วิพากษ์ปฏิรูปตำรวจ ล้มเหลว-จับต้องได้?

หมายเหตุ – มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) จัดเสวนาการปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “การปฏิรูปตำรวจ” โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธาน มปท. และผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นายบรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ร่วมเสวนา


 

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ประธาน มปท. และผู้ร่วมก่อตั้งพรรค
รวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)

ช่วงที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้ชุมนุมต่อสู้เพื่อบ้านเมือง เป็นโอกาสและเวลาที่ประชาชนทุกสาขาอาชีพจากทุกภาคของประเทศได้อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ปรับทุกข์เรื่องปัญหาของชาติ ของบ้านเมือง และมีความคิดเห็นตรงกันที่จะต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่จะต้องลงมือทำในทันทีและต่อเนื่อง

Advertisement

การปฏิรูปที่จำเป็นและเห็นตรงกันคือ ทั้งการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปนักการเมือง การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูปวิธีป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูปตำรวจ ที่มีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปมากที่สุด ประชาชนต้องการเห็นตำรวจเป็นมืออาชีพ และมีความเชี่ยวชาญงานแต่ละด้าน เช่น สันติบาลต้องเชี่ยวชาญด้านงานข่าว สอบสวนกลางต้องเชี่ยวชาญเรื่องการสอบสวน เป็นต้น แต่สภาพที่เป็นอยู่จะพบว่ามีการโยกย้ายข้ามกันไปมา เหมือนกับตำรวจคนหนึ่งทำงานได้ทุกเรื่องในตัวคนเดียว ไม่ได้สะท้อนความเป็นมืออาชีพ

ที่สำคัญประชาชนต้องการให้ตำรวจเป็นของประชาชน ไม่ใช่เครื่องมือของผู้มีอำนาจ ประชาชนคาดหวังว่า ถ้าตำรวจอยู่ในพื้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา รู้เท่าทันเหตุการณ์ จึงมีเสียงเรียกร้องอย่างนี้ทั่วประเทศให้มีการปฏิรูปตำรวจ

ก็น่ายินดีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติการปฏิรูปตำรวจไว้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการโยกย้ายต้องใช้หลักอาวุโส ขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อได้รับทราบแนวทางการปฏิรูปตำรวจของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ก็ได้ส่งให้กรรมการชุดใหม่ไปปรับปรุงแก้ไข มีการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด

Advertisement

ส่วนตัวฟังการเสวนาดังกล่าวด้วยความกังวลใจ เพราะกลัวว่าสิ่งที่คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จะดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนคาดหวังไว้

แต่เมื่อได้ฟังนายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติแล้ว ผมเองอยากเป็นตัวแทนประชาชนขอบคุณคณะกรรมการ และดีใจที่เห็นการปฏิรูป แม้อาจไม่ได้ดั่งใจ 100 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อได้เห็นร่างฉบับเต็มก็จะชวนประชาชนจุดพลุใหญ่ เพราะเคยทำสำเร็จมาแล้วในการลงประชามติรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นเชื่อว่าการปฏิรูปครั้งนี้ก็น่าจะสำเร็จ ทำให้เกิดการปฏิรูปตำรวจ เพื่อปลดทุกข์ตำรวจและประชาชน

ขณะเดียวกันขอพูดในฐานะผู้ร่วมแต่งตั้งพรรค รปช. หากร่างกฎหมายของคำนูณและคณะกรรมการไม่ผ่านการพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะขอคัดลอกเพื่อเป็นนโยบายของพรรคปรับปรุงใหม่เป็นร่างของพรรค รปช. เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลต่อไปจะดำเนินการต่อหรือไม่



บรรเจิด สิงคะเนติ
ผู้อำนวยการ หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

การปฏิรูปตำรวจเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดประเด็นหนึ่ง เพราะเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและเชื่อมโยงถึงประชาชนโดยตรง ถ้ากระบวนการนี้ไม่โปร่งใส ก็ยิ่งจะสร้างความทุกข์ให้กับประชาชนที่เป็นคนจนมากขึ้นไปอีก

