หนี้ ในความหมายที่มากกว่าเศรษฐกิจ : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ช่วงนี้เรื่องของหนี้ หรือหนี้สินนั้นเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเรื่อง “หนี้กับครู” ทั้งเรื่องของ “ครูพยายามเบี้ยวหนี้” ตามที่สังคมเข้าใจ เรื่องที่เกิดขึ้นคือเรื่องของการที่ครูกลุ่มพยายามรวมตัวกันผ่อนผันและต่อรองเจรจาโครงสร้างและกระบวนการชำระหนี้ และอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของครูวิภาและครูอื่นๆ รวมไปถึงครูหมี ที่ถูก กยศ.จะยึดทรัพย์สินเพราะไปค้ำประกันให้ลูกศิษย์ที่เบี้ยวหนี้ กยศ. ซึ่งครูเหล่านี้ไปเซ็นค้ำประกันไว้ให้จำนวนหลายราย

เรื่องของหนี้ที่ผมจะชวนท่านผู้อ่านมาลองคิดไปด้วยกันนั้น เป็นเรื่องที่มากกว่าการพูดถึงกระแสดราม่า ประเภทเป็นหนี้ก็ต้องจ่ายหนี้ หรือถ้าไม่มีปัญญาจ่ายก็ไม่ควรเป็นหนี้ตั้งแต่แรก แต่เป็นเรื่องที่เราควรจะลองมาทำความเข้าใจ “ความหมายทางสังคม” ที่ว่าด้วยเรื่องหนี้สิน

ลองคิดดูสิครับว่า ความหมายทางสังคม หรือที่ศัพท์ที่ใช้กันอย่างเท่ๆ ในวงการประเภท “วาทกรรม” ว่าด้วยคำว่าหนี้ในเมืองไทยมันมีเรื่องอะไรบ้าง และปฏิบัติการทางสังคมการเมืองของคำว่า “หนี้” นั้นมีอะไรบ้าง ตั้งแต่หนี้ในความหมายที่อาจจะยังโบราณและเราคุ้นชิน แต่ไม่ทันสังเกต มาจนถึงเรื่องหนี้ในยุคไอเอ็มเอฟ ล้มบนฟูก หนี้เงินกู้ หนี้ชาวนา หนี้นอกระบบ หนี้ที่ครูพยายามจะเบี้ยว และหนี้ที่ครูต้องใช้เพราะลูกศิษย์เบี้ยวครู

ในพจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน (อ้างจาก sanook.com) พบว่า หนี้มีสองความหมาย

Advertisement

“น. เงินที่ผู้หนึ่งติดค้างอยู่จะต้องใช้ให้แก่อีกผู้หนึ่ง หนี้สิน ก็ว่า

(กฎ) นิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ซึ่งฝ่ายหนึ่งเรียกว่าเจ้าหนี้ มีสิทธิที่จะบังคับบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่าลูกหนี้ ให้กระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง (อ. obligation)

โดยปริยายหมายถึงการที่จะต้องตอบแทนบุญคุณเขา”

Advertisement

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร (อ้างจาก sanook.com)

“น. เงินที่กู้ยืมมาจากผู้อื่น

บุญคุณที่ผู้อื่นได้ทำแก่ตน ซึ่งจะต้องตอบแทน, สิ่งติดค้าง ยังไม่ชำระ”

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.สอ เสถบุตร (อ้างจาก sanook.com)

“[n.] a debt = หนี้สิน, an obligation (to our parents)”

จะเห็นใช่ไหมครับว่า คำว่า หนี้ หรือหนี้สิน นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน และการติดค้าง และต้องใช้แก่อีกผู้หนึ่งเท่านั้น

แต่หมายถึง บุญคุณ และการตอบแทนด้วย โดยเฉพาะบุญคุณของบุพการี

และยังหมายถึงเรื่องของ “สิทธิ” ที่เจ้าหนี้จะ “บังคับ” ลูกหนี้ให้กระทำการ หรืองดเว้นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

