การเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดการน้ำ ในเขตกรุงเทพมหานคร : โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

เนื่องจากกรุงเทพฯมีประชาชนอยู่หนาแน่น การแก้ปัญหาน้ำท่วมซึ่งเกิดจากฝนที่ตกลงบนพื้นที่และน้ำที่ไหลจากนอกพื้นที่เข้ามาท่วมจึงทำได้ค่อนข้างยาก ส่วนปัญหาภัยแล้ง ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าสถานการณ์เกี่ยวกับการจัดการน้ำโดยทั่วไปยังเป็นเช่นในปัจจุบัน (เมษายน 2561) และถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นมาอีกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในอนาคตกรุงเทพฯซึ่งอยู่ท้ายน้ำสุดจะขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาอย่างแน่นอน

ดังนั้นการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการน้ำโดยทั่วไปจึงยุ่งยากและซับซ้อน ต้องใช้ผู้ที่มีประสบการณ์สูงทั้งทางด้านวิชาการและด้านปฏิบัติงานจึงจะแก้ปัญหาได้ถูกต้อง

ผู้เขียนจึงขอยกกรณีศึกษาที่เคยพบมาถึงแม้จะไม่ใช่กรณีที่เกิดน้ำท่วม แต่เป็นกรณีเกี่ยวกับการปรับปรุงคลองส่งน้ำพื้นฐานทางวิชาการที่นำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก

กรณีศึกษาแรก คลองส่งน้ำสายหนึ่งส่งน้ำในพื้นที่เพาะปลูก 80,000 ไร่ แต่ไม่สามารถส่งน้ำในพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉพาะปลายคลองส่งน้ำได้ ปรากฏว่าในการปรับปรุงหัวหน้าโครงการส่งน้ำที่รับผิดชอบและผู้แทนจากสำนักออกแบบมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน คลองส่งน้ำสายนี้จึงไม่ได้รับการปรับปรุง

Advertisement

เมื่อผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ศึกษาเพื่อแก้ปัญหา จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเท่าที่จะหาได้ รวมทั้งสอบถามผู้ที่คาดว่าจะทราบเรื่องนี้ที่อยู่ส่วนกลาง (ในกรุงเทพฯ) เมื่อศึกษาได้ผลพอสมควรและมีโอกาสเดินทางผ่านไปยังโครงการส่งน้ำที่เกี่ยวข้องซึ่งในขณะนั้นใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ครึ่ง เมื่อได้พบหัวหน้าโครงการส่งน้ำ ซึ่งท่านอาวุโสกว่าผู้เขียนและปฏิบัติงานอยู่ที่นั่นเป็นเวลาประมาณ 23 ปี ก็ได้อธิบายข้อคิดเห็นในการปรับปรุงคลองส่งน้ำสายดังกล่าวให้ท่านได้ทราบเมื่ออธิบายจบท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ ผู้เขียนก็สอบถามข้อมูลเท่าที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์จากท่าน เพื่อนำไปศึกษาเพิ่มเติม

เมื่อกลับไปที่โครงการส่งน้ำครั้งที่ 2 ก็ยังได้รับคำตอบเช่นเดิม ผู้เขียนก็ยังไม่ท้อถอย ก็สอบถามข้อมูลจากหัวหน้าโครงการส่งน้ำเพิ่มเติมอีก และเมื่อกลับไปเป็นครั้งที่ 3 ปรากฏว่าคำตอบที่ได้คือมีความถูกต้องเพียงบางส่วน ผู้เขียนจึงสอบถามข้อมูลจากหัวหน้าโครงการส่งน้ำเพิ่มอีก เมื่อกลับไปที่โครงการส่งน้ำครั้งที่ 4 คำตอบที่ได้คือ ถูกต้องและขอให้นำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ในการศึกษา เมื่อผู้เขียนศึกษาลงในรายละเอียดครบถ้วนแล้ว จึงจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์แจกจ่ายภายในหน่วยงาน ปัจจุบันคลองส่งน้ำสายดังกล่าวได้รับงบประมาณในการปรับปรุงและใช้งานมาเกือบ 30 ปีแล้ว ที่อธิบายมาเป็นเพียงสรุปผลเท่านั้น ในความเป็นจริงมีรายละเอียดทางวิชาการที่ต้องพิจารณาศึกษามากและซับซ้อน

