ภาพเก่าเล่าตำนาน : จิตอาสา คือ คาถาวิเศษ : พลเอก
นิพัทธ์ ทองเล็ก

ย้อนหลังไปเมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยราชการต่างๆ และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มีจิตอาสา บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ นับเป็นต้นแบบ การทำงาน ที่ทำให้ทุกภาคส่วน เห็นภาพ เข้าใจ การลงมือปฏิบัติ

พระราชปณิธานของพระองค์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ในเรื่องปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชน ปัญหาการจราจร ความสะอาด ความเป็นระบบระเบียบของสังคมทั่วประเทศ

ในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสัปดาห์จิตอาสา เพื่อเป็นแบบอย่างของการพัฒนา โดยทุกคนจะร่วมมือกันทำความสะอาด ปรับภูมิทัศน์พื้นที่สาธารณะรอบพระราชวังดุสิต ทรงให้เริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน ขยายต่อยอดการพัฒนา ขยับพื้นที่ไป จากบ้านของเรา ไปยังชุมชนของเรา จังหวัด และประเทศ

เมื่อประชาชนรับทราบ เข้าใจวิธีการทำงาน จึงมีประชาชนทยอยกันเข้ามาสมัครเป็นจิตอาสามากขึ้น และยิ่งมากขึ้น เพราะเกิดความเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์ในชุมชน “เป็นรูปธรรม”

Advertisement

งานจิตอาสาเริ่มขยายตัวออกไปจากจุดเล็กๆ ไปสู่การพัฒนาการปรับปรุงภูมิทัศน์และพื้นที่สาธารณประโยชน์ ภารกิจขยายตัว ขอบเขตการทำงานต่อไปในจังหวัดที่มีเขตพระราชฐาน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชานุญาต จัดตั้ง “จิตอาสาเฉพาะกิจ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” เปิดรับสมัคร 1-30 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ทรงพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ประชาชนทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมถวายความอาลัยรัก น้อมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในห้วงเดือนตุลาคม 2560

Advertisement

อีกทั้งเพื่อเป็นการสานต่อพระราชดำริของโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ซึ่งเป็นโครงการทำความดีร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมิน
ทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

“จิตอาสาเฉพาะกิจ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” เป็นการรวมพลังความรักอันมีค่าของปวงชนชาวไทย อย่างเข้มแข็ง พรั่งพร้อมกันทั้งประเทศแบบไม่เคยปรากฏมาก่อน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรเป็นล้นพ้น

เป็น “หมุดหมาย” สำคัญที่ทำให้สังคมไทย เกิดความรู้สึกที่จะร่วมมือ เห็นอกเห็นใจ ร่วมใจที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม

กิจกรรมที่ทรงวางแนวทางให้ในช่วงเริ่มต้น ในปี 2560 คือ การอาสามาทำดอกไม้จันทน์พระราชทาน ที่สนามเสือป่า จิตอาสาช่วยประกอบอาหารให้แก่ผู้มาเข้าถวายสักการะพระบรมศพ ที่สนามหลวง งานจราจร งานประชาสัมพันธ์

ประชาชนที่ได้ทราบข่าวเรื่องจิตอาสา ต่างบอกกล่าวกันปากต่อปาก สื่อทั้งปวงช่วยนำเสนอการทำงานของพี่น้องประชาชน ภาพของหมวกสีฟ้า ผ้าพันคอเหลืองเริ่มคุ้นชินสายตา เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้พบเห็นสมัครใจเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจต่างๆ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชวโรกาสให้พสกนิกรได้มาทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวม พระราชทานเสื้อโปโล หมวก และผ้าพันคอจิตอาสา โครงการจิตอาสา เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ จึงพร้อมพรั่ง หนาแน่นด้วยน้ำใจ ไมตรี ความเอื้อเฟื้อ และก่อเกิดมิตรภาพในสังคมไทยแบบทันตาเห็น เป็นมิติใหม่ที่ก่อเกิดความร่วมมือสมานใจเข้าด้วยกันของคนไทย

อาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์ในการทำงานของจิตอาสา หลั่งไหลเข้ามาสู่ระบบการทำงานแบบน่าชื่นใจ แนวคิดเรื่องจิตอาสา ซึมซาบแผ่กระจายไปในทุกองค์กร ทุกพื้นที่ ที่สำคัญที่สุด คือ จิตใจที่อ่อนน้อม พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ความเป็นจริงที่สัมผัสได้ อีก 1 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ที่ 13 หมูป่าไปติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่ จ.เชียงราย ที่ทำให้คนไทยทุกคนเห็นคุณค่าของจิตอาสาในยามวิกฤต

ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดเรื่องน่าเศร้าสำหรับความสูญเสียบุคคลที่เสียสละชีวิตเพื่อการทำงานที่แสนยาก 1 เดียวในโลก

