พร้อม-ไม่พร้อม โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

อาวุธสำคัญในการห้ำหั่นทางการเมือง คือข้อมูลข่าวสาร ชุดคำพูด วาทกรรม ที่พิสูจน์แล้วว่ามีอานุภาพอย่างไม่น่าเชื่อ

เรื่องจริงก็อย่างหนึ่ง แต่บางเรื่องเอามาใส่สีตีไข่ แต่งเติม ฉายซ้ำกรอกหูบ่อยๆ อาจบดขยี้ฝ่ายตรงข้ามให้พังพินาศได้อย่างไม่น่าเชื่อ

พระเอกกลายเป็นผู้ร้าย และผู้ร้ายอาจเป็นพระเอกได้ง่ายๆ

ศึกวาทกรรมเพื่อเอาชนะทางการเมือง มีตัวอย่างมากมายจากประวัติศาสตร์

Advertisement

แพร่ข่าวลือ ตะโกนในโรงหนัง จนถึงโพสต์ในอินเตอร์เน็ต

อย่างเมื่อตอนชัตดาวน์กรุงเทพฯ ที่มีการขับไล่รัฐบาลเพื่อไทย เกิดกระแสพูดถึงการเมืองไทยว่าจะเอายังไงกัน

เกิดคำพูดเท่ๆ ว่า “ฮิตเลอร์ก็มาจากเลือกตั้ง” เพื่อจะบอกว่า การเมืองเลือกตั้งที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยก็เคยสร้างผู้นำที่เลวร้ายที่่สุดมาแล้ว

Advertisement

เวลาผ่านไป มีผู้นำข้อมูลมาตีแผ่ ก่อนจะกลายเป็นหนังสือ “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง” แต่การเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

อีกตัวอย่างคลาสสิก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลง 24 มิ.ย.2475 ที่มีการอธิบายว่าเป็นแค่เกมอำนาจเฉพาะกลุ่ม ชิงสุกก่อนห่าม ประเทศยังไม่พร้อม ชาวบ้านไม่รู้เรื่องด้วย

ข้อมูลชุดนี้ ถูกปลูกฝังมาตลอดอายุของประชาธิปไตยไทย ในรูปแบบต่างๆ ไม่นานมานี้ยังมีสารคดีทำออกอากาศทางโทรทัศน์เลยทีเดียว

เชื่อกันจริงๆ จังๆ และนำไปสู่ความเชื่ออื่นๆ อย่างเช่น ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศไทย ประเทศไทยไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย

หนังสือ “ราษฎรสามัญ หลังวันปฏิวัติ 2475” โดย ศราวุฒิ วิสาพรม ได้รวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงมากมาย ทำให้เห็นภาพก่อนและหลังวันประวัติศาสตร์ดังกล่าวอย่างชัดเจน

คำกล่าวที่ว่าประชาชนไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วย หนังสือเล่มนี้ระบุว่า ส่วนหนึ่งมาจากผู้ก่อการ 2475 บางท่านได้เขียนเป็นบันทึกความทรงจำเอาไว้ ก่อนถูกนำไปย้ำแล้วย้ำอีก

แต่มีข้อมูลหักล้างจากคนร่วมสมัยเดียวกันอีกมากที่ระบุว่า ประชาชนสนใจและเข้าร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นอย่างคึกคัก

แน่นอนว่าคงไม่ใช่คนไทยทุกคน แต่ในสัดส่วนที่ถือได้ว่า เป็นพลังสนับสนุนให้ระบบใหม่เดินหน้าต่อไปได้

สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ แพร่กระจายอยู่ในตราประจำวัดวาอาราม เทศบาล หน่วยงาน แม้กระทั่งสินค้าในยุคนั้น

“คณะราษฎร” อันเป็นองค์กรของผู้ก่อการในครั้งนั้น ได้ส่งตัวแทนออกไปชี้แจงระบบใหม่ ต่อประชาชนกลุ่มต่างๆ และได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้น

รัฐสภากลายเป็นพื้นที่ใหม่ของสามัญชนจากจังหวัดต่างๆ

และเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในลักษณะของตลาดวิชา ในปี 2477 มีผู้สมัครเข้าเรียนถึง 7 พันกว่าคน มาจากทุกสาขาอาชีพ

แต่ประชาธิปไตยไม่อาจพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง มีการอ้างเหตุต่างๆ มาทำรัฐประหารจนถึงบัดนี้ 13 ครั้งด้วยกัน ไม่สำเร็จอีก 11 ครั้ง ใช้รัฐธรรมนูญเกือบ 20 ฉบับ

ดูเหมือนต้องมานับหนึ่งกันใหม่อยู่เรื่อย แต่ความรับรู้ของผู้คนไปไกลจากวาทกรรมหลอนๆ ลวงๆ มากแล้ว

ใครพร้อมใครไม่พร้อม คำตอบมีมานาน แต่จะยอมรับกันได้หรือไม่ มีแค่นั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image