพอที่จะทำให้เขาสามารถเดินไปไหนต่อไหน ปั่นจักรยาน และใช้ชีวิตอย่างราบรื่นเป็นส่วนมาก

มอสตาฟา โมเซนแวนด์ คิดว่าการติดตามตัวแปรต่างๆ ร่วมกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของชีวิตของเขา จะทำให้เขาสามารถเข้าใจ “อารมณ์” ได้ดีขึ้น ด้วยการสวมอุปกรณ์เหล่านี้ มอสตาฟาสามารถสร้างวิดีโอย่นย่อประสบการณ์ในแต่ละวันให้เหลือเพียงสองถึงห้านาที โดยวิดีโอนี้จะเล่นตามจังหวะการเต้นของหัวใจของเขา – ซึ่งนั่นทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้ากับความรู้สึกภายในในรูปแบบพิเศษ

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นเรื่องนี้ได้ชัดคือวิดีโอประสบการณ์การชมภาพยนตร์เรื่อง Whiplash (ภาพยนตร์วัยรุ่นตีกลองและความสัมพันธ์ต่ออาจารย์ที่คอยทารุณเขา) ในส่วนที่นำเสนอการตีกลอง วิดีโอเล่นอย่างฉับไวจนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นจังหวะ ในขณะที่เมื่อถึงซีนอารมณ์ อย่างเช่นตอนที่อาจารย์บอกตัวเอกว่า “นายได้รับหน้าที่ตีกลองในงานนี้นะ” วิดีโอกลับเล่นอย่างเชื่องช้าลงราวกับจะค่อยๆ บันทึกซีนนี้ไว้ในความทรงจำ โมเซนแวนด์บอกว่า “ผมก็คงอินกับเรื่องความสัมพันธ์ฉันพ่อลูกนั่นแหละ”

นอกจากถูกใช้เพื่อบันทึกและเข้าใจตนเองแล้ว โมเซนแวนด์ยังคิดว่าการสวมใส่อุปกรณ์เช่นนี้ยังทำให้เขาเข้าใจผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้นด้วย เมื่อเขาย้อนดูวิดีโอบทสนทนากับเพื่อนคนหนึ่ง เขาก็เกิดเข้าใจความต้องการลึกๆ ของเพื่อนคนนั้นขึ้นมา ว่าที่พูดกับเขาเรื่องการสอบนั้น ไม่ใช่การพูดเฉยๆ แต่เป็นการเรียกร้องขอความช่วยเหลืออยู่ลึกๆ เมื่อได้ทบทวน โมเซนแวนด์จึงตัดสินใจโทรศัพท์หาเพื่อนคนนั้นเพื่อนัดติวสำหรับการสอบที่กำลังจะมาถึง

แน่นอน มีบางช่วงที่โมเซนแวนด์ต้องละเว้น ไม่บันทึกหรือต้องถอดอุปกรณ์ออกบ้าง เช่นในตอนที่เขาเข้าห้องน้ำ เขาก็จะหันกล้องไปทางอื่นแทน หรือตอนที่มีเพศสัมพันธ์กับแฟน เขาก็ละเว้นช่วงนั้นไม่บันทึกไว้ในวิดีโอ – เขายังคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของคนอื่นด้วย โดยจะขอบอกเล่าถึงเหตุผลและขออนุญาตคนในพื้นที่ปิดก่อนเดินเข้าไปเสมอ และยังมีอุปกรณ์ที่คอยส่งเสียงเตือนว่าตอนนี้กำลังมีการบันทึกอยู่ หรือได้หยุดบันทึกแล้ว เพื่อบอกให้คนอื่นๆ รับรู้และระวังตัว

นี่คือความพยายามเข้าใจการโต้ตอบสะท้อนกลับของประสบการณ์ภายนอกและประสบการณ์ภายในที่เหล่านักวิจัยหวังว่าจะทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้นในอนาคต

โมเซนแวนด์บอกว่า เขาอาจตัดสินใจติดอุปกรณ์ทุกอย่างเช่นนี้ในทุกวัน จนกระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจ

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image