เมื่อเราเห็นว่า เรื่องของหนี้มันสำคัญมากกว่า เรื่องของสัญญาและเงิน แต่มันมีความหมายทางสังคม-ศีลธรรม และเรื่องของอำนาจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแล้ว เราจะพบว่าเรื่องหนี้นั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และในกระแสดราม่า เราจะพบว่าเรื่องหนี้มันเกี่ยวพันและเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์ ความคิดความเชื่อ อคติ และโครงสร้างอำนาจในสังคมนี้ต่อไปอีกยาวนาน

ลองไล่เรียงมาหน่อย ตั้งแต่สมัยที่เรามีเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เราจะพบว่าเรื่องของการประนอมหนี้ เรื่องของการการล้มบนฟูกถูกหยิบยกมาพูดอยู่บ้าง วาทกรรมประเภท “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” นั้นกลายเป็นเรื่องของความกล้าหาญของลูกหนี้ เพราะมีอำนาจพอที่จะต่อรองกับเจ้าหนี้ในการบริหารโครงสร้างหนี้กันใหม่ และส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการมีผู้ที่รับบาปในช่วงนั้นอีกส่วนหนึ่งนั่นก็คือ รัฐบาลที่ดันไปเข้าสู่สงครามทางเศรษฐกิจในการต่อสู้กับค่าเงินและพังไม่เป็นท่า

ดังนั้นคนที่เป็นหนี้ในช่วงนั้นโดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ก็ดูจะไม่ได้ถูกกระแสสังคมกล่าวหาอะไรมาก เพราะอาจจะเชื่อว่ากระบวนการทางกฎหมายในการจัดการหนี้และเข้าสู่คดีความนั้น “เป็นธรรม” พอแล้ว

เรื่องราวในยุคเดียวกันก็คือเรื่องของการพักหนี้เกษตรกรของรัฐบาลทักษิณที่อาจจะไม่ได้ถูกกล่าวหามากนัก ส่วนหนึ่งเพราะการพักหนี้นั้นเป็นเรื่องชั่วคราว และส่วนหนึ่งที่ทักษิณไม่ถูกวิจารณ์ในเรื่องกองทุนหมู่บ้านก็เพราะอัตราการคืนของหมู่บ้านต่างๆ นั้นทำได้ดี แต่กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ทักษิณโดนมาตลอดก็คือเรื่องของภาพลักษณ์ของประชานิยมที่เป็นการเอาใจคนชั้นล่างให้ไม่มีศีลธรรมในการใช้จ่าย ประเภทเอาเงินไปซื้อมือถือ หรือการที่ชาวบ้านนั้นมีหนี้นอกระบบเยอะ ดังนั้นส่วนหนึ่งของประชานิยมจึงถูกวิจารณ์จากคนอีกกลุ่มว่าส่งเสริม “ค่านิยม” ที่ผิดๆ ในเรื่องของการใช้จ่ายและการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจ หรือทำลายศีลธรรมทางเศรษฐกิจลงไป

กระนั้นก็ดี ทักษิณก็พยายามจะเล่นกับประเด็นของหนี้ในทางสังคมอีกด้านหนึ่ง ก็คือการรีบใช้เงินไอเอ็มเอฟให้หมด เพราะส่วนหนึ่งของกระแสค่านิยมทักษิณและไทยรักไทยนั้นก็มาจากการบริหารจัดการวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงก่อนนั้นที่ทำให้เรารู้สึกว่าประเทศของเราเป็นถิ่นกาขาว คือต่างชาติเข้ามาช้อนซื้อกิจการไปอย่างถูกๆ ธุรกิจครอบครัวต้องถูกปรับโครงสร้างการถือหุ้น ทั้งที่อีกหลายคนก็วิจารณ์ทักษิณว่าไม่จำเป็นต้องรีบคืนหนี้ก็ได้ เพราะเรามีระบบการผ่อนชำระหนี้อยู่แล้ว แต่กระนั้นก็ตาม ถ้าหลายคนยังจำได้ เราจะพบว่าทักษิณเล่นใหญ่มากในวันชำระหนี้ไอเอ็มเอฟครบ มีการออกแถลงการณ์ในทีวีทุกช่องในวันนั้น และเรื่องนี้ก็ยังถูกอ้างถึงจากฝ่ายทักษิณอยู่เสมอๆ