แต่อย่างไรก็ตาม ยังเกิดบรรยากาศที่อบอุ่น อาทร สร้างสรรค์ หลังเกิดเหตุ สังคมไทยได้เรียนรู้กับบรรยากาศของความปรารถนาดีต่อกัน ปัจเจกบุคคลหันมาร่วมมือ หยิบยื่นแรงกาย แรงใจ กลุ่มคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน สามารถทำงานแบบรวมการ และแยกการ เพื่อส่วนรวม ทุกคนที่เป็นจิตอาสาตระหนักรู้ที่จะทำอะไรๆ เพื่อส่วนรวมแบบเต็มใจ

ที่เคยนิ่งดูดาย ก็กลับมาใส่ใจ ช่วยเหลือแบ่งปันกัน

ขอย้อนความทรงจำที่ดีงามของจิตอาสา ในเหตุการณ์ถ้ำหลวง จ.เชียงราย

ภาพที่แสนประทับใจ ตรึงตราในสังคมไทยและแพร่กระจายไปทั่วโลก คือ ความพร้อมใจกันของบรรดาประชาชนจิตอาสา ที่กระวีกระวาดยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเหตุการณ์ 13 ชีวิตที่ติดในถ้ำ

“จิตอาสา” อันเกิดจากการไม่อาจทนเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ พี่น้องประชาชนจำนวนมากต่างสละกำลังกาย กำลังใจ เครื่องมือ เครื่องจักรกล ขอมีส่วนช่วยเหลือ แม้จะต่างพื้นที่ ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษาก็ยังบินข้ามโลกมา

ทุกคนสำคัญเท่ากันหมด ในวิกฤตครั้งนั้น

ใครจะไปนึกว่า จะมีสุภาพสตรีเจ้าของกิจการซักรีด เป็นจิตอาสาขอเข้ามาดูแลซักผ้า ให้กับบรรดาทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย เธอนำเสื้อผ้า เครื่องแต่งตัวของผู้ปฏิบัติงานไปซักล้าง ทำความสะอาด เธอและทีมงานยังหยิบยื่นน้ำใจไมตรีไปยังนักดำน้ำระดับโลกที่เข้ามาช่วยกู้ภัย

แพทย์ทั้งในและต่างประเทศ หน่วยงานที่เป็นชาวต่างชาติให้ได้รับความสะดวก ไม่ต้องมานั่งซักผ้าที่แสนจะสกปรกเน่าเหม็นจากการดำน้ำ เปรอะเปื้อนดินโคลนจากในถ้ำ

ชาวต่างชาติที่เป็น “นักดำน้ำกู้ภัยในถ้ำระดับโลก” เหล่านี้ คงต้องกลับไปบอกเล่าประสบการณ์ และคงไม่ลืมที่จะเอ่ยถึงความงดงามของจิตใจคนไทยที่มาบริการซักผ้าให้

เต็นท์บริการอาหาร เครื่องดื่ม ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีชายหญิง ใส่หมวกสีฟ้า ผูกผ้าพันคอ ทำงานบริการอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย เป็นระเบียบเรียบร้อย ตอบสนองความต้องการกินอยู่ของคนทำงานตลอดเหตุการณ์

ทุกคนเข้าคิว ต่อแถวรับอาหารอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

ท่ามกลางสายฝนที่กระหน่ำลงมา ประชาชนจิตอาสาบางส่วนอาสาไปทำงาน ปรับพื้นที่ที่เฉอะแฉะ จัดระเบียบสถานที่บริเวณหน้าถ้ำด้วยความเต็มใจ

จิตที่อาสา ยังนำพาตัวตนของผู้ใจบุญเจ้าของกิจการเครื่องสูบน้ำขนาดยักษ์จากนครปฐม เพชรบุรี รวมทั้งเครื่องมือสารพัดชนิด ระดมมาจัดการกับมวลน้ำมหาศาลในถ้ำให้หายไปราวปาฏิหาริย์ ด้วยความอิ่มเอิบใจ

หน่วยงาน ที่ระดมกันมา ล้วนเข้าช่วยภารกิจที่ถ้ำหลวงจ.เชียงราย ต่างออกแรงด้วยใจที่บริสุทธิ์ นับเป็นการสร้างมาตรฐานการใช้ชีวิตร่วมกันของสังคมไทย ที่จะดูแล เอาใจใส่กันเมื่อยามทุกข์ยาก

จิตอาสา ทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย ทุกข์มาก กลายเป็นทุกข์น้อย

ทุกแรงกาย แรงใจ โดยเฉพาะคนที่เราไม่มีโอกาสได้พบหน้า เพราะต้องอยู่ในถ้ำ เสี่ยงชีวิตทุกเวลานาที ขอได้รับความขอบคุณ ชื่นชมจากสังคมไทยและสังคมโลกนะครับ ท่านคือ จิตอาสาคนสำคัญ

