ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมื่อมนุษย์อยากรู้….อะไรมันอยู่ใต้บาดาล : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

คําถามที่น่าสนใจข้อหนึ่ง คือ สัตว์อะไรที่ดำน้ำได้ลึกที่สุดและดำน้ำได้นานที่สุด…?

ในปี พ.ศ.2557 หน่วยงานชื่อ PLOS ONE ตีพิมพ์ผลงานวิจัยโดยการใช้เครื่องส่งสัญญาณติดที่ลำตัววาฬ 8 ตัว แล้วเฝ้าตามการเคลื่อนที่ของเหล่าวาฬโดยดาวเทียม งานวิจัยใช้ในพื้นที่มหาสมุทรทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ผลปรากฏว่าวาฬตัวที่ดำน้ำลึกที่สุดดำลงไปลึกถึง 2,992 เมตร (ราว 3 กิโลเมตร) และเจ้าวาฬตัวที่อยู่ใต้น้ำนานที่สุดจากการหายใจครั้งเดียว คือ 137 นาที นับเป็นสถิติการดำน้ำนานและลึกที่สุดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

วาฬ เป็นสัตว์ที่สูดหายใจเข้าเพียงครั้งเดียวแล้วสามารถกลั้นหายใจได้นานที่สุด ดำน้ำได้ลึกที่สุด

วาฬ ที่ดำน้ำลงลึกได้ขนาดนี้ จะต้องเผชิญกับ 2 สิ่ง คือ แรงกดดันของน้ำมหาศาลที่ลำตัวของมัน และการกลั้นหายใจที่ยาวนาน

Advertisement

เพื่อเป็นข้อมูลคุยกันสนุกๆ นะครับ… นักวิทยาศาสตร์เคยทำการสำรวจสัตว์ทั้งหลายที่เก่งกาจการดำน้ำในทะเลเปิด พบว่าสัตว์ 5 ชนิดที่เชี่ยวชาญการดำน้ำ คือ

นกเพนกวิน (Emperor Penguin) สามารถดำลงไปล่าเหยื่อในน้ำได้ลึกราว 535 เมตร

เต่า (Leatherback Turtle) ที่ชอบกินแมงกะพรุน เจ้าเต่าพันธุ์นี้ ดำน้ำลงไปกินเหยื่อได้ลึก 1,280 เมตร

Advertisement

แมวน้ำ (Elephant Seal) มีข้อมูลว่า เจ้าแมวน้ำสามารถดำน้ำลงไปได้ลึกถึง 2,388 เมตร หายใจครั้งเดียว แล้วดำน้ำได้นานที่สุด คือราว 100 นาที

วาฬ (Sperm Whale) สัตว์ที่มีความยาวลำตัวราว 20 เมตร สัตว์นักล่าที่มีฟันใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับการบันทึกข้อมูลว่า นักล่าเจ้าสมุทรพันธุ์นี้ ดำน้ำได้ลึกราว 2,250 เมตร

วาฬ (Beaked Whale) ถือว่าเป็นแชมป์การดำน้ำลึกที่สุดและนานที่สุด คือ 2,992 เมตร ดำได้นาน 2 ชม. 17 นาที

มาคุยกันเรื่องของมนุษย์ ที่พยายามจะใช้ชีวิตในน้ำบ้างครับ

“มนุษย์กบ” ศัพท์คำนี้มาจากภาษาอังกฤษ “Frogman” แปลตรงตัวครับ เพราะคนบนโลกใบนี้เห็นว่า “กบ” เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้ดี อยู่แบบครึ่งบก-ครึ่งน้ำก็ดี อยู่บนบกก็ได้ ดังนั้น คนที่ทำได้แบบนั้นควรจะเรียกว่า มนุษย์กบ แต่ถ้าจะเรียกให้เป็นทางการ คือ “นักประดาน้ำ”

