จิตวิวัฒน์ : จริยธรรมหวานเย็น : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

“ศาสนาพุทธแบบไทยไม่สนใจสังคม เอาแค่ตัวเองรอดเป็นพอ”

เวลาได้ยินถ้อยคำแบบนี้ทีไร ผมรู้สึกลึกๆ ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ จนกระทั่งเมื่อผมมาศึกษาค้นคว้าหลักฐานบางอย่าง จึงพบว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเพียงแค่การด่วนสรุปโดยอิงจากคำสอนบางข้อธรรมแบบไม่ใคร่จะถูกต้องนัก

ศาสนาพุทธมีคำสอนเรื่องการพูด ที่ผู้อ่านหลายท่านคงจะคุ้นเคยมาว่า ถ้าเราจะต้องพูดอะไรบางอย่าง ต้องดูว่าเป็นเรื่องจริง เป็นประโยชน์ เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นด้วยหรือไม่ คือท่านมีเงื่อนไขราวกับการเขียนโค้ดโปรแกรมเลย คือต้องตรงตามเงื่อนไขแล้วจึงค่อย “เลือกพูด” ตามโอกาสและวาระอันเหมาะสม

ซึ่งเงื่อนไขที่เป็นคำสอนของท่านนั้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่าต้องคำนึงถึงสังคม การคำนึงว่าเวลาจะพูดอะไรออกไปต้องดูด้วยว่าเป็นที่รักหรือชอบใจของคนอื่นด้วยหรือไม่ แสดงว่าต้องรวมตัวแปรที่รวมสังคมเข้ามาไว้แล้วเรียบร้อย แต่ท่าทีที่ท่านสอนให้ทำคือไม่แคร์นะครับ เพราะได้บอกแล้วว่าถ้าหากเป็นเรื่องจริง เป็นประโยชน์ ถึงแม้พูดไปแล้วคนจะไม่พอใจ ก็ต้องหาโอกาสพูดให้ได้ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกับสุภาษิตไทยที่บอกว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” ตรงนี้มีย้อนแย้งคล้ายปรัชญาซูฟีอยู่เหมือนกัน เพราะในทางกลับกัน ถ้าจะพูดเรื่องที่จริง เป็นประโยชน์ และเป็นที่ชอบใจของคนฟัง ก็เลือกที่จะพูดตามโอกาส ซึ่งก็แปลกคนฟังก็พร้อมฟัง แต่อาจจะไม่พูดก็ได้ แปลว่าไม่ค่อยจะแคร์คนฟังเหมือนกัน

Advertisement

ทีนี้ ทีเด็ดอยู่ตรงที่ ถ้าเราต้องพูดในสิ่งที่ไม่ดีของคนอื่น เราจะพูดไหม? ศาสนาพุทธบอกว่าถ้าเรื่องนั้นเป็นประโยชน์กับส่วนรวมต้องพูดครับ อันนี้ผมรู้ได้อย่างไร ถ้าเราดูตอนที่พระเทวทัตทำสังฆเภท และแยกภิกษุ 500 รูปออกไปอยู่เสียที่อื่น พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ถูกมอบหมายให้ไปตามภิกษุเหล่านั้นกลับ พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะนี่เองที่ได้ชื่อว่าต้องเป็นผู้ประกาศในสิ่งที่ไม่ดีของผู้อื่น เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ดังนั้น ที่บอกว่าศาสนาพุทธไม่สนใจสังคมก็เห็นว่าไม่จริง และการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์กับสังคม ถึงแม้ว่าจะทำได้ยาก และจะต้องทำให้บางคนไม่ชอบใจ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ การพูดความจริงต้องอาศัยความ
กล้าหาญ เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้กับเยาวชน แต่พอหันกลับไปดูแบบเรียนศาสนาพุทธที่สอนกันมาตั้งแต่ชั้นประถม เรายังใช้การตีความทางจริยธรรมแบบหวานเย็นอยู่เลย เช่น การเน้นว่าปิยวาจา คือต้องไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดแล้วทำให้ใครเดือดร้อน ถ้าไปถือแบบนั้นก็หมดกันครับ กลายเป็นสอนให้เด็กของเราเก่งในการเล่นลิ้น พูดกลับกลอกไปทางนั้นทีทางนี้ที ไม่ยืนยันในความถูกต้อง หลักลอย แล้วจะไปโทษใครล่ะครับ?

