Destined for War : โดย อิสสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

Destined for War จีน vs สหรัฐอเมริกา นี่คือสงครามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้?

เกรแฮม อลิสัน (Graham Allison) เป็นศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์รุ่นเก๋าจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขามีประสบการณ์ด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาอย่างโชกโชน ผ่านงานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหมสหรัฐหลายตำแหน่ง มีผลงานวิเคราะห์ประเด็นด้านความมั่นคงหลายภูมิภาค ทั้งวิกฤตมิสไซล์คิวบา ประวัติของลี กวน ยิว และสหภาพโซเวียตหลังล่มสลาย

Destined for War หนังสือเล่มล่าสุดของอลิสันเลือกพูดเรื่องมหาอำนาจใหม่อย่างจีน ในประเด็นที่ทุกคนอยากรู้ว่าสุดท้ายแล้ว จีนจะขึ้นมาท้าทายและทำสงครามกับสหรัฐหรือไม่

คำถามนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กรอบการอธิบายของอลิสันน่าสนใจตรงที่เขาอธิบายมันด้วย “ประวัติศาสตร์” ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ!

Advertisement

กับดักของทิวซิดิดีส
อลิสันอ้างงานของ “ทิวซิดิดีส” (Thucydides) นายพลนักประวัติศาสตร์ชาวเอเธนส์ ผู้มีชีวิตก่อนคริสตกาลประมาณ 400 ปี และเป็นผู้จดบันทึกมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน (Peloponnesian War) ระหว่างเอเธนส์และสปาร์ตา บันทึกประวัติศาสตร์ของทิวซิดิดีสได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของการเขียนประวัติศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ (scientific history) มีการรวบรวมหลักฐานชัดเจน มีการวิเคราะห์ที่เป็นเหตุเป็นผลทางตรรกะ ไม่ดึงอิทธิพลของเทพเจ้ามายุ่งเกี่ยว

ผู้อ่านที่เคยชมภาพยนตร์เรื่อง 300 คงคุ้นเคยกับคาแร็กเตอร์ของ “ลีโอนิดาส” ราชาแห่งรัฐสปาร์ตากันมาบ้าง สปาร์ตาเป็นเผ่านักรบที่อยู่ทางตอนใต้ของกรีซในปัจจุบัน สมัยนั้นการรวมประเทศเป็นปึกแผ่นยังไม่มีและชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่กันแบบนครรัฐ เนื้อเรื่องในหนังเป็นช่วง “ขาขึ้น” ของเผ่าสปาร์ตา ที่เป็นผู้นำของนครรัฐกรีซต่างๆ ทำสงครามป้องกันแผ่นดินจากเปอร์เซีย ศัตรูจากต่างแดนที่รุกรานเข้ามา

แต่หลังจากสงครามกับเปอร์เซียสิ้นสุดลง เอเธนส์ก็ทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ เป็น “มหาอำนาจใหม่” ในหมู่นครรัฐของกรีซ จนสุดท้ายขึ้นมาท้าทาย “มหาอำนาจเก่า” อย่างสปาร์ตา และเกิดสงครามชิงอำนาจกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สงครามครั้งนี้ถูกเรียกว่า เพโลพอนนีเซียน และจบลงด้วยชัยชนะของเผ่าสปาร์ตา

Advertisement

กรอบคิดของอลิสันอิงเรื่องการผุดขึ้นของมหาอำนาจใหม่ที่ขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจเก่า ซึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นหลายครั้ง และส่วนใหญ่มักจบด้วยสงคราม

อลิสันเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “กับดักของทิวซิดิดีส” (Thucydides’s Trap) และทำเป็นโครงการวิจัยของเขาที่ฮาร์วาร์ด โดยรวบรวมความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ที่เข้าข่าย “เก่า vs ใหม่” ได้ทั้งหมด 16 ครั้ง นับตั้งแต่สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับราชวงศ์ฮัปบูร์กของออสเตรีย มาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามี 12 ครั้งที่ความขัดแย้งลุกลามจนกลายเป็นสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างอังกฤษ vs ฝรั่งเศส, รัสเซีย vs ญี่ปุ่น และสงครามโลกทั้งสองครั้งอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี

ในหนังสือ Destined for War อลิสันจึงเปรียบเทียบการรุ่งเรืองขึ้นมาของจีน ว่าสุดท้ายจะไปท้าทายอำนาจของสหรัฐอเมริกา และเกิดเป็น “มหาสงคราม” ครั้งใหม่หรือไม่

ข้อเสนอของอลิสันคือ สงครามเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงได้ถ้าเรารู้ทันความขัดแย้งเหล่านี้ และในประวัติศาสตร์ก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับโซเวียตในยุคสงครามเย็น หรือ การผุดขึ้นของเยอรมนีในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่กลายเป็นการรวมสหภาพยุโรปแทนการเผชิญหน้ากับประเทศอื่นๆ

สี จิ้นผิง ต้องการอะไร
เรารู้จักวิธีคิดและแนวทางของสหรัฐอเมริกากันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่มหาอำนาจใหม่อย่างจีน อาจยังไม่ใช่ประเทศที่เราคุ้นเคยกันมากนัก ประเด็นที่น่าสนใจในหนังสือ Destined of War คือการวิเคราะห์จีนอย่างละเอียดและแหลมคม ทั้งจากความเป็นนักวิเคราะห์ของตัวอลิสันเอง เส้นสายในจีนของเขาจาก “หลิวเหอ” (Liu He) มือเศรษฐกิจคนสนิทของสี จิ้นผิง ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนของเขาที่ฮาร์วาร์ด และความสนิทสนมของเขากับลี กวน ยิว อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ผู้เป็นต้นแบบให้กับผู้นำจีนยุคหลังหลายคนที่มักเดินทางเข้ามาขอคำปรึกษาจากลี กวน ยิว เป็นประจำ ซึ่งรวมถึงสี จิ้นผิง ด้วย

อลิสันระบุว่า ลี กวน ยิว เป็นคนแรกๆ ที่เตือนให้ทุกคนจับตา “สี จิ้นผิง” ก่อนเขาจะมีชื่อเสียงและขึ้นมาครองอำนาจ ลีมองว่าสีมีความคล้ายคลึงกับตัวเขาเองอย่างมาก โดยเฉพาะปูมหลังในอดีตที่ผ่านความยากลำบากสุดขั้วมาเหมือนกัน กรณีของลีผ่านสงครามโลกที่กองทัพญี่ปุ่นบุกยึดสิงคโปร์อย่างฉับพลันส่วนสีต้องไปลำบากอยู่ในชนบทระหว่างช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมา เจ๋อตง ที่บีบคั้นถึงขั้นพี่สาวของเขาต้องฆ่าตัวตาย

ชีวิตที่ลำบากยากเข็ญของสี จิ้นผิง ในครั้งนั้น ทำให้เขากลายเป็นบุรุษเหล็กที่เข้มแข็งมาจากข้างใน โดยลีเทียบสีกับอดีตผู้นำแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลา ที่ถูกจับขังคุกในช่วงแบ่งแยกสีผิวเป็นเวลานานสิบกว่าปีเมื่อผ่านความทุกข์เข็ญขนาดนั้นมาก่อน การผลักดัน “ความฝันแห่งชาติจีน” (China Dream) ที่แสนยิ่งใหญ่จึงเป็นไปได้

อลิสันตอบคำถามที่ทุกคนสงสัยว่า “จีนในยุคของสี จิ้นผิง ต้องการอะไร” ด้วยประโยคของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่า “Make China Great Again”

Make China Great Again
อลิสันสรุปว่า สี จิ้นผิง มีเป้าหมายทั้งหมด 3 ประการคือ จีนต้องร่ำรวย (rich) ต้องมีอำนาจ (powerful) และต้องได้รับการเคารพ (respected) ซึ่งจะเป็นจริงได้ในช่วงอายุของเขาถ้าหากจีนสามารถยืดระยะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างสำนึกชาตินิยมให้กับประชาชนของตัวเอง และมีอำนาจไม่แพ้ใครในระบบการเมืองโลก

ส่วนนิยามของ Make China Great Again สามารถอธิบายได้หลายรูปแบบ ทั้งการหวนคืนสู่มหาอำนาจแห่งเอเชีย มีอำนาจเหนือเขตแดนจีนในอดีตทั้งซินเจียง ทิเบต ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และมีอิทธิพลเหนือชาติเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนใกล้เคียงกัน

