ความทรงจำที่ผลิตขึ้นจากปฏิบัติการถ้ำหลวง

ถ้าสังคมไทยจะจดจำเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เราควรจะจดจำอะไร?

ตรงกันข้ามกับที่หลายคนคิด ความจำเป็นเรื่องสั่งได้ หรือพูดให้ตรงกว่าคือสร้างเงื่อนไขให้จำอะไร ไม่จำอะไร และอะไรที่ต้องจำนั้น ควรจำอย่างไร

อนุสาวรีย์ที่กำลังจะสร้างขึ้นหน้าถ้ำหลวงเป็นการถาวร กำหนดเนื้อหาของความทรงจำในอนาคตไว้แล้วว่า เหตุการณ์นี้คือวีรกรรมและความเสียสละของคนจำนวนมาก และเหตุการณ์นี้คือความเป็นไทย ความทรงจำแรก แสดงออกด้วยรูปปั้น
จ่าแซมและภาพเขียนทีมผู้ช่วยเหลือหลักๆ อาจเสริมในภายหลังด้วยภาพถ่ายและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งจะนำออกแสดงในอาคาร ความทรงจำอย่างที่สอง แสดงออกด้วยรูปทรงของอาคารที่แสดงความเป็นไทย และความเป็นไทยๆ

(ตามนิยามของคุณประชา สุวีรานนท์ ความเป็นไทยคือลักษณะที่ชนชั้นนำและรัฐเลือกสรรให้เป็นอัตลักษณ์ของคนไทย ส่วนความเป็นไทยๆ คือสิ่งที่คนซึ่งอยู่ต่ำลงมากว่าชนชั้นนำ ได้แก่คนชั้นกลาง เลือกสรรเอาลักษณะเฉพาะในชีวิตประจำวันของคนไทยทั่วไปเป็นอัตลักษณ์ไทย แต่เดิมความเป็นไทยๆ อาจเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านความเป็นไทยซึ่งคับแคบ ตายตัว และเป็นสมบัติของคนกลุ่มน้อย แต่ผมคิดว่าบัดนี้ทั้งสองค่อนข้างจะกลืนเข้าหากันได้เสียแล้ว)

Advertisement

แต่เนื้อหาทั้งสองเรื่องนี้ ผู้สร้างอนุสาวรีย์ไม่ได้เป็นผู้เลือกให้เป็นเนื้อหาของความทรงจำของสังคม สื่อไทยได้พร้อมใจกำหนดมาแต่ต้นแล้วว่า หากการกู้ภัยที่ถ้ำหลวงจะพึงมีความหมายอย่างใดที่จะจดจำ ความหมายนั้นคือวีรกรรมและความเสียสละ กับความเป็นไทยแบบไทยๆ

ฟังดูเหมือนสองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน แต่จริงๆ แล้วสื่อไทยเสนอข่าวให้เกี่ยวกันอยู่ตลอดเวลา ไม่โดยตรงก็โดยนัยยะ

ที่น่าประหลาด คือ สื่อไทยทุกยี่ห้อและในทุก platform ต่างแข่งขันกันเสนอข่าวภายใต้เนื้อเรื่องทั้งสองนี้อย่างเข้มข้น ไม่มีสื่อไทยใดที่มองเห็นเนื้อเรื่องอื่นอีกเลย สื่อไทยเชื่อว่า เนื้อเรื่องทั้งสองนี้เป็นที่ต้องการของลูกค้าไทย จึงจำเป็นต้องกระโจนเข้าไปใน “ตลาด” เดียวกัน เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจของตน แม้แต่ทีวีที่ใช้ทรัพยากรสาธารณะดำเนินงานโดยไม่ต้องคำนึงผลได้ทางธุรกิจ ก็ยังกระโจนเข้าไปไม่ต่างกัน

Advertisement

ทฤษฎีสื่อไทยว่าสื่อคือสินค้าที่ป้อนความต้องการ (จริงหรือเทียม) ของตลาด จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยส่วนที่เป็นลูกค้าของสื่อเกือบทั้งหมด ต่างมองเห็นเนื้อหาสองเรื่องนี้เป็นเนื้อหาหลักของปฏิบัติการถ้ำหลวงแล้ว ดังนั้นอนุสาวรีย์ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นหน้าถ้ำหลวง จึงสอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมไทยใน พ.ศ.2561 อย่างแน่นอน

เหตุฉะนั้น สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้ จึงไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะไปเปลี่ยนความทรงจำเกี่ยวกับถ้ำหลวงของสังคม แต่มุ่งหมายจะชี้ให้เห็นว่า ความทรงจำทั้งหลายนั้นไม่ได้มีมาตามธรรมชาติ หากถูกกล่อมเกลา, เกลี้ยกล่อม, กำกับ และชักใยให้กลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคม หากไม่ตระหนักประเด็นนี้ให้ดี ก็จะไม่สำนึกว่าความทรงจำย่อมมีทางเลือกเสมอ ถ้าเราไม่เลือก คนอื่นก็เลือกให้เรา

วีรกรรมความเสียสละและวีรบุรุษนั้นควรจดจำรำลึก สำนึกบุญคุณ และตอบแทนบุญคุณนั้นอย่างแน่นอน แต่ไม่ควรลืมด้วยว่าวีรบุรุษคืออดีตเสมอ เพราะวีรกรรมที่เขาได้ทำล้วนทำไปแล้วทั้งสิ้น วีรบุรุษจึงไม่มีอะไรเกี่ยวกับอนาคตเลย