ภาพเก่า…เล่าตำนานตอนนี้ ขอขุดประวัติการดำน้ำของมนุษย์ราว 5 พันปีที่แล้วครับ

เป็นเวลากว่า 5 พันกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พยายามที่จะสำรวจ แสวงหาสิ่งที่อยู่ใต้น้ำ มองหาพืช-สัตว์ ต่อมามนุษย์มีความต้องการลงไปในน้ำเพื่อเก็บกู้ซากสิ่งของใต้น้ำ ทั้งในแม่น้ำลำคลอง และท้องทะเล ต้องการเก็บกู้วัตถุมีค่าจากซากเรืออับปาง การดำน้ำเพื่อการทำสงคราม และดำน้ำเพื่อการค้นคว้าวิจัย

จุดกำเนิดของการดำน้ำนั้น สันนิษฐานว่ามีมานานก่อนยุคโรมัน เป็นการดำน้ำบริเวณพื้นที่ตื้นที่ความลึกไม่เกิน 100 ฟุตเท่านั้น

บันทึกเป็นทางการระบุว่า กษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช มีบัญชาให้คิดวิธีการที่จะลงไปสำรวจใต้น้ำให้ได้ ในช่วงแรก สร้างวัตถุมีรูปร่างเหมือน “ตะกร้า-หม้อต้ม” หย่อนลงไปในทะเล เรียกว่า “โคลิมฟา” (Colimpha)

ในเวลาต่อมา จึงพัฒนาเป็นโลหะครอบศีรษะ มีท่ออากาศต่อลงไปในน้ำ สิ่งประดิษฐ์นี้แพร่หลายไปถึงดินแดนเปอร์เซีย (ปัจจุบันคือ อิหร่าน) ที่นักดำน้ำชาวกรีก ชื่อ ซิลีอัส (Scyllias) และลูกสาวชื่อ ซีญานา (Cyana) นำไปใช้ดำน้ำเพื่อค้นหาทรัพย์สมบัติจากเรือที่อับปางในทะเล และนำไปถวายแด่กษัตริย์เปอร์เซีย เธอเชี่ยวชาญมีความสามารถในการดำน้ำในทะเลลึกได้นานกว่า 2 นาที

ในช่วงเวลานั้น เปอร์เซียเป็นมหาอำนาจทางทะเล มีกิจการเดินเรือค้าขายไปค่อนโลก การดำน้ำลึก มีแรงบันดาลใจจากการการเก็บกู้ สินค้าประเภทแก้ว แหวน เงิน ทอง ของมีค่า และนักดำน้ำก็จะได้ส่วนแบ่งจนร่ำรวยตามๆ กัน

กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ ทรงหลงใหลการลงไปสำรวจท้องทะเลยิ่งนัก ต่อมาพระองค์ลงไปใน “ครอบแก้วที่หุ้มด้วยโลหะ” แล้วใช้โซ่หย่อนลงไปในทะเลลึกราว 600 ฟุต

นอกจากนี้ ได้มีการปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับบันทึกการดำน้ำครั้งแรกของทหารเรือชาวกรีกเมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล ที่ได้ต่อสู้กับกองกำลังทหารชาวเปอร์เซียของกษัตริย์เซอซิส นักดำน้ำของกรีกสามารถดำน้ำไปลักลอบตัดเชือกสายสมอเรือของกองเรือข้าศึกได้สำเร็จ

รายละเอียดทางเทคนิค เรื่องอากาศหายใจ แรงดันน้ำ มิได้มีบันทึกไว้ แต่ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการดำน้ำยกย่องว่า จีน คืออีกชนชาติหนึ่งที่ไม่เป็นสองรองใครในการประดิษฐ์อุปกรณ์ดำน้ำ

ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ติดทะเล มีเรือสินค้า ต่างแข่งขันกันเรื่องการสำรวจท้องทะเล หาทางที่จะปกปิดการเดินทางใต้ผิวน้ำ และในที่สุดกลายเป็นพัฒนาศักยภาพเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ เพื่อการสงคราม

พ.ศ.2163 ยานดำน้ำลำแรก ที่กล้าเปิดตัวแสดงความสำเร็จต่อสายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก ผลิตโดยชาวดัชต์ (เนเธอร์แลนด์) นายคอนีลิอุส แวน เดรบเบล (Cornelius Van Drebbel) ยานลำนี้ทำด้วยไม้ บรรทุก 12 ฝีพาย รวมลูกเรือและฝีพายเป็น 20 คน ไปดำน้ำโชว์ในแม่น้ำเทมส์ มหานครลอนดอน ดำได้ลึก 20 เมตร

