‘อีอีซี’รุกสู่เป้าหมาย : โดย สัญญา รัตนสร้อย

นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังจากตั้งไข่เมื่อกลางปี 2559 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ นั่งเป็นประธานบอร์ด “อีอีซี” และไฟเขียว 8 แผนปฏิบัติการ เริ่มทยอยเดินหน้าแล้ว

ประกอบด้วย 1.แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2.แผนการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3.แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว 4.การพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงิน

5.แผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา วิจัย และเทคโนโลยี 6.แผนการพัฒนาเมืองใหม่และชุมชน 7.แผนการประชาสัมพันธ์ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ และ 8.แผนการพัฒนาด้านการเกษตร ชลประทาน และสิ่งแวดล้อม ในแต่ละแผนปฏิบัติ จะผลักดันโครงการเร่งด่วนก่อน อย่างแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มลุยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) และการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี)

หรืออย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท ที่มีเอกชนมากถึง 31 ราย มาซื้อซองเอกสารประกวดราคา และเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้เอกชนที่ซื้อซองรับฟังคำชี้แจง จากนั้นวันที่ 24-26 กรกฎาคม เปิดให้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ

Advertisement

รวมทั้งพาลงพื้นที่เพื่อชมสถานที่ก่อสร้างโครงการ เช่น การก่อสร้างร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต การจัดการพื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อ ที่จะรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

จากนั้นจะเปิดให้ยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลและลงนามสัญญาได้ในเดือนมกราคม 2562

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็เปิดรับฟังความคิดเห็นนักลงทุน (มาร์เก็ต ซาวดิ้ง) ครั้งที่ 2 เพื่อให้รายละเอียดถึงการศึกษาโครงการ วิเคราะห์ และให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุน

Advertisement

จากนั้นจะเปิดครั้งที่ 3 ในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน เป้าหมายในเรื่องข้อกำหนดสำคัญในการคัดเลือกเอกชน เพื่อนำไปสู่การออกทีโออาร์ในเดือนกันยายน คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลและลงนามสัญญาได้ในเดือนมกราคม 2562

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จัดทำมาร์เก็ต ซาวดิ้ง ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะออกทีโออาร์ในเดือนสิงหาคมนี้ และลงนามสัญญากับผู้ชนะได้ในเดือนมกราคม 2562

เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก จัดทำมาร์เก็ต ซาวดิ้ง ครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คาดว่าจะออกทีโออาร์ได้ในเดือนตุลาคมนี้ และลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลในเดือนมีนาคม 2562

ขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ทางบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัส ได้ลงนามข้อตกลงการร่วมทุนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่สำนักงานใหญ่ของแอร์บัส ณ เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน คาดว่าจะออกทีโออาร์ในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนลงนามในสัญญาในเดือนธันวาคมปีนี้

ส่วนแผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ “อีอีซี” จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นระยะๆ โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยว และศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยว

ส่วนแผนพัฒนาบุคลากร การศึกษา วิจัย และเทคโนโลยี ครม.มีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา เห็นชอบงบกลาง 390 ล้านบาท เพื่อพัฒนาบุคลากร การวิจัย และเทคโนโลยี ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โครงการหลักต่างๆ จะประกาศทีโออาร์ในสิ้นปีนี้ และจะลงนามในสัญญาในเดือนมกราคม 2562 เพื่อขับเคลื่อน “อีอีซี” ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image