แนวคิดเรื่องจีนเป็นศูนย์กลางของโลก ดำเนินมาตั้งแต่จีนโบราณ ที่เรียกตัวเองกว่า “จงกั๋ว” ที่แปลว่า ประเทศที่เป็นศูนย์กลาง ในมุมมองของจีนที่เป็นมหาอำนาจแห่งเอเชียมานับพันปี การสูญเสียอำนาจนำให้กับชาติตะวันตกในไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา (ช่วงครึ่งหลังของราชวงศ์ชิงเป็นต้นมา) ถือเป็น “ความแปลกปลอมทางประวัติศาสตร์” ที่สี จิ้นผิง ต้องการให้จบสิ้นลง

แผนการของสี จิ้นผิง ประกอบด้วยงาน 4 ด้าน
คืนพลังให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งในแง่การปราศจากคอร์รัปชั่น และการคืน “ความหมาย” ให้กับพรรคปลุกความรักชาติให้กลับมาในหมู่ประชาชนชาวจีน

เดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งที่สาม (ครั้งแรกคือการปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยว ผิง ครั้งที่สองคือ เจียง เจ๋อ หมิน ที่เป็นผู้เริ่มต้นวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นของจีน)

ปรับปรุงกองทัพจีนให้แข็งแกร่ง และสามารถเอาชนะศัตรูใดๆ ก็ได้ในโลกนี้

งานทั้ง 4 ด้านถือว่ายิ่งใหญ่มากในระดับที่ผู้นำคนหนึ่งๆ อาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในการทำเป้าหมายเพียงข้อเดียวให้สำเร็จ แต่สี จิ้นผิง กลับพยายามจะทำทั้ง 4 แนวรบให้สำเร็จในครั้งเดียว จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเขาจึงขยายเทอมการเป็นประธานาธิบดี 10 ปีออกไปอีก

อย่างไรก็ตาม สี จิ้นผิง รับทราบดีถึงความเสี่ยงในการปรับเปลี่ยนประเทศเร็วเกินไป คนใกล้ตัวเขาระบุว่าเขามักอ้างถึงความล้มเหลวของมิคาอิล กอร์บาชอฟ ในการปฏิรูปสหภาพโซเวียต และพยายามเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น สีมองว่ากอร์บาชอฟทำผิดพลาด 3 อย่างคือ ผ่อนคลายด้านการเมืองก่อนปฏิรูปเศรษฐกิจสำเร็จ ปล่อยให้พรรคคอมมิวนิสต์เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น และเลือกให้ผู้นำทหารจงรักภักดีต่อรัฐไม่ใช่พรรคหรือผู้นำพรรค จนสุดท้ายผู้นำฝ่ายทหารก็หันมาโค่นล้มเขาเอง

สิ่งที่สี จิ้นผิง ทำจึงตรงข้ามกับกอร์บาชอฟทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองอย่างเข้มงวด (สวนทางกับการผ่อนคลายและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ) การล้างบางผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีประวัติคอร์รัปชั่น และการจัดระเบียบกองทัพประชาชนใหม่ กระชับอำนาจในหมู่นายพลระดับสูงให้จงรักภักดีต่อพรรคและคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง ซึ่งประธานก็คือตัวเขาเอง

อย่างไรก็ตาม สี จิ้นผิง ยังยอมรับว่ากองทัพจีนยังเป็นรองกองทัพสหรัฐอยู่มาก ทั้งในแง่อาวุธ เทคโนโลยีและประเด็นสำคัญที่สุดคือ กองทัพจีนไม่เคยออกรบมานานหลายสิบปี ทำให้ขาดประสบการณ์การรบจริงที่กองทัพสหรัฐสั่งสมมาโดยตลอด

สุดท้ายแล้ว จีนจะต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐตามคำทำนายของทิวซิดิดีสหรือไม่ คงขึ้นกับนโยบายของทั้งผู้นำจีนและสหรัฐ ว่าจะสามารถ “อยู่ร่วมกันโดยสันติ” หรือจะเลือกทำสงคราม

อิสสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image