ยานดำน้ำลำนี้ สร้างกระแสฮือฮา อิจฉาตาร้อนที่ประเทศมหาอำนาจ จะต้องแข่งขันกันลงไปสำรวจใต้น้ำให้จงได้

พ.ศ.2258 นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษชื่อ จอห์น เลธบริดจ์ (John Lethbridge) คิดค้นเครื่องมือดำน้ำเป็นเครื่องแรก ซึ่งยังคงใช้ถังไม้โอ๊กบรรจุอากาศ ต่อท่อลงไปทำงานค้นหาเรือที่จมใต้น้ำ รางวัลชิ้นใหญ่ที่ได้รับ คือ การดำน้ำลงไปเก็บกู้ “แร่เงิน” หนัก 3 ตันในเรือสินค้าของดัชต์ที่จมอยู่

นวัตกรรมที่พลิกโฉมการดำน้ำ คือ จอห์น สเมตัน ประดิษฐ์ปั๊มอัดอากาศลงไปในท่อให้นักประดาน้ำ ตามด้วยนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสที่คิดทำขวดอากาศติดตัวนักประดาน้ำ

มีพัฒนาการไม่หยุด เริ่มมีครอบศีรษะเป็นโลหะ มีกระจกมอง มีชุดดำน้ำที่หนักอึ้ง มีขวดอากาศ ทำให้นักประดาน้ำเคลื่อนไหวได้เป็นอิสระ ไม่ต้องยึดกับท่ออากาศจากบนฝั่ง แพทย์เริ่มศึกษาผลของสภาพร่างกายเมื่อลงไปในน้ำลึก เรียนรู้และพบอันตรายจากสภาวะฟองอากาศในกระแสโลหิต และกลุ่มอาการที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

นักประดิษฐ์แข่งขันกันเอาเป็นเอาตาย เพื่อจะหาวิธีให้มนุษย์สามารถลงไปหายใจในน้ำให้ได้

แล้วมนุษย์ที่ “เกิดมาเป็นมนุษย์กบ” ตามธรรมชาติมีบ้างมั้ย ผู้เขียนขออ้างอิงจาก นสพ. The Guardian
ดังนี้ครับ

แน่นอนที่สุด …คนที่ใช้ชีวิตใกล้แม่น้ำลำคลอง หนอง บึง คนที่อาศัยบนแพในน้ำ คนที่อยู่ติดทะเล ชาวเกาะ ย่อมต้องมีสัญชาตญาณที่จะเอาตัวรอด ว่ายน้ำเก่ง

ชาวบาจาว (Bajau) ชนเผ่าเร่ร่อนในทะเล ที่อาศัยทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เป็นนักดำน้ำโดยกำเนิด สามารถกลั้นหายใจได้เป็นระยะเวลานานกว่าปกติ ขณะที่ดำน้ำลึกมากกว่า 10 เมตรเพื่อลงไปหาปลาในทะเล ชนเผ่านี้ใช้หน้ากากไม้ และการหายใจเอาอากาศเพียงครั้งเดียว รวมทั้งไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ

นักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัย ว่าทำไมชาวทะเลเร่ร่อนเผ่านี้จึงดำน้ำอึด ทนนาน โดยการตรวจร่างกายและอวัยวะภายใน โดยเปรียบเทียบกับชีวิตของ “แมวน้ำ” ที่สามารถดำน้ำได้นาน เนื่องจากแมวน้ำมีม้ามที่ใหญ่ “ม้าม” ทำหน้าที่เก็บเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ลำเลียงออกซิเจน เมื่อวัดขนาดม้ามของชาวทะเลเผ่าบาจาว จำนวน 43 คน แพทย์เปรียบเทียบกับขนาดม้ามของชนเผ่าอื่น

แพทย์พบข้อมูลว่า “ม้าม” ของชาวบาจาวมีขนาดใหญ่กว่าม้ามของชนเผ่าอื่นๆ ที่อาศัยบนบกเกือบเท่าตัว ม้ามที่ใหญ่ทำให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ และปอด มากขึ้น ทำให้ชาวบาจาวสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้นนั่นเอง