กรณีศึกษาที่ 2 เป็นการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาด้วยมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ประตูระบายน้ำ (ปตร.) กลางคลองส่งน้ำสายใหญ่ออกแบบสำหรับให้ปริมาณน้ำ 49 ลบ.ม./วินาทีไหลผ่าน ปรากฏว่ารอยต่อระหว่างจุดสิ้นสุดของอ่างขจัดพลังงานน้ำ (Stilling basin) กับจุดเริ่มต้นของคลองส่งน้ำที่ดาดด้วยคอนกรีตเกิดการกัดเซาะ ต้องซ่อมแซมอยู่เป็นประจำ เมื่อผู้เขียนทราบปัญหาก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องง่าย โดยเข้าใจว่าการไหลของน้ำลอดใต้ประตูระบายน้ำ เมื่อเปิดบานประตูบางส่วน การเปลี่ยนสถานะจากน้ำไหลเร็วเป็นน้ำไหลช้าไม่เกิดสมบูรณ์ในอ่างขจัดพลังงานน้ำท้ายประตู แต่เลื่อนไปเกิด ณ จุดที่เกิดการกัดเซาะหรือเกิดท้ายจุดที่เกิดการกัดเซาะ จึงได้ขอข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องไปศึกษา ผลการศึกษาปรากฏว่าการเปลี่ยนสถานะจากน้ำไหลเร็วเป็นน้ำไหลช้าเกิดสมบูรณ์ในอ่างขจัดพลังงานน้ำ หรือการออกแบบอ่างขจัดพลังงานน้ำถูกต้อง

Advertisement

เมื่อผู้เขียนเดินทางกลับไปที่โครงการดังกล่าวอีก 2-3 ครั้ง เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก็ไม่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ปรากฏว่าเมื่อไปสอบถามข้อมูลเป็นครั้งที่ 4 หรือครั้งที่ 5 พบว่า ท้ายจุดที่เกิดการกัดเซาะตามแนวคลองส่งน้ำสายใหญ่ลงไปประมาณ 5 กม. มีประตูกลางคลองซึ่งท้องคลอง ณ จุดที่ใช้เป็นธรณีประตูมีระดับ 10.140 ม. แต่ท้องคลองด้านท้ายประตูอยู่ที่ระดับ 8.487 ม. หรือก้นคลองลดระดับในแนวดิ่งลง 1.653 ม. ซึ่งความลึกของการไหลสม่ำเสมอ (Uniform flow) เท่ากับ 2.80 ม. โดยก้นคลองท้ายประตูกลางคลองลดระดับในแนวดิ่งลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของความลึกของการไหลสม่ำเสมอ

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงสมมุติให้ความลึกของการไหล ณ จุดที่พื้นคลองลดระดับเท่ากับความลึกของการไหลวิกฤต (Critical flow) และยกบานประตูกลางคลองพ้นน้ำ แล้วเริ่มต้นคำนวณกรณียกบานประตูพ้นน้ำให้ความลึกของน้ำหน้าประตูเท่ากับความลึกของการไหลวิกฤต เมื่อคำนวณหาระดับผิวน้ำของการไหลที่ความลึกของการไหลค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปทางเหนือน้ำจนถึงจุดที่เกิดการกัดเซาะ พบว่าความลึกของการไหลเท่ากับ 2.558 ม. หรือน้อยกว่าความลึกของการไหลสม่ำเสมอเท่ากับ 0.242 ม. เมื่อนำความลึกดังกล่าวไปคำนวณหาการเปลี่ยนสถานะการไหล จากไหลเร็วเป็นไหลช้าเมื่อเปิดบานประตูบางส่วน พบว่า การเปลี่ยนสถานะการไหลเลื่อนลงไปเกิดบริเวณรอยต่อหรือจุดที่เกิดการกัดเซาะ

