อยากให้เรื่องนี้ไม่มีใครผิด โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

เมื่อศาลฎีกาพิพากษาให้กระทรวงสาธารณสุขเยียวยาทางแพ่งให้แก่เด็กหญิงที่ต้องตกเป็นผู้ป่วยพิการทางสติปัญญา โดยศาลชี้ว่าเกิดจากการรักษาที่ผิดพลาดของแพทย์ผู้รักษาในเบื้องต้น ก็เกิดการขบกันของกระบวนการแพทย์และกระบวนการยุติธรรม

ทางฝ่ายแพทย์กล่าวว่า คดีนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะคล้ายกับกรณีของแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนถูกตัดสินจำคุกโดยไม่รอการลงโทษจากศาลจังหวัดร่อนพิบูลย์ในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้คนตาย เนื่องจากในการผ่าตัดไส้ติ่งคนไข้รายหนึ่ง คนไข้เกิดอาการแทรกซ้อนจากยาที่ไขสันหลังจนถึงแก่ความตาย ส่งผลให้เกิดการปิดห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนแทบทุกแห่ง และเรียกกรณีนี้ว่า “ร่อนพิบูลย์โมเดล”

ห่วงกันว่า ต่อไปคดีเด็กหญิงผู้ป่วยวัณโรคนี้ อาจจะกลายเป็นแนวทางใหม่ที่ทำให้แพทย์ทั่วไปไม่ยอมอ่านผลจากฟิล์มเอกซเรย์ นอกจากรอส่งต่อไปยังรังสีแพทย์อ่านและให้ความเห็นก่อนทุกกรณี ถ้าไม่อยากตกเป็น “ฝ่ายผิด” และต้องมีความรับผิดทางกฎหมายแพ่งหรืออาญา

คดีนี้ทั้งฝ่ายหมอและศาลนั้นมีทั้งส่วนที่ “น่าเห็นใจจริง” และส่วนที่ “ไม่น่ารักเลย”

Advertisement

ส่วนที่ไม่น่ารักนั้น ทางฝ่ายศาลก็ได้แก่การนำเอาเรื่องการละเมิดอำนาจศาลและความผิดตามพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาใช้ “เตือน” คนที่จะวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในกรณีนี้ ที่ว่าไม่น่ารักก็เพราะว่า ศาลนั้นเป็นคู่ขัดแย้งของเรื่อง และเป็นผู้ตัดสินได้เอง ยิ่งกรณีละเมิดอำนาจศาลยิ่งชัดเจนว่าศาลนั้นเป็นเหมือนผู้เสียหายที่ตัดสินฝ่ายที่มาทำให้ตนเสียหายเองได้ หรือแม้แต่คดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็ไม่แตกต่างกันนัก เพราะเป็นกรณีที่คู่ความเป็น “องค์กร” มิใช่เรื่องของผู้พิพากษาท่านหนึ่งท่านใด การนำคุกตารางที่ตนเองนั้นมีอำนาจเต็มในการชี้ผิดลงโทษมาเปรยให้คู่กรณีฟังจึงไม่ค่อยน่ารักด้วยประการฉะนี้

ส่วนทางฝ่ายแพทย์ที่ไม่น่ารัก คือมีการใช้ตรรกะวิบัติแบบ “ทางลาดไหลลง” (Slippery slope) มาใช้ในการ “ขู่” สังคมกลายๆ เช่นกัน ว่าคำพิพากษานี้จะส่งผลให้หมอที่ไม่ใช่รังสีแพทย์ไม่กล้าอ่านฟิล์มเอกซ์เรย์ “ในทุกกรณี” แม้แต่ขาหักร่องแร่งกันมาเห็นๆ ก็ตาม ทั้งยังสร้างความรับรู้ให้คล้ายว่าคำพิพากษานี้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในทุกกรณีหนีไม่พ้น ส่งผลเป็น “กฎหมาย” ที่บังคับแพทย์ โดยละเลยว่าผลของคำพิพากษานั้นมาจากการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งการนำเสนอพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ แล้วจะให้ชนะความโดยถือว่าตนเองเป็น “ผู้บริสุทธิ์และเสียสละ” นั้นก็อาจจะดูไม่ค่อยยุติธรรมกับอีกฝ่ายที่เป็นผู้ทุกข์ยากเดือดร้อนจากทางการแพทย์นัก

เรื่องของคุณหมอ คนไข้ และกระบวนยุติธรรมนี้ คงจะมี “ดราม่า” กันออกมาอีกเรื่อยๆ ด้วยยังมีมุมที่ยังขบกันและเหมือนจะยังไม่มีใครลองหักทอน “มุมแหลม” ของตัวเองออกมาบ้าง

Advertisement

ฝ่ายแพทย์นั้นก็ยอมรับว่าน่าเห็นใจกว่าในสายตาสาธารณชน เพราะเราล้วนยอมรับกันทุกคนไม่ต้องเถียงว่า คุณหมอทั้งหลายทำงานกันด้วยความเสียสละ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐซึ่งรับภาระคนไข้จำนวนมากต่อวันด้วยบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือที่จำกัด การต้องอยู่เวรไม่ได้กลับบ้านเป็นอาทิตย์เป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติ ยิ่งในช่วงเทศกาลอย่างสงกรานต์นี้เวลานอนของคุณหมอและบุคลากรห้องฉุกเฉินอาจจะมีหน่วยเป็นนาที