วาทกรรมเรื่องหนี้เป็นหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอด จะพบว่าทุกรัฐบาลมักจะถูกวิจารณ์ว่า สร้างแต่หนี้ หรือกู้เงินบริหารประเทศจนเป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับประชาชน วาทกรรมประเภทหนี้ต่อหัว ถูกนำมาใช้ลดทอนความชอบธรรมของรัฐบาล ขณะเดียวกันรัฐบาลทุกรัฐบาลก็พยายามที่จะชี้แจงทำความเข้าใจว่าการเป็นหนี้บางอย่างนั้นเป็นเรื่องของการลงทุนเพื่ออนาคต แต่กระนั้นก็ดี การลงทุนหลายอย่าง โดยเฉพาะในสมัยที่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ทำลงไป ก็มักถูกวิจารณ์เสมอว่าเป็นการสร้างหนี้โดยไม่คุ้มค่า เช่น งบประมาณการซื้ออาวุธที่เพิ่มมากขึ้น

กล่าวโดยสรุปนั้น เรื่องของหนี้นั้นไม่ใช่เรื่องของตัวเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของศีลธรรมและอำนาจอยู่มาก การพูดถึงการเบี้ยวหนี้มันแฝงฝังไปด้วยค่านิยมและการตอกย้ำโครงสร้างทางอำนาจในสังคมเสมอๆ ความเห็นของคนในส่วนที่พยายามตั้งคำถามกับโครงสร้างหนี้มักจะมีน้อยกว่า การโจมตีกล่าวหาว่าคนที่เป็นหนี้และไม่สามารถชำระหนี้ได้นั้นมักมีระดับทางศีลธรรมต่ำ

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การเป็นหนี้มันเป็นเรื่องทางอำนาจอยู่มาก เมื่อเราเข้าสู่กระบวนการหนี้ เราก็จะผูกพันกับการต้องสยบยอมต่อการบังคับ และสิทธิความชอบธรรมของเจ้าหนี้เสมอๆ ตัวอย่างอื่นๆ ที่เราจะเข้าใจในเรื่องนี้ชัดขึ้นก็คือ ประเภทเงินกู้ต่างประเทศ ที่เรามักจะรู้สึกว่าการไปกู้ต่างประเทศนั้นมักจะทำให้เราพบกับความไม่เป็นธรรม หรือเป็นรอง ไปจนถึงการกล่าวหากันว่าเราเป็นลูกน้องของเขา เป็นต้น

แต่กระนั้นก็ดี วาทกรรมประเภทคนรวยเป็นหนี้แล้วจะดูดีกว่าคนจนเป็นหนี้ก็จริงในระดับหนึ่ง ด้วยว่า คนรวยที่เป็นหนี้มักจะมีอำนาจในการต่อรองและเจรจาผ่อนผันได้ เพราะดูเป็น “ลูกหนี้ชั้นดี” เพราะมีศักยภาพในการชำระหนี้ได้ แม้ว่าทางธนาคารอาจจะขาดทุนกำไรไปบ้าง แต่ในกรณีหนี้นอกระบบนั้นส่วนใหญ่ลูกหนี้จะถูกมองว่าเป็นพวกที่น่าสงสาร “ไม่น่า” จะเข้าสู่วงจรเหล่านั้นเลย

แต่จะสังเกตว่าความพยายามในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบก็ไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง

ความหมายในเรื่องหนี้ไม่ได้มีแต่ในความหมายสมัยใหม่ของการชดใช้เท่านั้น เพราะหนี้ในความหมายแบบโบราณก็ยังมีอยู่ในสังคม ประเภทที่ยังพูดถึงหนี้บุญคุณต่อบุพการี การเป็นหนี้ในบางเรื่องในความหมายโบราณจึงเป็นหนี้ในความหมายในเชิงบวก เพราะการเป็นหนี้ที่ทดแทนไม่หมด เป็นหนี้บุญคุณตลอดชีวิตนั้นเป็นคุณธรรมบางอย่างเช่นกันในการยอมต่อโครงสร้างอำนาจที่สูงกว่า การอ้างว่าได้ชดใช้หนี้หมดแล้วจะทำอะไรก็ได้ไม่ได้กลายเป็นภาพบวกเอาเสียเลย