จึงสามารถสรุปได้ว่าไม่ควรยกบานประตูทางด้านท้ายน้ำที่เป็นอาคารลดระดับในแนวดิ่ง (Vertical drop structure) พ้นน้ำ แต่ควรใช้บานประตูควบคุมการไหลในคลองด้านเหนือประตูให้การไหลใกล้เคียงกับการไหลสม่ำเสมอ (Uniform flow) ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการกัดเซาะที่รอยต่อระหว่างจุดสุดของอ่างขจัดพลังงานน้ำและที่จุดเริ่มต้นของคลองส่งน้ำด้านท้ายน้ำ

เมื่อผู้เขียนนำผลการศึกษานี้ไปเสนอกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง (ไม่ใช่วิศวกร แต่ปฏิบัติงานอยู่ที่นั่นเป็นเวลามากกว่า 20 ปี) ได้พูดขึ้นทันทีว่า ผลการศึกษานี้ถูกต้องเพราะเมื่อประตูกลางคลองด้านท้ายน้ำก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่ได้ติดตั้งบานประตู การกัดเซาะที่จุดดังกล่าวรุนแรงมาก และผลการศึกษานี้ได้รับคำชมจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ไม่ต้องเสียงบประมาณในการปรับปรุง

กรณีศึกษาทั้งสองนี้อยู่ในโครงการ “การจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแม่กลอง อย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง” ซึ่งดำเนินการในช่วงปี พ.ศ.2522-2524

เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปปฏิบัติงานกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่ในประเทศแคนาดา ซึ่งที่นั่นปฏิบัติงานเฉพาะทางซึ่งผู้เขียนปฏิบัติงานอยู่ในกลุ่มงานชลศาสตร์ (Hydraulic department) ก็ปฏิบัติงานเฉพาะชลศาสตร์และอุทกวิทยาเท่านั้น งานเล็กๆ งานหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบคือ ขนาดของเครื่องสูบน้ำที่ปากอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศสหรัฐ-แคนาดา และมีทั้งทางรถยนต์และทางรถไฟลอดอุโมงค์ดังกล่าว ซึ่งวิศวกรอาวุโสผู้ให้งานบอกว่างานนี้บริษัทอาจถูกฟ้องได้ เนื่องจากพื้นที่รับน้ำฝนที่ปากอุโมงค์ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างทางรถยนต์และรถไฟบนพื้นราบกับทางรถยนต์และทางรถไฟที่ปากอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเป็นพื้นที่ที่ไม่ราบเรียบและไม่สม่ำเสมอ จึงยากแก่การคำนวณหาปริมาณน้ำฝนที่ตกลงบนพื้นที่ดังกล่าว แล้วไหลลงมาที่บ่อสูบของเครื่องสูบน้ำที่ปากอุโมงค์ ผู้คำนวณคนแรกได้ลาออกไปแล้ว ได้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณ ซึ่งผู้เขียนอ่านดูแล้วไม่เข้าใจ จึงคำนวณหาระยะเวลาที่น้ำฝนไหลจากจุดไกลสุดของพื้นที่รับน้ำฝนมายังบ่อสูบ (Concentration time) ซึ่งพื้นที่รับน้ำฝนของบ่อสูบเป็นพื้นที่ที่ไม่ราบเรียบดังกล่าวมาแล้ว จึงยากแก่การคำนวณ ปรากฏว่าสูตรที่ใช้ในการคำนวณจากตำราอุทกวิทยา 3-4 สูตร แต่ละสูตรคำนวณได้ค่าไม่เท่ากัน ปริมาณฝนที่ใช้ในการคำนวณผู้ที่ให้งานให้ใช้ฝนที่คาบการเกิดซ้ำ 25 ปี (25 years return period) หรือ 25 ปีมีโอกาสเกิด 1 ครั้ง ผู้เขียนจึงใช้สูตรที่ให้ค่าปริมาณน้ำฝนที่มากที่สุดไปใช้ในการคำนวณ

