หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นบุตรนางสาลวดี ผู้มีตำแหน่งเป็นนครโสเภณีของกรุงราชคฤห์ ตำแหน่งนี้พระเจ้าพิมพิสารทรงแต่งตั้ง เมื่อทารกเกิดได้ไม่นาน นางสาลวดีให้หญิงรับใช้นำทารกไปทิ้งไว้ที่กองขยะนอกเมือง เช้าวันรุ่งขึ้นเจ้าฟ้าอภัยพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จมาพบ และทรงรับทารกไว้เป็นบุตรบุญธรรม “ชีวก” แปลว่าผู้ยังมีชีวิต ด้วยเหตุที่เจ้าชายในราชสกุลทรงรับเลี้ยงไว้ ทารกเพศชายจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “โกมารภัจจ์” แปลว่าเด็กซึ่งทรงนำมาเลี้ยง

ภายหลังชีวกทราบความจริงว่าตนไม่ใช่บุตรแท้จริงของเจ้าฟ้าอภัย จึงวางแผนหนีไปเมืองตักกสิลาซึ่งมีชื่อเสียง เป็นแหล่งสรรพวิทยาการ ชีวกได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เพื่อเรียน
วิชาแพทย์ ชีวกเรียนวิชาแพทย์กับอาจารย์ถึง 7 ปี มีความรอบรู้ในวิชาที่เรียน แต่ก็รู้สึกคิดถึงบ้านจึงขอลาอาจารย์เพื่อกลับไปกรุงราชคฤห์ ก่อนออกเดินทางอาจารย์ได้เตรียมเสบียงและมอบให้ชีวกใช้ระหว่างเดินทาง

เมื่อหมอชีวกเดินทางถึงเมืองสาเกต ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองตักกสิลาและกรุงราชคฤห์ เสบียงที่นำติดตัวมาได้ใช้หมดไปแล้ว เป็นโอกาสให้ได้ใช้วิชาแพทย์ที่ได้ร่ำเรียนมา ภรรยาเศรษฐีในเมืองสาเกตป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมานานถึง 7 ปี เคยรักษากับหมอมาแล้วหลายคนก็ไม่หาย หมอชีวกได้ทราบข่าวจึงอาสารักษาโรคให้ภรรยาเศรษฐี ปรากฏว่าคนไข้หายป่วย หมอชีวกได้รับรางวัลจากเศรษฐี และบรรดาญาติของเศรษฐีด้วย

เมื่อกลับไปถึงกรุงราชคฤห์ หมอชีวกได้ถวายการรักษาพระเจ้าพิมพิสารซึ่งประชวรเป็นโรค “ภคันทลาพาธ” (โรคริดสีดวงทวาร) จนหายขาด พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงแต่งตั้งให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำราชสำนัก

Advertisement

ในช่วงเวลาดังกล่าว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย หมอชีวกได้มีโอกาสได้ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า

มีเหตุการณ์สำคัญซึ่งอุบัติขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปเข้าฌานสมาบัติที่ถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชฌกูฏ พระเทวทัตได้แอบผลักก้อนหินเพื่อปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า แต่ก้อนหินกลิ้งลงมาปะทะชะง่อนผาเหนือพระเศียร กระเด็นห่างออกไป แต่มีสะเก็ดหินกระเด็นไปกระทบพระบาท ยังผลให้ห้อพระโลหิต พระสงฆ์สาวกช่วยกันหามพระพุทธเจ้าหนีออกมายังสวนมะม่วงของหมอชีวก ขณะนั้นหมอชีวกกำลังรักษาคนไข้อยู่ในเมือง เมื่อทราบข่าวจึงรีบเดินทางไปที่สวนมะม่วง และถวายการรักษาพระพุทธเจ้าโดยชะล้างและพันแผลที่พระบาท แล้วจึงทูลลาไปดูแลคนไข้ในเมืองอีก

หมอชีวกมัววุ่นอยู่กับการดูแลคนไข้ในเมือง ครั้นถึงเวลาเย็น นึกขึ้นได้ว่าถึงเวลาต้องแก้ผ้าพันแผลที่พระบาทของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงรีบมุ่งหน้าไปยังสวนมะม่วง แต่ประตูเมืองปิดเสียแล้ว เขาจึงต้องรอจนรุ่งเช้า เมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ทูลถามว่า

Advertisement

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้พระองค์ทรงมีพระอาการร้อนในหรือเปล่า”

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่า หมอชีวกหมายถึงอะไร จึงตรัสตอบว่า “ตถาคตดับความร้อนทุกชนิดได้สนิทแล้วตั้งแต่วันที่ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นโพธิ์ ผู้ที่เดินมาจนสุดทางแห่งสังสารวัฏหมดความโศก หลุดพ้นไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดแล้วไม่มีความร้อนหรอกชีวก ไม่ว่าร้อนนอกหรือร้อนใน”

หมอชีวกมีโอกาสได้ถวายการรักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี พระเจ้าจัณฑปัชโชตประชวรเป็น “ปัณฑุโรค” (โรคดีซ่าน)

หมอชีวกได้ถวายการรักษาจนพระองค์หายจากโรคดังกล่าว พระเจ้าจัณฑปัชโชตจึงพระราชทานรางวัลแก่หมอชีวก เป็นผ้าเนื้อละเอียดสีทอง 2 ผืน เป็นผ้าที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้เท่านั้น หมอชีวกได้นำผ้าทั้ง 2 ผืนไปถวายพระพุทธเจ้า

สมัยนั้นพระภิกษุถือผ้าบังสุกุลอย่างเดียว พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้รับผ้าที่คฤหัสถ์ทำถวาย หมอชีวกจึงขอพรพระพุทธเจ้าให้ทรงรับผ้าเนื้อดีทั้ง 2 ผืนนั้น และให้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าหรือจีวรที่ชาวบ้านผู้มีศรัทธาจัดถวายด้วย พระพุทธเจ้าทรงรับจีวรของหมอชีวกและทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์รับคฤหบดีจีวรได้ตามคำขอของหมอชีวก ตั้งแต่บัดนั้นจึงทำให้เกิดธรรมเนียมถวายผ้าป่า

หมอชีวกใช้เวลาตลอดชีวิตรักษาคนไข้ เป็นอุบาสกผู้ช่วยตนเองและช่วยผู้อื่นตามพุทธพจน์ทุกประการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image