จัดแถว-คำนับ : บทนำมติชน

ระหว่างนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ที่อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อเช้าวันที่ 3 ส.ค. เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการเข้มงวดกับสื่อมวลชนและช่างภาพ โดยตำรวจสันติบาล จัดทำเอกสารลงทะเบียนจดเลขบัตรประชาชน 13 หลัก กำหนดมารยาทในการถ่ายภาพของช่างภาพสื่อมวลชน 7 ข้อ อาทิ ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกรัฐมนตรีและแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ การแต่งกายที่สุภาพ บุรุษชุดสูทสากล สุภาพสตรีชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น กล้องที่จะนำมาบันทึกภาพต้องผ่านการตรวจและติดแท็กที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจสันติบาล ฯลฯ

มาตรการดังกล่าว กลายเป็นข่าวและเรียกเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า เข้มงวดและดูมีพิธีรีตอง ผิดแปลกจากนายกฯที่ผ่านๆ มา ที่สำคัญ แนวปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยของนายกฯและข้อปฏิบัติของสื่อ มีการปรับปรุงมาตลอด รวมถึงในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่ามีความรัดกุมและมีความพอเหมาะพอควร อยู่แล้ว ต่อมามีคำชี้แจงจากโฆษกสำนักนายกฯว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นของเก่าจากปี 2558 และไม่ใช่นโยบายของนายกฯ ซึ่งได้สั่งยกเลิกไปแล้ว ที่นายกฯสงสัยคือ ทำไมเพิ่งมาใช้วันนี้ แต่นายกฯเข้าใจว่าสันติบาลต้องการให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเป็นสากล อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำงานด้านรักษาความปลอดภัยกับผู้ทำงานด้านสื่อมวลชนอาจถือหลักการคนละแบบ เข้าใจว่าทางตำรวจมองในแง่ความปลอดภัย ต้องการให้เป็นสากล แต่นายกฯเห็นว่าหากทำให้การทำงานของสื่อยุ่งยากขึ้นก็ไม่ควรกำหนดในลักษณะนี้

แน่นอนว่า มาตรการความปลอดภัยของบุคคลระดับผู้นำประเทศ มีความสำคัญ แต่จะเข้มข้นขนาดไหน ควรพิจารณาตามสภาพความเป็นจริง เช่น มีข่าวนายกฯตกอยู่ในอันตราย แต่ก็ต้องระวังว่าข่าวทำนองนี้อาจจะสร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนได้ อาจมีผลในเรื่องความเชื่อมั่นต่อไปอีก นอกจากนี้ มาตรการที่เพิ่มเข้ามา อาทิ การโค้งคำนับก่อนและหลังถ่ายภาพ น่าสงสัยว่าจะมีผลต่อความปลอดภัยของนายกฯอย่างไร และตำแหน่งนายกฯปกติมาจากเลือกตั้ง เป็นผู้รับผิดชอบทุกข์สุขของประชาชน ควรเป็นบุคคลที่เข้าถึงได้ พร้อมสื่อสารกับประชาชนหรือบุคคลทั่วไปตามสมควร ไม่ใช่ปิดกั้นตนเอง ซึ่งภาพและข่าวที่จะสื่อไปยังประชาชนจะบอกลักษณะของผู้นำประเทศไปในตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image