หรือการเป็นหนี้ที่ทดแทนกันไม่หมดอาจจะรวมไปถึงสินสอดทองหมั้นที่สังคมในอดีตมองว่าต้องตั้งราคาไว้แพงๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะเราไม่ได้ตีมูลค่าตัวเจ้าสาวเป็นเงินจริงๆ เงินเป็นเพียงสื่อกลางความสัมพันธ์บางอย่างเท่านั้น โดยเฉพาะเป็นเรื่องของการแสดงให้เห็นว่าเงินเหล่านั้นความจริงยังน้อยเกินไปด้วยซ้ำกับมูลค่าและบุญคุณที่ทางพ่อแม่เจ้าสาวยกลูกสาวให้ การยกให้จึงมีมูลค่ามากกว่าสินสอดทองหมั้น และในหลายครั้งการตั้งไว้แพงมากก็เพื่อไม่ยกให้มากกว่าจะยกให้ หรือบางกรณีคนเป็นพ่อแม่เจ้าสาวเองก็จะถูกมองว่าถ้าตั้งแพงไปว่าเป็นการขายลูกสาวกิน ดังนั้นความพอดีในการกำหนดหนี้สินและการทดแทนหมดไม่หมดจึงมีเรื่องของศีลธรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมอำนาจเกี่ยวข้องอยู่เสมอๆ

ทีนี้ในสังคมไทย ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในเรื่องหนี้ นั่นก็คือเรื่องของการค้ำประกันหนี้ และการค้ำประกันงาน ที่ทางกฎหมาย หรือกฎขององค์กรจำนวนมาก มักจะใช้เงื่อนไขว่า ถ้าไม่ใช้เงินก็ให้ใช้ตำแหน่งราชการ หรือตำแหน่งคนที่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นั่นก็คือกำนันผู้ใหญ่บ้าน จะเห็นเรื่องนี้อยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสมัครงาน หรือการสมัครทุนการศึกษาตามสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งในแง่นี้ กรณีครูวิภาและครูคนอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแค่ครู แต่เป็นตำแหน่งครูในฐานะข้าราชการนั่นแหละครับ สิ่งนี้ยิ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของเงินและอำนาจในสังคมไทยว่า อำนาจของรัฐแม้ในระดับเล็กๆ ก็สามารถค้ำประกันความเป็นบุคคลและค้ำประกันหนี้สินได้ เรื่องนี้ส่วนหนึ่งอาจจะยังเป็นเรื่องที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคศักดินา ที่ไพร่จะต้องมีสังกัด และจะต้องขึ้นต่อรัฐตามลำดับ ทั้งที่อย่างกรณี กยศ.นั้นไม่น่าจะต้องมีการค้ำประกัน เพราะเด็กทุกคนที่อยากเรียนนั้นควรจะเข้าถึงสิทธิในการเรียนและการกู้ยืม ผู้ปกครองควรจะทำหน้าที่เป็นเพียงพยานในการที่เด็กจะทำสัญญากับรัฐในฐานะผู้ให้กู้ ที่ยังมี หน้าที่ให้เงินเด็กเพื่อสนับสนุนให้เขาได้เรียนต่อมาเป็นกำลังสำคัญของชาติอีกด้วย

เรื่องหนี้ครูจึงมีมากกว่าเรื่องของความคาดหวังในศีลธรรมของครู ในกรณีครูเบี้ยวหนี้ และศีลธรรมศิษย์ในกรณีครูถูกเบี้ยวหนี้ และถ้ามองภาพรวมทั้งหมดที่ได้เล่ามานั้น จะพบว่าเรื่องความหมายและดราม่าของหนี้ครูและหนี้อื่นๆ ในบ้านเรา เป็นเรื่องที่น่าสนใจมิใช่น้อยครับ

(หมายเหตุ : ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจาก David Graeber. Debt : The First 5,000 Years. New York: Melville House, 2011)


พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image