ผลปรากฏว่าขนาดของเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งไว้ สามารถสูบน้ำที่เกิดจากฝนตกออกได้โดยไม่ทำให้เกิดน้ำท่วม ผู้ที่ให้งานผู้เขียนมาทำก็พูดขึ้นว่า ถ้าวิธีการคำนวณของคุณถูกต้อง บริษัทคงไม่ถูกฟ้อง (และอีกงานหนึ่งคือได้ช่วยออกแบบระบบระบายน้ำซึ่งเป็นคลองดินบนพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ จึงต้องมีอาคารลดระดับ (Drop structure) หลายจุด การออกแบบดังกล่าวต้องใช้ความรู้ทั้งการไหลในทางน้ำเปิดขั้นสูง และการออกแบบอาคารชลศาสตร์)

ในปี พ.ศ.2517-2518 รวมเวลา 1 ปี ผู้เขียนมีโอกาสไปปฏิบัติงานกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่ในแคนาดา เป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาที่ปฏิบัติงานเฉพาะทางดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่าผู้เขียนได้ปฏิบัติงานในกลุ่มงานชลศาสตร์ (Hydraulic department) ก็ปฏิบัติงานเฉพาะชลศาสตร์และอุทกวิทยาเท่านั้น ถ้าเป็นงานฐานรากก็จะส่งให้กลุ่มงานปฐพีกลศาสตร์ (Geotechnical department) และถ้าเป็นงานคอนกรีตเสริมเหล็กก็จะส่งให้กลุ่มงานวิศวกรรมโยธา (Civil department) เป็นต้น

ที่นั่นได้พบกับวิศวกรชาวเกาหลีใต้ ซึ่งสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโทจากสหรัฐและได้สัญชาติแคนาดาแล้ว ได้ถามผู้เขียนว่า หน่วยงานด้านพัฒนาและจัดการน้ำในประเทศไทยแบ่งการปฏิบัติงานอย่างไร เมื่อผู้เขียนอธิบายจบท่านก็พูดขึ้นว่า ในประเทศเกาหลีใต้ เมื่อก่อนก็เคยแบ่งการปฏิบัติงานแบบประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้แบ่งการปฏิบัติงานเป็นเฉพาะทาง เช่นเดียวกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่ในประเทศแคนาดาได้ 2-3 ปีแล้ว

อนึ่งเวลาได้ล่วงเลยมามากกว่า 40 ปี แต่หน่วยงานด้านพัฒนาและจัดการเกี่ยวกับน้ำในประเทศไทยยังไม่ได้แบ่งการปฏิบัติงานเป็นเฉพาะทางเลย

อนึ่ง หน่วยงานที่ปฏิบัติงานเฉพาะทางจะรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโททางวิศวกรรมและสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าปฏิบัติงาน

สำหรับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจากแคนาดาที่กล่าวถึงนอกจากจะรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในแคนาดาแล้ว ยังมีที่ปรึกษาพิเศษซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งจากแคนาดาและสหรัฐอีกด้วย ซึ่งบริษัทนี้มีผลงานอยู่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย (Chao Phraya-Mekong Basin Study ประมาณปี พ.ศ.2521-2525)

จากเหตุผลโดยย่อดังกล่าวแล้ว จึงเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำของกรุงเทพฯ แบ่งการปฏิบัติงานในหน่วยงานเป็นการปฏิบัติงานเฉพาะทาง ดังเช่นที่บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่ในแคนาดาได้ถือปฏิบัติมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 50 ปีและต้องรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโทในสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าปฏิบัติงาน เช่น กลุ่มงานด้านชลศาสตร์ (Hydraulic department) ต้องรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโท สาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและได้คะแนนในวิชาการไหลในทางน้ำเปิดขั้นสูง (Advanced open-channel hydraulics) อุทกวิทยาขั้นสูง (Advanced hydrology) การไหลในระบบท่อขั้นสูง (Advanced flow through closed conduit system) และระบบป้องกันอุทกภัยและระบบระบายน้ำขั้นสูง (Advanced flood protection and drainage systems) ในระดับ A และอาจารย์ผู้สอนวิชาดังกล่าวจะต้องมีประสบการณ์สูงทั้งทางด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติด้วย

นอกจากนี้ในหน่วยงานจะต้องมีการอบรมสัมมนาเป็นระยะๆ และหัวข้อในการอบรมควรประกอบด้วยทฤษฎีและกรณีศึกษา ในช่วงปี พ.ศ.2517-2518 รวมเวลา 1 ปีที่ผู้เขียนไปปฏิบัติงานกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่ในแคนาดา มีอบรมสัมมนา 3 ครั้ง และออกไปดูงานภายนอกอีก 2-3 ครั้งเช่นเดียวกัน

