สุจิตต์ วงษ์เทศ : เพลงรำวง สงกรานต์สุวรรณภูมิ

สงกรานต์ต้องเล่นเพลงรำวง เป็นของคู่กันตามความเข้าใจของสังคมยุคนี้
รำวง เป็นงานสร้างสรรค์ต่อยอดจากรำโทน เพิ่งมีในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ราว พ.ศ. 2487
กรมศิลปากรดัดแปลงรำโทน ใส่ท่ารำที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่จากนาฏศิลป์พื้นฐาน แล้วใช้เครื่องดนตรีตะวันตกบรรเลง แต่งเนื้อเพลงปลุกใจที่มีทำนองสนุกสนานประกอบท่ารำ เรียกรำวงมาตรฐาน
ประชาชนนิยมรำวงเพื่อความสนุกสนาน รำเต้นไปตามลีลาที่ตนถนัดโดยไม่ต้องให้ความสำคัญท่ารำมากนัก อีกทั้งยังคิดเพลงประกอบได้ตามใจชอบ
ดังนั้นเพลงรำวงและท่ารำวงจึงเกิดขึ้นมากมายหลายหลากตามความชอบของแต่ละกลุ่ม แล้วแพร่กระจายถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทุกวันนี้ในไทยนิยมรำวงย้อนยุค
รำโทน หมายถึง ฟ้อนระบำรำเต้นเข้ากับกลองโทน (มาจากคำแขกว่า โทฬะ) ที่ตีเป็นจังหวะสนุกสนาน เป็นการละเล่นของชาวบ้านดึกดำบรรพ์ทั้งสุวรรณภูมิหลายพันปีมาแล้ว นับเป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน
กลองโทนมีทั่วไปทุกชาติพันธุ์ในอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลสมุทร แล้วใช้ตีประกอบฟ้อนรำทุกกลุ่มทุกเหล่าเผ่าพันธุ์
ชาวบ้านยุคอยุธยาตีโทนเล่นเพลงรำเต้นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะตอนเย็นแดดร่มลมตก มีเอกสารชาวยุโรปบันทึกว่าตอนเย็นได้ยินเสียงกลองตามหมู่บ้าน
จังหวะ หรือหน้าทับของรำโทนส่งต่อให้รำวง เป็นที่รู้กันว่า ป๊ะ ป๊ะ โท่น โท่น เป็นอย่างเดียวกับจังหวะเขมร และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจังหวะตะลุงที่ตกค้างทางภาคใต้ของไทย
คนยุคอยุธยาสายแหรกหลัก คือ ตระกูลไทย-ลาว ปนตระกูลมอญ-เขมร ดนตรียุคอยุธยาจึงมีจังหวะ (หน้าทับ) เขมรเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งในจำนวนหลายๆ อย่างประกอบการละเล่นละครนอก (คือโนราชาตรี) และหนังตะลุง
แล้วแพร่ลงไปตกค้างอยู่ทางภาคใต้เรียกโนรา กับหนังตะลุง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image