จากนายทหารชั้นประทวนชาวฝรั่งเศส มาเป็นต้นราชวงศ์กษัตริย์สวีเดนปัจจุบัน : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

จอมพลฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต - สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลโยฮันที่ 14

ผู้เขียนรับหน้าที่สอนวิชาการเมืองการปกครองรัสเซียมาร่วม 20 ปีจึงสนใจเรื่องของประเทศสวีเดนมาโดยตลอด เนื่องจากชื่อประเทศรัสเซียเองก็มาจากชื่อพวกไวกิ้งกลุ่มหนึ่งจากสวีเดนที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในยูเครนปัจจุบัน เพื่อค้าขายกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ก่อนที่ชาวสลาฟจะอพยพเข้ามาตั้งประเทศรัสเซียขึ้นภายหลัง

พวกไวกิ้งผู้เป็นชนเผ่านักรบ นักการค้าและนักตั้งถิ่นฐานจากนอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก โดยใช้เรือยาวเป็นพาหนะ บุกไปรบชนะยึดครองอาณาเขตในพื้นที่ส่วนใหญ่ของอังกฤษ นอร์ม็องดีและรัสเซีย เมื่อระหว่างประมาณ พ.ศ.1200-1590 นอกจากนี้ยังบุกจู่โจมสเปน โมร็อกโก และอิตาลี ติดต่อการค้ากับจักรวรรดิไบแซนไทน์ เปอร์เซีย และอินเดีย ชาวไวกิ้งยังได้ค้นพบและยึดครองไอซ์แลนด์ กรีนแลนด์และเดินเรือไปถึงชายฝั่งทวีปอเมริกาเหนืออีกด้วย

เนื่องจากสวีเดนเป็นชาตินักรบมาตั้งแต่สมัยไวกิ้งจึงทำสงครามรบสู้กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นนิตย์ โดยเฉพาะกับรัสเซีย สวีเดนจึงได้กลายเป็นมหาอำนาจ มีอาณาเขตเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน แต่เนื่องจากสวีเดนรบกับเขาไปทั่วและเป็นประจำ ประชากรจึงร่อยหรอและเศรษฐกิจตกต่ำ

จนกระทั่งสวีเดนได้พระมหากษัตริย์ชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งเคยเป็นทหารของนโปเลียนแห่งฝรั่งเศสมาก่อนจึงได้เริ่มนโยบายสันติ ไม่รุกรานผู้ใด ซึ่งนำไปสู่นโยบายความเป็นกลางของสวีเดนทำให้สวีเดนรอดพ้นจากมหาสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง

Advertisement

ประวัติของต้นราชวงศ์แบร์นาด็อตซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองสวีเดนมาเป็นเวลา 200 ปีในปีนี้พอดี โดย สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลโยฮันที่ 14 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์ในช่วง “สงครามนโปเลียน” ขณะที่จักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศสกำลังเรืองอำนาจ ซึ่งก็ได้มีการสืบราชสันตติวงศ์จนกระทั่งถึง “สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ” ในปัจจุบันนี้

บ้านเดิมที่เมืองโป ประเทศฝรั่งเศส – สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ

ความจริงก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดมากทีเดียวที่จู่ๆ สามัญชนคนธรรมดาชื่อ นายฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต ผู้อาศัยอยู่ที่เมืองโปซึ่งเป็นเมืองบ้านนอกใกล้กับเทือกเขาพิเรนีสของฝรั่งเศส ยึดอาชีพทนายความแต่หันมาสมัครเป็นทหารของกองทัพของฝรั่งเศสได้ยศเป็นจ่าสิบตรี แต่บังเอิญเป็นช่วงการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสพอดีทำให้จ่าสิบตรีฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต ได้ไต่เต้าขึ้นด้วยการรบกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับชัยชนะครั้งสำคัญบ่อยครั้งทำให้เขาได้เป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียน และนโปเลียนเองก็มีนโยบายแต่งตั้งพี่น้องของเขาไปเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศต่างๆ ในยุโรปอยู่แล้ว

ส่วนจอมพลฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต นั้นนโปเลียนตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินสวีเดนเมื่อ พ.ศ.2353-2361 และขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สวีเดนพระนามว่าสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลโยฮันที่ 14 ตั้งแต่ พ.ศ.2361 จนสวรรคตใน พ.ศ.2387 (สมัยรัชกาลที่ 3)

Advertisement

เมื่อจอมพลฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของสวีเดนแล้วก็เริ่มเอาใจออกห่างจากนโปเลียน จนในที่สุดกองทัพสวีเดนได้เข้าร่วมกับกองกำลังผสม อังกฤษ รัสเซีย ปรัสเซีย ออสเตรียรบกับฝรั่งเศสในยุทธการที่ไลพ์ซิช ระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม พ.ศ.2356 (สมัยรัชกาลที่ 2)

ซึ่งนับเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยช่วงต้นของสงครามฝ่ายฝรั่งเศสของนโปเลียนเป็นฝ่ายได้เปรียบแต่ถูกกองทัพปรัสเซียโจมตีจากด้านหลังทำให้พ่ายแพ้

ผลของสงครามทำให้นโปเลียนถูกบีบบังคับให้กลับสู่ฝรั่งเศส และในปีถัดมาฝ่ายพันธมิตรรัสเซีย ปรัสเซีย ออสเตรีย และสวีเดน ได้รุกคืบสู่ฝรั่งเศส ทำให้นโปเลียนต้องยอมสละราชสมบัติและถูกเนรเทศไปสู่เกาะเอลบาในฤดูใบไม้ผลิของปีเดียวกัน

ครับ! ตั้งแต่สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลโยฮันที่ 14 ได้ขึ้นครองราชย์แล้วก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลาง พยายามหลีกเลี่ยงสงครามจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ และสามารถสร้างสันติภาพให้แก่สวีเดนมาจนถึงปัจจุบัน

ในอีก 50 ปีภายหลังที่สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลโยฮันที่ 14 สวรรคต ประเทศสวีเดนก็ได้พัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของโลกเป็นสังคมหลังอุตสาหกรรมและเป็นรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้า มาตรฐานการครองชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ในอันดับสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

โดยปัจจัยหนึ่งที่สวีเดนสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วก็คือสังคมสวีเดนไม่มีระบบทาสติดที่ดินอย่างประเทศอื่นๆ ในยุโรป ทำให้มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมน้อยมาตั้งแต่แรก ไม่ต้องเสียเวลาและชีวิตคนเพื่อต่อสู้ระหว่างชนชั้นในประเทศอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image