ถ้าเป็นคนทำงานเชิงเอกสารทำงานพลาดก็แค่พิมพ์ใหม่ เขียนโปรแกรมหรือคอมพิวเตอร์กราฟิกก็แก้ก็ปรับได้ แต่สำหรับคุณหมอแล้ว ความผิดพลาดหมายถึงสุขภาพของคนไข้ที่สถานเบาคือต้องเป็นทุกข์กับอาการป่วยนั้นต่อไป และสถานหนักคือโรคเรื้อรังร้ายแรงขึ้นหรือเสียชีวิต ข้อจำกัดนานากับความเสียสละ เมื่อพิจารณาร่วมกับความเสี่ยงในเนื้องานแล้ว ความผิดพลาดหากจะมีสำหรับคุณหมอนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้

ส่วนในแง่มุมของศาลนั้น อาจจะหา “#ทีมศาล” ได้ยากสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนยุติธรรม แต่หากเราลองพยายามทำความเข้าใจใน “วิธีพิจารณาความ” ของศาล ก็คงจะเข้าใจและเห็นใจว่า ศาลจะต้องตัดสินไปตามพยานหลักฐานในสำนวน ที่จะต้อง “นำเข้ามาในคดีโดยชอบ” ด้วย ศาลจะให้น้ำหนักกับชื่อเสียงของใครนอกสำนวนก็ไม่ได้ หรือไปรู้เองในเรื่องบางเรื่องทั้งๆ ที่รู้ก็ตัดสินไปไม่ได้ถ้าคู่ความไม่ยกขึ้นกล่าวอ้าง ดังเช่นคดีกู้ยืมเงินที่ต่อให้ศาลเชื่อโดยไม่ต้องสงสัยว่ามีการกู้ยืมกันจริง แต่ถ้าฝ่ายเจ้าหนี้ไม่มีสัญญามาแสดง ศาลก็จะพิพากษาไปให้ไม่ได้

และงานของศาลนั้นก็เป็นเหมือนตราชูหรือตาชั่งสองแขนที่เป็นสัญลักษณ์จริงๆ คือถ้าจะมีข้างหนึ่ง “ชูขึ้นมา” ก็ย่อมจะต้องมีอีกข้างก็ต้อง “ตกลงไป”-ถ้ามีคนถูก ต้องมีคนผิดเสมอ จะถูกกันทั้งคู่นั้นไม่ได้ (แต่ผิดทั้งคู่อาจจะเป็นไปได้ในบางคดี)

ส่วนมุมมองฝ่ายคนไข้ ที่บางคนอาจจะต้องสูญเสียคนที่เป็นที่รักไปเล่า ถ้าถูกรถชนกระโหลกเปิดมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลยังพอว่า แต่ถ้าเป็นไข้หวัดมาแต่อยู่ดีๆ อาการลามไปถึงสมองเสียชีวิตหรือพิการไปตลอดระยะเวลาที่เหลือ ปุถุชนคนธรรมดาจะให้ทำใจยอมรับว่าเป็นเพียงเคราะห์ร้ายกรรมเก่าแล้วแยกย้ายไปงานศพหรือเลี้ยงดูลูกที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไปตลอดชีวิตก็ออกจะทำใจยากอยู่

แต่ถ้าผู้ป่วยสักรายลุกขึ้นมาเรียกร้องฟ้องแพทย์ หากเกิดชนะความขึ้นมา ก็อาจจะตกเป็น “จำเลย” ของสังคมว่า เป็นผู้ร้ายทำลายกำลังใจของหมอ เป็นมนุษย์ไม่ยอมปล่อยวางผู้ทำลายระบบสาธารณสุข คนๆ เดียว ครอบครัวเดียว ทำให้คนทั้งประเทศไม่ได้ผ่าตัดในโรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือต้องนอนขาหักรอคิวรังสีแพทย์อ่านฟิล์มเป็นวันๆ เพราะมีใครสักคนใช้สิทธิต่อกระบวนยุติธรรมเพื่อขอรับการเยียวยาความเสียหายตายเจ็บของตนเองหรือ? แต่ถ้าจะให้ได้รับความเยียวยา ศาลก็จะต้องชี้ก่อนว่า อีกฝ่ายคือแพทย์นั้นเป็นฝ่าย “ผิด” จึงจะเรียกค่าทดแทนได้ตามกฎหมาย เพราะถ้าไม่มีความผิดจะมีโทษได้อย่างไรกัน

ถ้าอยากจะหลุดออกจากปัญหางูกินหางนี้ อาจต้องมีวิธีการหักทอนมุมแหลมของความรับผิด ด้วยทางสายกลางที่ให้เรื่องนี้ไม่ต้องมีใครผิดสักคน วิธีคิดที่ยอมรับว่าคุณหมอก็ทำเต็มที่แล้ว ความผิดพลาดนั้นช่วยไม่ได้และคุณหมอก็ไม่อยากให้เกิด แต่กระนั้น ผู้ได้รับความเสียหายก็สมควรได้รับการเยียวยาตามสมควร และเยียวยาให้ได้โดยไม่ต้องชี้ผิดชี้โทษเอาแก่ใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image