ไปดูข้อมูลที่ “เกาะเจจู” เกาหลีใต้ ดินแดนของ “นักดำน้ำหญิง” จอมอึด ฮึดสู้ ที่ไม่ค่อยมีใครทราบครับ

“เกาะเจจู” คือจังหวัดที่เล็กที่สุดของเกาหลีใต้ ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของเกาหลีประมาณ 130 กิโลเมตร และเนื่องจากเกาะเจจูมีลักษณะภูมิประเทศบนเนินภูเขาไฟ จึงทำให้มีสภาพอากาศที่หลากหลายและภูมิทัศน์ที่สวยงาม

แทบไม่น่าเชื่อว่า ผู้หญิงแห่งเกาะเจจูถือว่าเป็น 1 ใน 3 ของสัญลักษณ์ประจำเกาะ เนื่องจากว่าในสมัยอดีตนั้น ผู้ชายเกาะเจจูจะมีหน้าที่ปกป้องประเทศ ต้องไปเป็นทหารกันหมด จึงทำให้บทบาทของผู้หาเลี้ยงครอบครัวนั้นตกเป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่เรียกว่า “เฮนยอ” (Haenyeo) หรือ “นักดำน้ำหญิงหาปลา”

การดำน้ำตัวเปล่าในท้องทะเลที่เย็นเฉียบ เป็นอาชีพหลักของผู้หญิงทุกคนบนเกาะนี้ วิธีการหาปลาของพวกเธอนั้น จะต้องดำลงไปในน้ำทะเลพร้อมกับเป่าปากเป็นเสียงนกหวีดไปด้วยเป็นเวลาประมาณ 2 นาที ในความลึกกว่า 20 เมตรต่อครั้ง โดยปราศจากถังออกซิเจน และมีเพียงแค่สายผูกที่ยึดติดเอาไว้กับเรือเท่านั้น

….ในอดีตมนุษย์เชื่อว่าใต้ทะเลลึกนั้น จะไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่แน่นอน เพราะหนาวเย็นจัด มืดทึบ ไม่มีแสงแม้แต่น้อย จนกระทั่งช่วง พ.ศ.2415-2419 เรือขุดเจาะได้นำสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกขึ้นมาให้ได้เห็นกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งพืชและสัตว์

ใน พ.ศ.2503 นักวิทยาศาสตร์ผลิตยานสำรวจน้ำลึกพลังสูง ชื่อ ตรีเอสเต ลงไปสำรวจที่ก้นสมุทร “มาเรียนา” ใกล้กับเกาะกวม ในระดับความลึกราว 10 กิโลเมตร ซึ่งลึกที่สุดในโลกเพื่อเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต ซึ่งสัตว์และพืชบางชนิดอยู่ได้

ความดันในแม่น้ำลำคลอง ในบ่อ ในทะเลลึกนั้นอันตรายต่อมนุษย์มาก ซึ่งความกดดันในทะเลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บรรยากาศทุกๆ 10 เมตร ยิ่งมีความลึกมากความดันก็ยิ่งมาก

ความอึดอัด อันตรายเฉียบพลันที่เกิดจากการดำน้ำ

นํ้าในทะเลมีความดันมากกว่าน้ำในแม่น้ำลำคลองหรือน้ำในสระ เพราะน้ำทะเลมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำธรรมดา เช่น ที่ผิวน้ำทะเลจะมีความดัน 1 บรรยากาศ ที่ระดับลึกประมาณ 10 เมตร ความดันจะมีค่ามากถึง 2 บรรยากาศ และที่ระดับลึก 20 เมตร ความดันจะมีค่าประมาณ 3 บรรยากาศ

การมีความดันที่ค่อนข้างมากนี้ ทำให้เวลาคนลงดำน้ำ จึงต้องมีอุปกรณ์หายใจใต้น้ำ (snorkel) โดยให้ความยาวของอุปกรณ์สั้นกว่า 1 เมตร เพื่อให้กล้ามเนื้อปอดแข็งแรงพอจะต้านความดันของน้ำได้

