การเมืองไทยหลังสงกรานต์ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติยืนยันให้มีคำถามพ่วง พ่วงไปกับตัวร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองไทยหลังสงกรานต์ต่อไปจนถึงวันลงประชาติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น

แม้กลไกรัฐ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กกต. สนช. สปท. จะพยายามช่วยกันทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับตัวร่างรัฐธรรมนูญ กับคำถามพ่วงที่เพิ่มขึ้นมาอย่างไรก็ตาม คงช่วยลดความตึงเครียดลงได้ไม่เท่าไหร่

เพราะเพียงลำพังตัวร่างรัฐธรรมนูญก็มีประเด็นโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดอ่อน โดยเฉพาะที่มาของวุฒิสมาชิก นายกรัฐมนตรี กับการแก้ไขทำได้ยาก ฯลฯ เมื่อมาเจอกับคำถามพ่วงที่ให้อำนาจวุฒิสมาชิกเพิ่มมากขึ้นไปอีกมีสิทธิโหวตตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยแล้ว ทำให้ภาระการชี้แจงของฝ่ายสนับสนุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

แม่น้ำ 5 สาย จึงต้องระดมกลไกรัฐทุกกระทรวง ทบวง กรม กองทัพ ทหาร ตำรวจ พลเรือน จนถึงแขนขา อย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร ทำทุกวิถีทางให้ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านการลงประชามติ

Advertisement

แต่ขณะเดียวกัน อีกฝ่ายหนึ่งที่แสดงท่าทีคัดค้าน ทั้งจากพรรคการเมืองใหญ่ องค์กรภาคประชาสังคม จำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย และไม่ได้รับคำตอบชัดเจนว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติแล้ว ประเทศไทยจะพบเจอกับอะไร รัฐธรรมนูญฉบับใดอีก หน้าตาเป็นอย่างไร

สถาพการณ์เช่นนี้ สาระก็คือการเผชิญหน้า การปะทะทางความคิดและผลประโยชน์ระหว่างสองฝ่าย

แม้ฝ่ายสนับสนุนจะพยายามสกัดกั้นไม่ให้มีการรณรงค์ ไม่รับรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าขัดกฎหมายการลงประชามติก็ตาม

Advertisement

แนวโน้มการลงประชามติของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะเทไปทางไหนระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายคัดค้าน กลุ่มชี้ขาดอยู่ที่คนตรงกลางที่มีจำนวนมากสุด ซึ่งแบ่งความคิดออกมาเป็นสามกลุ่มย่อย

กลุ่มแรก รับเพราะเห็นดีเห็นงาม เห็นด้วยกับเหตุผลของฝ่ายสนับสนุน

กลุ่มสอง รับเพราะต้องการให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามเวลาโรดแมป กลางปี 2560 หากไม่รับก็จะต้องเลื่อนออกไป แม้จะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาและคำถามพ่วงก็ตาม

กลุ่มสาม ไม่รับโดยสิ้นเชิงเพราะรับไม่ได้กับตัวร่างและคำถามพ่วง กลุ่มนี้ไม่สนใจว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปหรือไม่ เมื่อไหร่ไม่สำคัญ ตราบใดที่เนื้อหารัฐธรรมนูญมีปัญหาถึงอย่างไรก็รับไม่ได้

การเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไหร่เป็นภาระความรับผิดชอบของ คสช. และรัฐบาลที่ไปรับปากกับนานาชาติทั่วโลกแล้วว่าจะมีขึ้นในปี 2560 ภาวะความกดดันจึงตกหนักที คสช.และแม่น้ำอีก 4 สายมากกว่า

ระหว่างคนสามกลุ่ม กลุ่มแรก รวมกับกลุ่มสอง เมื่อเทียบกับกลุ่มสาม รวมเข้ากับกลุ่มที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยทั้งเนื้อหาและคำถามพ่วงแล้ว แนวโน้มการลงประชามติจะออกมาอย่างไร จึงไม่น่าอ่านยาก

ฉะนั้นยิ่งใกล้ถึงวันลงประชามติ สถานการณ์ความขัดแย้งยิ่งจะแหลมคม ความเสี่ยงต่อการลงประชามติ ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

แต่เพราะความเชื่อของฝ่ายสนับสนุนที่ว่า ความคิดของตัวเอง ถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศมากกว่าฝ่ายคัดค้าน

ฝ่ายสนับสนุนจึงพยายามเดินหน้าเต็มสูบ ภายใต้คำประกาศความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง ยุคปฏิรูป 5 ปี 20 ปี

แต่ความเป็นจริงของการเมือง ไม่ใช่เรื่องแค่ปรารถนาดีหรือไม่ปรารถนาดี ดีหรือเลวกว่ากัน เพราะไม่ว่าใคร ทั้งสนับสนุนหรือคัดค้าน ต่างล้วนกล่าวอ้างความรัก ความหวังดีต่อชาติและประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น

การเมืองเป็นเรื่องของความชอบธรรม ความเป็นตัวแทน ความเสมอภาค อิสรภาพ เสรีภาพ เลือกตั้ง กับลากตั้ง อำนาจต่อรองที่ควรจะทัดเทียมกัน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หรือเป็นของคนบางกลุ่ม คิดว่าตัวเองเก่งกว่า ถูกต้องกว่า รักและเสียสละต่อส่วนรวมมากกว่า ผู้แทนที่ราษฎรเลือกมาใช้การไม่ได้

ครับ ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ทางแยกที่สำคัญอีกวาระหนึ่ง

สถานการณ์เที่กำลังพัฒนาไปเช่นนี้ จะทำให้ความปรองดอง สมานฉันท์กลับคืนมา หรือยิ่งแตกแยก ขัดแย้งยิ่งกว่า

ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจ การค้า การขาย การส่งออก ยังไม่กระเตื้องขึ้น การท่องเที่ยวยังพอไปไหว แต่ราคาพืชผลทางการเกษตร ภัยแล้ง น้ำแห้ง ยังวิกฤต

การเมืองกำลังวิกฤต หรือสว่างไสว โชติช่วงชัชวาล คือคำถามแห่งยุคสมัย

สรุป ประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการอะลุ้มอล่วย ประนีประนอม อยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความแตกต่าง ไม่ใช้อำนาจเป็นใหญ่ ไม่มีใครได้ฝ่ายเดียวทั้งหมด อีกฝ่ายหนึ่งสูญเสียทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image