ในการเรียนรู้เรื่องสุนทรียสนทนา หรือไดอะล็อก การสนทนาแบบตามมารยาท สงวนท่าที และพยายามไม่พูดอะไรที่อาจจะกระทบกระเทือนจิตใจของฝ่ายตรงข้าม จะไม่พาให้การสนทนาลงไปได้ลึกกว่าแค่ระดับผิว ถ้าเป็นทฤษฎีรูปตัวยู เราก็อยู่ในระดับดาวน์โหลด หรือทำไปแบบอัตโนมัตินั่นเอง

Advertisement

สังคมไทยหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เราจึงไม่ค่อยได้เรียนรู้จากความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ เราจึงเป็นสังคมที่ถ้าไม่ดำรงอยู่ในระดับการรักษามารยาท ก็ไปสู่การปะทะคารมกันอย่างรุนแรง มันเป็นด้านร้ายของกระบวนการดีเบต ถ้าเป็นทฤษฎีรูปตัวยู เราก็กำลังจะเหินขึ้นสู่ตัวยูคว่ำ ซึ่งเป็นวงจรอุบาทว์ เริ่มจาก

1.ปฏิเสธต่อต้านด้วยอคติ

2.ปิดใจไม่รับฟังและบี้โบ้ย

3.มีมานะเพราะลึกๆ มีความกลัวเป็นปัจจัย

4.หลอกลวงเล่นเล่ห์ และสุดท้าย

5.การทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทุกวิถีทาง

ซึ่งมันคือการเข้าสู่ด้านมืดเต็มรูปแบบ อย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมในช่วงวิกฤตทางการเมืองเมื่อปี 2553 เข้าสูตรตามนี้เป๊ะๆ เลยครับ

เห็นไหมครับ เรื่องจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่ถูกสอนกันไปแบบผิดๆ สร้างผลกระทบที่ทำให้ประเทศของเราชะงักงันได้อย่างใหญ่โตเลย

ข่าวร้ายก็คือทุกวันนี้การเรียนการสอนจริยธรรมของเราก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปเท่าไร เรายังเลือกเอาจริยธรรมแบบพุทธที่ตีความแบบขนมหวานเย็นมาใช้สั่งสอนเด็กและเยาวชนของชาติ ลองดูตัวอย่างจากการประกวดละครคุณธรรมที่ชอบจัดทำกันทุกๆ ปี ยังใช้จริยธรรมในระดับยุคกลางของตะวันตกอยู่เลย ยังเน้นเรื่องนรก สวรรค์ และใช้รูปแบบการสร้างละครในรูปของโศกนาฏกรรม ซึ่งเดินตามแนวทางของอริสโตเติลที่เชื่อในเรื่องการสร้างให้ผู้ชมเกิดความเวทนาและความกลัว ซึ่งจะนำไปสู่การบังคับและควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ การใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมอย่างยั่งยืนได้หรือไม่? ผมฝากให้ผู้อ่านลองคิดดู

ความกลัวเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความกล้าหาญ ถ้าเราอยากให้เยาวชนของเรากล้าหาญ ทำไมเรายังใช้วิธีการแบบที่เรียกว่า “เอาสวรรค์มาฉก เอานรกมาขู่” อยู่อีกล่ะครับ ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เขาได้คิดวิเคราะห์และเลือกทำและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตนเอง เราทำกับเด็กๆ เหมือนกล้วยบ่มก๊าซ ยิ่งเราตัดทอนคำสอนที่เกี่ยวกับสังคมออกไปจากพุทธศาสนามากเท่าไร เราก็จะได้สังคมที่ไม่แคร์กัน สังคมที่ไม่รู้ว่าความรับผิดชอบต่อส่วนรวมคืออะไร แต่ไม่แน่เราอาจจะได้สังคมที่เต็มไปด้วยพระอรหันต์เดินชนกันอยู่บนทางขึ้นรถไฟฟ้า BTS ก็ได้นะครับ

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image