ส่วนเรือดำน้ำก็ต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรงมากเพื่อต้านแรงดันของน้ำขณะเรือดำลึก เช่น ที่ระดับลึก 500 เมตร ความดันของน้ำจะมากถึง 50 เท่าของความดันบรรยากาศ

ภาพยนตร์สงครามเกี่ยวกับเรือดำน้ำที่ประสบเหตุ ต้องหนีเรือข้าศึกดิ่งลงสู่ก้นทะเล จะมีภาพเหตุการณ์ที่ลูกเรือทุกคนจะนิ่ง เครียด ตระหนก กลัวตาย เพราะเรือดำน้ำอาจจะแตกจากแรงบีบมหาศาลของน้ำทะเลที่บีบเข้ามาเหมือน “อุ้งมือปีศาจ” ซึ่งเรื่องจริงก็เป็นเช่นนั้น

แพทย์เปิดเผยข้อมูลว่า สาเหตุหลักที่ทำให้มนุษย์มีความสามารถจำกัดในการดำน้ำลึกได้ไม่นาน เพราะมนุษย์ต้องการออกซิเจนตลอดเวลา แต่ในน้ำลึกที่มีความดันสูงมาก ร่างกายคนไม่มีอวัยวะที่สามารถดูดซับออกซิเจนจากน้ำได้ และยังพบอีกว่า ความดันในน้ำลึกจะบีบอัดปอด จนทำให้คนที่อยู่ใต้น้ำหายใจลำบาก

นักดำน้ำทั้งหลายจะได้รับการสั่งสอนเสมอว่า เวลาที่เราทะยานตัวขึ้นผิวน้ำ ให้ค่อยๆ ลอยตัวขึ้นมา มิฉะนั้นเราอาจประสบปัญหาเป็นลมหน้ามืด เพราะความเข้มข้นของออกซิเจนที่มีในร่างกายในเวลานั้น มีน้อย ซึ่งมีผลทำให้ออกซิเจนที่จะไหลไปเลี้ยงสมองลดปริมาณลงด้วย และสถิติความตายในการดำน้ำก็แสดงชัดว่าอุบัติเหตุสำหรับนักดำน้ำส่วนใหญ่เกิดขณะลอยตัวขึ้น บ่อยยิ่งกว่าเวลาดำลงในน้ำ

เรื่องของการดำน้ำในอดีตของสยามแต่โบราณกาล

เกร็ดประวัติศาสตร์ที่พอจะนำมาพูดคุยกัน เป็นเรื่องจริงที่คนโบราณนำเรื่องของ “การดำน้ำ” ไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม การดำน้ำเป็น “พิธีกรรม” เพื่อพิสูจน์ ใครถูก-ใครผิด ?

ตั้งแต่สมัยอยุธยาในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วย กฎหมายตราสามดวง เมื่ออยุธยาเสื่อมอำนาจ กฎหมายนี้เลือนรางและได้สูญหายไป

ครั้นต่อมาสมัยในหลวง ร.1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการชำระกฎหมายครั้งใหญ่ โดยเขียนลงในสมุดข่อยและประทับตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และพระบัวแก้ว ไว้บนปกกฎหมายทุกฉบับเป็นสำคัญ

กฎหมายตราสามดวงนั้น ประกอบด้วยกฎหมายต่างๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น 27 ฉบับ และหนึ่งในนั้น คือ กฎหมายดำน้ำลุยเพลิง

ในยุคสมัยนั้น มีคดีความ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฉกชิง วิ่งราว ฆาตกรรม ชู้สาว เรื่องของการไต่สวน ทวนความ การสืบสวน สอบสวน การพิสูจน์หลักฐาน วัตถุพยาน พยานบุคคล เป็นเรื่องที่ผู้คนทั้งหลายยังไม่มีหลักเกณฑ์ หลักการใดๆ

แม้กระทั่งในทวีปยุโรป ที่มีการศึกษา เจริญก้าวหน้ากว่าดินแดนอื่นๆ ในโลก ก็ยังต้องขอพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เข้ามาช่วยตัดสินคดีความ ด้วยความเชื่อมั่นว่าพระผู้เป็นเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะปกป้องคุ้มครองคนดีเสมอ คนดีจะได้รับการคุ้มครองจากพระเจ้า การทำความผิดถึงแม้จะไม่มีผู้รู้เห็น ไปแอบทำในที่ลับหูลับตา พระผู้เป็นเจ้าจะเห็น