อนึ่ง เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว (ปัจจุบันเดือนพฤศจิกายน 2559) ผู้เขียนเคยเป็นอนุกรรมการสอบสัมภาษณ์ตามผลงานที่นำเสนอเพื่อขอเลื่อนระดับใบประกอบวิชาชีพของสมาคมวิชาชีพแห่งหนึ่ง มีผู้ที่มีผลงานคุมงานก่อสร้างเข้าสอบสัมภาษณ์กับผู้เขียนประมาณ 20 คน ผู้เขียนได้ตั้งคำถามว่า การระบายน้ำออกจากบ่อก่อสร้าง ระบายออกจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ (Gravity) หรือระบายออกโดยการสูบ ปรากฏว่า 20 คน ตอบว่าระบายน้ำออกโดยการสูบ ผู้เขียนจึงถามต่อว่าขนาดเครื่องสูบน้ำคำนวณอย่างไร

ปรากฏว่าไม่มีผู้ตอบถูกเลย ประมาณ 1 หรือ 2 คนจากผู้ที่่เข้าสอบ 20 คน สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโทด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ จึงทำให้สงสัยว่าเครื่องสูบน้ำของกรุงเทพฯที่ติดตั้งอยู่ทั่วๆ ไปมีการคำนวณทางวิชาการที่ถูกต้องหรือไม่?

สิ่งสำคัญมากอีกข้อหนึ่งคือ กรุงเทพฯตั้งอยู่บน 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำสายที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และตั้งอยู่ท้ายน้ำสุด ฉะนั้นการจัดการน้ำทางด้านเหนือน้ำจึงเกิดผลกระทบต่อประชาชนชาวกรุงเทพฯทั้งในแง่บวกและลบ เช่น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น หรือถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นอีกในอนาคตอาจทำให้กรุงเทพฯขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา เป็นต้น

ถ้าผู้เขียนเป็นผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพฯจะให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยตั้งคณะทำงานคอยติดตามงานการจัดการน้ำ ทั้งมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างโดยเฉพาะที่อาจเกิดผลกระทบในทางลบต่อชาวกรุงเทพฯ และแจ้งให้ชาวกรุงเทพฯทราบเป็นระยะๆ ดังเช่นกรณีที่เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯในปี พ.ศ.2554 ซึ่งสามารถป้องกันได้ถ้าผู้ที่รับผิดชอบเข้าใจระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำของโครงการชลประทานเจ้าพระยาเป็นอย่างดี

ทั้งนี้เพราะในปี พ.ศ.2554 ได้ผันน้ำอุทกภัยเข้าคลองระพีพัฒน์ 200 ลบ.ม./วินาที แต่ความจุที่ออกแบบ 150 ลบ.ม./วินาที และคลอง 13 ซึ่งเป็นปลายคลองระพีพัฒน์ความจุประมาณ 20 ลบ.ม./วินาที ซึ่งทิ้งน้ำลงคลองแสนแสบ โดยผันน้ำอุทกภัยเข้าคลองระพีพัฒน์เป็นเวลา 6 วัน

จากเหตุผลโดยย่อดังกล่าว ถ้าผู้เขียนเป็นผู้บริหารระดับสูงของ กทม.ในช่วงฤดูฝนที่เกิดฝนตกหนักและอาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ผู้เขียนจะส่งเจ้าหน้าที่ไปอยู่ประจำ ณ จุดสำคัญๆ รอบ กทม. ที่อาจมีการระบายน้ำท่วมเข้ามาในเขต กทม.ได้และรีบประกาศให้ประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบทราบโดยด่วน เพราะโครงการเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกตอนล่างที่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ ระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำค่อนข้างซับซ้อน จึงทำให้มีผู้ทราบเรื่องดีน้อยมาก โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดเช่นปี พ.ศ.2554 ขึ้นมาอีกจึงมีความเป็นไปได้ แต่ความรุนแรงอาจน้อยกว่าปี พ.ศ.2554

เหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนเข้าใจเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯในปี พ.ศ. 2554 ดี เพราะในช่วงปี พ.ศ.2522-2524 ซึ่งผู้เขียนได้ลาออกจากราชการเป็นการชั่วคราวตามมติ ครม.เพื่อมาปฏิบัติงานในโครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง” กับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่จากแคนาดา ซึ่งมีผลงานจากทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐด้วย โดยนั่งปฏิบัติงานที่กรมชลประทานสามเสน และในปี พ.ศ.2522 เป็นปีแรกที่เกษตรกรในโครงการชลประทานเจ้าพระยาเพาะปลูกข้าวนาปรังเต็มพื้นที่ (เต็มตามความสามารถที่คลองส่งน้ำจะส่งให้ได้) เป็นผลให้พื้นที่เพาะปลูกทั้งสองฝั่งของคลองพระองค์ไชยานุชิต ซึ่งฝั่งซ้าย (หันหน้าตามน้ำ) ในเขต จ.ฉะเชิงเทรา และฝั่งขวาในเขตกรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ เกิดความเสียหายประมาณ 50,000 ไร่

และผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ศึกษาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ ถ้าผู้เขียนเป็นผู้แทนของชาว กทม.ผู้เขียนจะเสนอรัฐบาลให้นำเรื่องต่อไปนี้เป็นวาระแห่งชาติคือ “ถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นมาอีก กรุงเทพฯจะต้องไม่ขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา” ทั้งนี้เพราะผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าปล่อยให้การจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นเช่นปัจจุบัน (เมษายน 2561) และเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นมาอีกกรุงเทพฯจะขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาอย่างแน่นอน

ทั้งนี้เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนเหนือของกรุงเทพฯ เป็นโครงการที่เป็นตัวเร่งให้กรุงเทพฯขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาทุกโครงการ ไม่มีโครงการใดเลยที่เป็นตัวลดปัญหาการขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาในเขตกรุงเทพฯ ถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นมาอีก ทั้งนี้เพราะเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นโครงการ โดยไม่ได้ศึกษาเพื่อพัฒนาอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้องตามหลักวิชาการดังที่บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่จากแคนาดา (ซึ่งมีผลงานอยู่ทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐ) ได้เคยศึกษาเป็นตัวอย่างไว้ในช่วงปี พ.ศ.2521-2525

ส่วนในการป้องกันน้ำท่วมก็เช่นเดียวกัน สำหรับในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะต้องศึกษาอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำ โดยเริ่มจากการป้องกันน้ำท่วมด้วยมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างให้เกิดประโยชน์ภาพสูงสุุดก่อน แล้วจึงตามด้วยมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อย ไปสู่มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาก ซึ่งรายละเอียดมีอยู่ใน ฉลอง เกิดพิทักษ์ “การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำท่วมโดยไม่ต้องขุดคลองระบายน้ำในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา” ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม 2561 หน้า 15

จากรายละเอียดในบทความดังกล่าวได้เสนอแนะให้ศึกษาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดปัญหาน้ำท่วมจาก จ.นครสวรรค์ถึงพระนครศรีอยุธยา ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ลบ.ม./วินาที และจาก จ.พระนครศรีอยุธยาถึงสมุทรปราการได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ลบ.ม./วินาที แต่ตามที่ ครม.สัญจรจัดประชุมที่ จ.พระนครศรีอยุธยาอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการขุดคลองระบายน้ำในเขต จ.พระนครศรีอยุธยาด้วยงบประมาณ 17,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดปัญหาน้ำท่วมในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา จังหวัดเดียวได้ 1,200 ลบ.ม./วินาที (ซึ่งศึกษาเป็นจุด ไม่ได้ศึกษาเป็นระบบลุ่มน้ำเหมือนกรณีไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง)

กล่าวโดยสรุปกรุงเทพฯตั้งอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายน้ำสุด ฉะนั้นการจัดการน้ำบนลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้านเหนือน้ำของกรุงเทพฯ ก็จะผลกระทบต่อชาวกรุงเทพฯบางส่วนเช่นอุทกภัยปี พ.ศ.2554 ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่รังสิต ดอนเมือง หลักสี่ และจตุจักร และภัยแล้งปี พ.ศ.2536 เกือบทำให้กรุงเทพฯขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา

 

ผู้เขียนจึงเห็นว่าผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพฯควรให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษและแจ้งให้ชาวกรุงเทพฯที่อาจได้รับผลกระทบทราบเป็นระยะๆ หรือตามเวลาที่เหมาะสม พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลเป็นการล่วงหน้าด้วย

อนึ่ง ถ้าผู้เขียนเป็นผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพฯ จะเสนอแนะรัฐบาลให้รีบดำเนินการในหัวข้อต่อไปนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งประกอบด้วย

1) ในการศึกษาเพื่อพัฒนาหรือจัดการที่เกี่ยวกับน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งรวมถึงการที่จะผันน้ำจากนอกลุ่มน้ำเข้ามาในลุ่มน้ำ หรือผันน้ำจากภายในลุ่มน้ำออกไปใช้นอกลุ่มน้ำ จะต้องมีการศึกษาการใช้น้ำและการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบ ด้วยแบบจำลอง โดยจะต้องมีการเก็บข้อมูลจากสนามมาสอบเทียบแบบจำลองที่มากพอและเป็นเวลานานพอด้วย

2) เสนอแนะให้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยนำเอาวิธีการที่ใช้ในช่วงปี พ.ศ.2522-2525 ในเรื่อง “การจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์อย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา” มาประยุกต์ใช้โดยปรับปรุงแบบจำลองให้ทันสมัย พร้อมทั้งเก็บข้อมูลจากสนามมาสอบเทียบแบบจำลองที่มากพอและเป็นเวลานานพอด้วย

สำหรับข้อ 2) นี้ ถ้าสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและในอนาคตถ้าเกิดอุทกภัยเช่นปี พ.ศ.2554 ขึ้นมาอีกก็จะไม่เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ และถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นมาอีกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯอาจไม่ขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา

อนึ่ง ทั้ง 2 ข้อนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในลุ่มน้ำอื่นของประเทศได้อีก เช่นในปี พ.ศ.2544 ได้มีการศึกษาการใช้น้ำในลุ่มน้ำชีอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง เป็นการศึกษาขั้นแผนหลัก ปรากฏว่าผลการศึกษาประกอบด้วยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการน้ำที่ดีๆ หลายโครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อย และเป็นที่ต้องการของประชาชน ปรากฏว่ามีอยู่โครงการหนึ่ง (ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เห็นด้วย) ถ้านำไปใช้งานเพียง 2-3 ปี ก็จะคุ้มค่าจ้างศึกษา แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบถูกยุบไปแล้ว และก็ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดำเนินการต่อ ทั้งๆ ที่เวลาได้ล่วงเลยมา 16 ปีแล้ว แต่กลับไปดำเนินงานโครงการที่ไม่ได้ศึกษาการใช้น้ำอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้องด้วยแบบจำลองเช่น โครงการเขื่อนชีบน เป็นต้น ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตถ้าเกิดความแห้งแล้งที่รุนแรงเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตในลุ่มน้ำชีอีก มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งมีโรงพยาบาลมากกว่า 600 เตียง และเทศบาลนครขอนแก่นมีโอกาสขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาสูงมาก ฉะนั้นในลุ่มน้ำชีจึงเสนอแนะให้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเช่นเดียวกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งประกอบด้วย

1) ถ้าจะพัฒนาหรือจัดการโครงการที่เกี่ยวกับน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ขึ้นมาใหม่ในลุ่มน้ำหรือจัดการน้ำ เสนอแนะให้มีการศึกษาเพื่อจัดการน้ำในลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง โดยต้องมีการเก็บข้อมูลจากสนามมาสอบเทียบแบบจำลองที่มากพอและเป็นเวลานานพอด้วย และ

2) จัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์อย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง โดยต้องมีการเก็บข้อมูลจากสนามมาสอบเทียบแบบจำลองที่มากพอและเป็นเวลานานพอด้วย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ
ฉลอง เกิดพิทักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image