และเมื่อการกู้ภัยสำเร็จลุล่วง ปลอดภัยดังกระหึ่มโลก จิตอาสาราว 4,000 คน ยังมาช่วยจัดระเบียบ ความสะอาดบริเวณหน้าถ้ำและพื้นที่ใกล้เคียงที่ใช้ปฏิบัติงาน

เหตุเภทภัยทุกข์ร้อน จาก ดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็จะยังเกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์เดือดร้อนร่ำไป

แต่เมื่อสังคมมีสำนึกแบบจิตอาสา ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวทางมาให้ ความทุกข์ยากจะบรรเทาลงได้ สังคมไทยจะเป็นสังคมที่ไม่นิ่งดูดายต่อทุกข์ร้อน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามที่ทุกคนร้องหา จะยกระดับคุณภาพชีวิตโดยธรรมชาติ

ลองไปพูดคุยกันเรื่องของภาพใหญ่ทั้งประเทศนะครับ

พระราชปณิธานของพระองค์ คือ บำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้ประชาชนและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

ราว 2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนจิตอาสาทำกิจกรรมที่นับว่า ถูกใจ โดนใจอย่างยิ่งประการหนึ่ง คือ การกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำ ทางน้ำไหล ที่ก่อมลภาวะ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดน้ำท่วม เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สร้างความเดือดร้อนทั้งในชนบทและในเมือง

แหล่งน้ำบางแห่ง ไม่เคยเก็บ กำจัดผักตบชวามานานหลายปี ทับถมกันแน่นจนเป็นเรื่องปกติชินชา โดยที่ไม่ทราบว่าใครต้องรับผิดชอบ ประชาชนขัดสน ไม่สามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำได้

โครงการจิตอาสา จัดการกับผักตบชวาในคูคลอง แหล่งน้ำ หนองบึง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนที่อาศัยแหล่งน้ำประกอบอาชีพ

กิจกรรมจิตอาสา ทำให้ประชาชน หน่วยงานราชการมีโอกาสได้พูดคุย ทำความรู้จัก คุ้นเคยกัน เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันโดยปริยาย เป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจแบบเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ

“การทำงานแบบจิตอาสา คือการบ่มเพาะการเป็น ‘ผู้ให้’ ที่สังคมไทยยังคงต้องการ ต่อเนื่อง และตลอดไป”

ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ชุมชนกล้าริเริ่ม กล้าแสดงออกที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่ไม่บังควร

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ก่อเกิดความร่มเย็น เป็นสุข ทั่วหล้า เหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก

ประชาชนจิตอาสาทุกคน จะได้รับพระราชทาน หมวกแก๊ป และ ผ้าพันคอ พระราชทาน

เมื่อกลางเดือนกันยายน 2560 ผู้เขียนไปสมัครเป็นจิตอาสา และเข้าพิธีเพื่อรับของพระราชทานที่สนามเสือป่า มีทหารและเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจัดการอย่างเป็นระบบ เป็นระเบียบ ประทับใจ น่าชื่นชม ที่ผ่านมาในทุกจังหวัดก็จัดพิธีในรูปแบบเดียวกัน อย่างคึกคัก

ความสะอาด ความเป็นระเบียบ สภาพการจราจรที่กระเตื้องขึ้น ที่ชัดเจนที่สุด คือ ความสะอาด เป็นผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน

เป็นความอิ่มอกอิ่มใจ สบายใจ และสุขใจของสังคมนะครับ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาความสกปรกรกรุงรัง มันเกินกำลังของใครคนเดียวที่จะจัดการได้สำเร็จ

เรื่องของ จิตอาสา เป็นหมุดหมายในการใช้ชีวิตร่วมกัน ที่ทำให้สังคมไทย ได้ตั้งหลักคิดและปฏิบัติอันก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีงามต่อกายและใจ จิตอาสา เป็นรากฐานของสังคมที่นำไปสู่ความเจริญ

จิตอาสา ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.10 พระราชทานมาให้ปวงชนชาวไทย เปรียบประดุจ เบ้าหลอม ที่ทำให้สังคมไทยหันหน้ามาใส่ใจ รวมพลังที่กระจัดกระจายให้เป็นหนึ่ง ในอันที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม ปรารถนาดี คิดดี พูดดี ทำดี ต่อกัน

จิตอาสา เมื่อสวมใส่หมวก ผ้าพันคอพระราชทาน ถือเป็นเกียรติที่จะต้องบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะที่ทางราชการกำหนด ปฏิบัติตนให้เหมาะสม เหนือสิ่งอื่นใดและเทิดไว้เหนือเกล้า คือ ความจงรักภักดี

ทรงพระเจริญ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image