หลักการความเชื่อในแนวนี้ หลายชนเผ่ายึดถือ และนำไปใช้เพื่อ “พิสูจน์หาความจริง” โดยจะใช้เป็นมาตรการสุดท้าย ที่จะตัดสินแพ้-ชนะ ถูก-ผิด ระหว่างคู่ความที่ขัดแย้ง

ชาวสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีหลักการที่ไปเกี่ยวข้องกับการดำน้ำ ที่ผู้เขียนขอคัดลอกมาจากเอกสารของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ดังนี้ครับ…

Stich, Abbildung, gravure, engraving from P. Broux : ca 1870

“คำว่า พิสูท อาจมาจากคำว่า พิสูทธิ หรือ วิสุทธิ์, วิศุทธิ์ ซึ่ง สุท หมายถึง ทำให้ทราบ ทำให้บริสุทธิ์ หรือสุทธ หมายถึง ทำให้สะอาดแล้ว ซึ่งโดยปริยายคือ การล้างมลทิน ตามที่ปรากฏในลักษณะพิสูจน์มีอยู่ 7 ประการ คือ 1.ล้วงตะกั่ว 2.สาบาน 3.ลุยเพลิงด้วยกัน 4.ดำน้ำด้วยกัน 5.ว่ายขึ้นน้ำแข่งกัน (ว่ายทวนน้ำ: ผู้เขียน) 6.ว่ายข้ามฟากแข่งกัน และ 7.ตามเทียนคนละเล่มเท่ากัน

การดําน้ำเพื่อตัดสินคดีความนั้น มีบันทึกว่า… เมื่อเริ่มพิธี เจ้าหน้าที่จะบริกรรมบทสวดเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเป็นพยาน… จะให้คู่กรณีดำน้ำที่สระมีความลึกไม่เกินหนึ่งท่วมตัว ลงไปในน้ำแล้วฝ่ายใดที่ผุดขึ้นมาก่อนคือ ผู้แพ้”

คติของคนโบราณเชื่อว่า ขณะที่คู่กรณีดำน้ำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมาดลบันดาลให้ความจริงปรากฏ ฝ่ายที่ไม่บริสุทธิ์จะกลั้นหายใจในสระน้ำได้น้อยกว่า และขณะทำพิธี เชื่อว่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยให้ฝ่ายที่บริสุทธิ์กลั้นหายใจได้นานกว่า และชนะการพิสูจน์”

ย้อนกลับมาเรื่องการว่ายน้ำ ดำน้ำ ที่คนไทยให้ความสนใจเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงขุนน้ำ-นางนอน เชียงราย เหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตและความสูญเสีย อุบัติเหตุอีกหลายครั้งจากการจมน้ำ

ถ้ามีโอกาส ควรฝึกหัดตนเอง ฝึกหัดลูกหลาน ให้ว่ายน้ำให้เป็น เพื่อช่วยตัวเองให้ได้ แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ ทะเล ก็เป็นสถานที่ฝึกหัดได้ แต่ต้องมีคนกำกับดูแล มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต

นักเรียน นักศึกษาทั้งหลาย น่าจะต้องสอบว่ายน้ำเป็นวิชาบังคับ ควรจะต้องว่ายน้ำตัวเปล่าได้ในระยะทางเท่าใด ควรลอยตัวในน้ำได้นานเท่าใด เป็นสิ่งที่ต้องหันมาใส่ใจ ฝึกหัดการว่ายน้ำ

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า เด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ยปีละ 1,100 คน ที่น่าตกใจคือ เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ว่ายน้ำเป็นแค่ 23.7% และมีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ มีทักษะการเอาชีวิตรอด และทักษะการช่วยเหลือเพียง 4.4% เท่านั้น…

ข้อมูลจาก : Mystery of sea nomads’ amazing ability to freedive is solved : Nicola Davis และ scubadiverlife.com

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image