ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไทย 2561 : คอลัมน์สถานีคิดหมายเลข12

 

สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA เพิ่งเปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยประจำปี 2561

สรุปสั้นๆ ได้ว่า “คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตต่อวันกันอย่างหนักหน่วง” เห็นได้ชัดจากจำนวนชั่วโมงที่เพิ่มขึ้น และรูปแบบการใช้ชีวิตที่อิงแอบอยู่กับการติดต่อสื่อสารระบบดิจิทัลมากขึ้น

ณ ปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยนั้นอยู่ที่ 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน
ก้าวกระโดดจากปี 2560 ถึง 3 ชั่วโมง 41 นาที

Advertisement

หากลงรายละเอียดไปยังกลุ่มประชากร พบว่ากลุ่มคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุด ก็คือ คนรุ่น “เจนวาย” ซึ่งมีอายุ 18-37 ปี (หนุ่มสาววัยอุดมศึกษา-เริ่มต้นทำงานตั้งตัว)

รองลงมา ได้แก่ “เจนแซด” หรือกลุ่มวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี

ส่วนอันดับสามและสี่ คือ “เจนเอ็กซ์” หรือกลุ่มวัยกลางคนอายุ 38-53 ปี และรุ่น

Advertisement

“เบบี้บูมเมอร์” อายุ 54-72 ปี ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาเรื่องรูปแบบการใช้งานอินเตอร์เน็ต

กิจกรรมที่คนไทยใช้เวลาในโลกออนไลน์สูงสุด ได้แก่ การใช้ (เล่น) โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ รวมถึงแพลตฟอร์มท้องถิ่นอย่างพันทิป

โดยเฉลี่ยแล้ว พวกเรามอบเวลาให้กับโซเชียลมีเดียต่างๆ ไปราว 3 ชั่วโมง 30 นาที ต่อวัน
ถัดมา คือ กิจกรรมการรับชมวิดีโอสตรีมมิ่ง ผ่านแพลตฟอร์ม อาทิ ยูทูบ และไลน์ทีวี ซึ่งคนไทยเสพภาพเคลื่อนไหว/คลิปต่างๆ ทางออนไลน์เฉลี่ย 2 ชั่วโมง 35 นาที ต่อวัน

ส่วนการใช้แอพพลิเคชั่น “แชต” เช่น เมสเซนเจอร์ และไลน์ ก็กินเวลาคนไทยไปประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน
เรายังเล่นเกมออนไลน์ 1 ชั่วโมง 51 นาทีต่อวัน และอ่านบทความหรือหนังสือทางออนไลน์ คิดเป็น 1 ชั่วโมง 31 นาที ต่อวัน (อาจถึง 800 บรรทัด)

ขณะเดียวกัน คนไทยก็หันมาดำเนินวิถีชีวิตประจำวันในโลกดิจิทัลมากขึ้น กิจกรรมหลายๆ อย่าง ที่ก่อนหน้านี้ เราต้องกระทำกันในโลกออฟไลน์เป็นหลัก จึงถูกถ่ายโอนมาสู่โลกออนไลน์เกือบสมบูรณ์แบบ
ดังจะเห็นว่า ณ ปี 2561 ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวไทยต่างจองโรงแรม, ซื้อตั๋วโดยสาร, ชำระค่าสินค้าและบริการ และดูหนังฟังเพลง ผ่านระบบออนไลน์แทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ETDA เตือนว่าประชากรผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในแต่ละช่วงอายุ ล้วนมีปัญหาและอาจเผชิญภาวะสุ่มเสี่ยงที่แตกต่างกันไป

กลุ่มผู้สูงอายุหรือ “เบบี้บูมเมอร์” ส่วนใหญ่มักทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือไม่สังเกตว่าเว็บไซต์ที่ใช้งานนั้นขึ้นต้นด้วย https:// หรือไม่

เกือบครึ่งของประชากรกลุ่มนี้มักไม่ลบประวัติการใช้งานของตนเอง เมื่อไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สาธารณะหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ (สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก) ของบุคคลอื่น แถมจำนวนไม่น้อยยังไม่ยอมลงชื่อออกจากอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยซ้ำ

วัยรุ่น “เจนแซด” กว่าครึ่งมักระบุวันเดือนปีเกิดแท้จริงของตนลงในโซเชียลมีเดีย รวมทั้งมีพฤติกรรมไม่เปลี่ยนรหัสผ่านทุกๆ 3 เดือน และชอบเปิดอีเมล์หรือคลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก
(ซึ่งมีแนวโน้มสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย)

คนหนุ่มสาว “เจนวาย” ชอบทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างเปิดเผยเป็นค่าสาธารณะ เช่น อัปโหลดรูปถ่าย/วิดีโอ อัปโหลดเอกสารการเดินทาง และแชร์ตำแหน่งที่อยู่ของตนเองแบบเรียลไทม์

ทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเจ้าของข้อมูลได้

น่าสังเกตว่าตัวอย่าง “ปัญหา” ที่ ETDA แสดงความห่วงใยนั้น บางกรณีถือเป็น “ปัญหา” ที่จะส่งผลเสียหายจริงจังต่อผู้ใช้ แต่หลายกรณี ก็ดูจะเป็นเพียงภาพสะท้อนไลฟ์สไตล์ของคนบางรุ่นมากกว่า

ตัวเลขสถิติทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการใช้ชีวิตของคนไทยกับการใช้อินเตอร์เน็ตมีความแนบชิดกันมากขึ้น
อินเตอร์เน็ตเริ่มขยับสถานะจากการเป็น “โลกเสมือน” มาสู่การเป็น “ความจริงทางสังคม” รูปแบบหนึ่ง
“ความจริง” ที่มีทั้งโอกาส ภยันตราย ความร่วมมือ ความแตกต่าง หรือความขัดแย้ง ดำรงอยู่

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image