กรณีของลุงกระโดดตึก สะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการสอบสวน ถ้าไม่แก้ไขก็จะมีการเดิมพันด้วยชีวิตอีก เพื่อให้กลับมาเหลียวดูสำนวนการสอบสวน ดังนั้น คำกล่าวที่บอกว่าคนจนติดคุก จึงไม่ได้ไกลจากความจริงเท่าใดนัก

ปัญหาของตำรวจมีด้วยกันหลายปัญหา ได้แก่ 1.โครงสร้างเป็นลักษณะพีระมิด ยอดพีระมิดคือ ผบ.ตร. ถ้ายอดพีระมิดอยู่ใต้การเมือง ที่เหลือก็จะอยู่ใต้การเมืองเช่นกัน ระบบการบังคับบัญชาแบบชั้นยศไม่เอื้อต่อการทำงานสอบสวน 2.การเข้าสู่ตำแหน่งในบางพื้นที่มีต้นทุนสูงมาก มีผลให้กระบวนการสอบสวนเดินหน้าไม่ได้ ถ้าการเข้าสู่ตำแหน่งมาจากการลงขันของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ย่อมเป็นเรื่องยากจะทำให้ต้นทางกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งประชาชนได้ 3.ปัญหากระบวนการสอบสวนโดยแท้ คือ เป็นปัญหาที่ไม่มีใครเข้าไปถ่วงดุลตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการ เมื่อต้นทางปราศจากการถ่วงดุล ปลายทางก็จะเป็นปัญหาเช่นกัน ทำให้ขาดหลักประกันความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวน

การแก้ไขปัญหาจะต้องเน้นโครงสร้างกระบวนการสอบสวนภายใต้หลักการสำคัญที่เป็นหลักสากล คือ การต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย การจะดำเนินการตามหลักสากลดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อให้อัยการและตำรวจเข้ามาร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริง หรือเรียกว่าตำรวจกับอัยการต้องเป็นกระบวนการเดียวกัน

ที่ผ่านมา ปรากฏว่าอัยการเห็นข้อเท็จจริงผ่านสำนวนการสอบสวนที่เป็นเอกสาร และเป็นช่วงก่อนที่ต้องส่งฟ้องศาลไม่กี่วัน ดังนั้นในหลักสากลจึงให้อัยการเข้ามาร่วมแสวงหาข้อเท็จจริง นอกจากนี้อัยการจะยังเข้ามาทำหน้าที่ถ่วงดุลการสอบสวนของตำรวจด้วย อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติอัยการไม่จำเป็นต้องเข้ามาในทุกคดี แต่ให้อัยการเข้ามาทำหน้าที่เฉพาะคดีที่มีความสำคัญ

ถ้ากระบวนการนี้ถูกสถาปนาขึ้นมาได้จริง จะให้เกิดความโปร่งใส ถือเป็นเส้นเลือดหลักของประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาไม่เคยแก้ปัญหาเส้นเลือดหลักอย่างจริงจัง ในทางกลับกันกลับใช้วิธีการแก้ไขผ่านการตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาจำนวนมาก และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้าทศวรรษนี้เรายังแก้ไขไม่ได้ เชื่อว่าจะเกิดการพลีชีพอีก

โครงสร้างของตำรวจ ควรให้ตำรวจไปขึ้นกับจังหวัด อย่างกรณีของถ้ำหลวง ถ้าเวลานั้นผู้ว่าฯไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ก็อาจจะไม่สำเร็จอย่างทุกวันนี้ก็ได้ องคาพยพถ้าไม่อยู่ภายใต้ความเป็นเอกภาพ ก็ไม่มีทางที่ประชาชนในพื้นที่จะเกิดความผาสุก โดยให้เป็นตำรวจของจังหวัดและมีระบบขึ้นมาตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของตำรวจ


 

คำนูณ สิทธิสมาน
กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติที่มีอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาร่วมอยู่ด้วย จะทำให้การสื่อสารและข้อเสนอต่างๆ ย่อมถึงรัฐบาล ขั้นตอนการทำงานของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในกระบวนการของกฤษฎีกาแล้ว เหลือเพียงบางประเด็นเท่านั้น ส่วนร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาเสร็จสิ้นไปแล้วประมาณ 3 ใน 4 โดยมีประเด็นการพิจารณามากพอสมควร

เมื่อร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้มีการประกาศบังคับใช้แล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์ 6 ประการ ได้แก่