แต่ปฏิบัติการถ้ำหลวงเต็มไปด้วยมิติแห่งความหวังและความสดใสของอนาคต หากเลือกที่จะเล่าเรื่องนี้จากมุมมองของอนาคต

ในท่ามกลางความขัดแย้งนานาชนิดที่ดำเนินไปในโลกปัจจุบัน อุบัติภัยถ้ำหลวงดึงเอานานาชาติเข้ามาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด แม้แต่จากประเทศที่กำลังทำสงครามการค้าระหว่างกัน ซ้ำเป็นความร่วมมือที่ไม่เน้นการแข่งขัน ไม่เน้นการเป็นผู้นำ

เช่นทุกฝ่ายยอมรับประสบการณ์ที่เหนือกว่าของนักดำน้ำถ้ำชาวอังกฤษ พวกเขาจึงเป็นผู้วางแผนกู้ภัยในส่วนที่อันตรายสุดสุด โดยเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ผู้คนจำนวนเป็นพันเข้าร่วมมือกันเท่าที่สถานะและความชำนาญของเขาจะทำได้ และมีประโยชน์ต่อการกู้ภัย นักเก็บรังนกจาก จ.ตรัง, ชาวนาบนที่ราบใกล้ถ้ำ, นักวิชาการหลายสาขาวิชา ฯลฯ

ตามปกติแล้ว อุบัติภัยร้ายแรงมักดึงนานาชาติเข้ามาร่วมปฏิบัติการอยู่แล้ว (เช่นภัยสึนามิในไทยและอินโดนีเซีย) แต่ความร่วมมือที่ปลอดการเมืองระหว่างประเทศดังที่เกิดในปฏิบัติการถ้ำหลวงไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก

และที่น่าตื่นเต้นน่าจะเป็นชาวพม่าและชาวลาว

ความทรงจำของคนไทยถูกสร้างให้เห็นพม่าเป็นศัตรูของชาติ (ขนาดนักวิจารณ์ทางทีวีท่านหนึ่ง เพิ่งพูดเมื่อเร็วๆ นี้ว่า โดยธรรมชาติของภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ไทยและพม่าต้องเป็นอริกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!!!) แต่ความกระตือรือร้นของชาวพม่าที่จะช่วยกักน้ำมิให้ไหลลงถ้ำ และส่งอาสาสมัครมาช่วยปฏิบัติงาน ชาวลาวซึ่งความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นของไทยชักให้หมิ่นแคลน กลับอาสาสมัครเข้ามาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับถ้ำที่เขามี

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของความทรงจำใหม่ หากปฏิบัติการถ้ำหลวงจะผลิตความทรงจำสำหรับอนาคตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีงานที่เราต้องทำร่วมกันอีกมากและยาวนานกว่าการกู้ภัยถ้ำหลวง เราทุกประเทศช่วยกันผลิตพลาสติกลงถมทะเลอ่าวสยาม ทำลายระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของอาหารซึ่งเราทุกประเทศต้องพึ่งพาอาศัย โลมาอิรวดีซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์กำลังหมดไปจากโลก หากประชาชนในแถบอิรวดีและน้ำโขงไม่ร่วมมือกัน

ความทรงจำสำหรับอนาคตเช่นนี้ ยังอาจขยายไปเกินภูมิภาคอาเซียน หากสงครามการค้าถูกยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะไม่มีเศรษฐกิจของประเทศใดธำรงอยู่ได้ ต่างต้องพังพินาศลงอย่างย่อยยับเหมือนกัน เป็นผลให้เกิดความสูญเสียชีวิต, สุขภาพ และความสงบสุขของประชาชน โดยเฉพาะตัวเล็กๆ ของประเทศต่างๆ ทั้งโลก หากเราร่วมกันหยุดกระบวนการโลกร้อนไม่ได้ก่อนจะสายเกินไป มิคสัญญีย่อมเกิดขึ้นจนเกินกว่าใครจะมีชีวิตอยู่โดยสงบได้อีกต่อไป

คิดไปเถิด อนาคตของโลกไม่มีที่ให้แก่วีรบุรุษและอัตลักษณ์เฉพาะของใครสักเท่าไร แต่ต้องการพื้นที่ของสปิริตถ้ำหลวงหรือความไว้วางใจเพื่อร่วมแรงร่วมใจกัน ในทุกด้านของชีวิตเราและชีวิตโลก

ปฏิบัติการถ้ำหลวงอาจให้ความหมายได้หลายความหมาย แต่สื่อไทยเลือกเอาความหมายวีรบุรุษและความเป็นไทย นับว่าน่าเสียดายทีเดียว เพราะผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติงานในสนามของไทยนั้นมีความสามารถสูงมาก ผู้ที่หย่อนความสามารถคือหัวหน้าข่าวซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงาน

คนเหล่านี้เคยชินเสียแล้วในการหาความหมายของข่าวอยู่เพียงเรื่องเดียว คือเรื่องที่ตนเชื่อว่า “ขายได้”

ความหมายของข่าวในสื่อไทยจึงวนเวียนอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องตื่นเต้นสนุกสนานที่ตายลงในตัวเหตุการณ์ โดยไม่มีชีวิตเพื่ออนาคตอะไรอีกเลย

หากเราเรียกละครทีวีหลังข่าวว่า ละครน้ำเน่า ข่าวในสื่อไทยก็เป็นข่าว “น้ำเน่า” เช่นกัน

และเพราะข่าวน้ำเน่าเช่นนี้แหละ ปฏิบัติการถ้ำหลวงจึงให้ความทรงจำที่เป็นอดีตโดยไม่สัมพันธ์กับอนาคตแก่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image