1.ประชาชนจะได้ตำรวจอาชีพที่มีความรู้ความสามารถ โดยเป็นตำรวจไม่ต้องอาศัยระบบอุปถัมภ์

2.ประชาชนจะได้กำลังของตำรวจมาทำภารกิจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น

3.ประชาชนจะได้กระบวนการสอบสวนคดีอาญาในชั้นตำรวจมีความเป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นต่อผู้บังคับบัญชาตามปกติ

4.ประชาชนจะได้ระบบการสอบสวนรัดกุมและไม่สร้างภาระให้กับประชาชน คือ กำหนดให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมกระบวนการสอบสวนตั้งแต่ต้นในคดีอุกฉกรรจ์ 5.ประชาชนจะได้ระบบที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาการจับกุมผู้ต้องหาและให้ผู้ต้องหามาแถลงข่าว และการละเลยพยานหลักฐาน และ 6.ประชาชนจะได้กลไกการตรวจสอบจากภายนอกองค์กรตำรวจมากขึ้น ประชาชนเห็นตำรวจที่ประพฤติตนเสื่อมเสีย จะมีกลไกให้ประชาชนร้องเรียนได้โดยตรง และมีคณะกรรมการที่เป็นบุคคลภายนอกเข้ามาทำหน้าที่นี้

ทั้งหมดนี้เป็น 6 ประการที่ประชาชนจะได้จากร่างกฎหมายใหม่ทั้ง 2 ฉบับ เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญในระยะยาว

ที่สุดแล้วการปฏิรูปตำรวจจะต้องเป็นการแก้ไขทุกข์ให้กับตำรวจและประชาชนไปพร้อมกัน โดยให้ตำรวจสามารถได้เลื่อนขั้นตามความรู้ความสามารถ อันจะเป็นการแก้ทุกข์ให้ประชาชนไปในตัวในการได้รับความยุติธรรม

สายงานสอบสวนเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด การพิจารณากฎหมายก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ จะทำให้พนักงานสอบสวนได้รับการยกระดับเป็นวิชาชีพเฉพาะเสมือนงานส่วนอื่นในกระบวนการยุติธรรม เป็นผู้ประกอบวิชาชีพกระบวนการยุติธรรม เหมือนกับศาลและอัยการ หมายความว่าจะมีหลักประกันความเป็นอิสระในการทำงาน เรียกได้ว่าเป็นสายงานเฉพาะแม้จะอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม

งานปฏิรูปตำรวจครั้งนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เพราะมีเรื่องอื่นๆ เกี่ยวพันจำนวนมาก แต่ผมเชื่อว่ากฎหมาย 2 ฉบับถ้าบังคับใช้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน คณะกรรมการชุดนี้ได้ทำอย่างดีที่สุด แต่กระบวนการตรากฎหมายจะต้องผ่านคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นเรื่องต้องเอาใจช่วยกัน และหวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเหมือนในอดีต

ร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติเป็นร่างกฎหมายที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้เหมือนกับร่าง พ.ร.บ.
ประกอบรัฐธรรมนูญ กระบวนการพิจารณากฎหมาย

ตามปกติของสภาต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน และเมื่อใช้เวลานานเกินไป ก็อาจจะไม่ทันเวลาได้ อีกทั้งการพิจารณาของสภาจะต้องมีการแก้ไข ร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติมีการถักทอและสายใย ถ้าไปเปลี่ยนด้านใดด้านหนึ่งก็อาจทำให้ดุลยภาพของกฎหมายเปลี่ยนไปได้

ดังนั้น ถ้าประชาชนเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และคิดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ เสียงสนับสนุนของประชาชนก็จะเป็นเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาลและ สนช.ได้เช่นกัน

สำหรับการโยกย้ายข้าราชการตำรวจในปีนี้ คิดว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไม่น่าจะประกาศใช้ได้ทัน ทำให้ต้องกลับไปใช้การโยกย้ายตำรวจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 260 วรรค 3 กำหนดให้ใช้หลักอาวุโสโดยให้คณะรัฐมนตรีไปออกระเบียบและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ขณะนี้มีนักกฎหมายตีความกันว่าจะใช้หลักอาวุโสเพียงอย่างเดียว หรือจะนำหลักอื่นมาพิจารณาด้วย จึงอยากให้สังคมช่วยกันติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image