ลาวสว่างไสว… หม้อไฟแห่งเอเชีย โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ลาว…ร้อยเขื่อน เป็นข้อมูลที่ไม่ค่อยมีใครทราบ เหนือจรดใต้ของดินแดนที่ไม่มีทางออกทะเล ลาวมีเขื่อนกั้นน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าเรียงรายใหญ่น้อยราว 100 เขื่อน ลาวลงทุนร่วมกับประเทศพี่เบิ้มมากหน้าหลายตา รวมทั้งไทย สร้างรายได้มหาศาลจากการขายไฟฟ้าจากพลังน้ำและพลังความร้อนใต้พิภพ

ดินแดนแคว้นลาว ยังล้นหลาม เนืองนองไปด้วยแร่ทองแดง ทองคำ และถ่านหิน

ลาว… เพื่อนบ้าน หนึ่งมิตรชิดใกล้ที่แนบแน่นกับไทยทั้งกายและใจ มีพรมแดนทั้งทางบกและทางน้ำติดต่อกับไทยราว 1,800 กม.

ไทย-ลาว มีประวัติศาสตร์พัวพันกันนัวเนีย ประชากรทั้งสองดินแดนเป็นญาติพี่น้องเกี่ยวดองกัน เคลื่อนย้ายไปมาหาสู่กัน ส่วนใหญ่เรารู้จักกันแต่ในประวัติศาสตร์

Advertisement

ความสัมพันธ์เก่าก่อน ตำนานที่แฝงด้วยข้อมูลตั้งแต่ปีมะโว้ล้วนเป็นเรื่องปรัมปรา ผุพัง หลอกหลอน หยอกล้อกันไป-มา

ลาวเป็นดินแดนภูเขาสูงเสียดฟ้า แม่น้ำ ป่าไม้ที่ยังเขียว อุดมแร่ธาตุ มีฝนตกที่ผลิตน้ำจืดอย่างเหลือเฟือ

คนทั่วไปเรียกกันง่ายๆ ว่า “ลาว” อันที่จริงประเทศนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “สปป.ลาว” หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภาษาอังกฤษ คือ Lao People’s Democratic Republic

Advertisement

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ขอชวนพูดคุย สังสรรค์ เรื่องของประเทศลาวที่มีวิสัยทัศน์ ตั้งใจพัฒนาดินแดนไปเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ครับ

ลาวมีภูมิประเทศเป็นภูเขา เทือกเขา เกือบทั้งประเทศ คล้ายกับเวียดนาม ดินแดนแห่งเขาสูงแห่งนี้ เป็นพื้นที่หลักที่เติมน้ำให้แก่แม่น้ำโขง ซึ่งต้นน้ำของแม่น้ำโขงเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในจีน

ประชาชนของลาวราว 6 ล้านคนเศษ เบาบางอยู่กระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่สูง ป่าไม้ถูกอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานอย่างน่าชมเชย

มีคำกล่าวว่าลาวน่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของอาเซียน รัฐบาลลาววางแผนจะเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า วางกรอบตัวเองจะเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย ที่จะต้องสร้างเขื่อนนับร้อยแห่ง

เขื่อน (ภาษาอังกฤษ : dam) เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่สำหรับกั้นทางน้ำ เพื่อใช้ในการเก็บกักน้ำและป้องกันอุทกภัย รวมถึงผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนบนของเขื่อนจะประกอบไปด้วยส่วนที่เรียกว่า “ทางน้ำล้น” สำหรับให้น้ำที่สูงกว่าระดับที่ต้องการไหลผ่านไปที่ฝั่งปลายน้ำ

มากกว่าครึ่งหนึ่งของแม่น้ำสายหลักทั่วโลกจะมีเขื่อนกั้นไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง

แม่น้ำโขงที่ยาวราว 5,000 กม. ไหลผ่าน หล่อเลี้ยงผู้คนใน 6 ประเทศ จีนสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงในเขตตัวเองไปแล้ว 7 เขื่อน ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ทั้งหมดขึ้นกับการบริหารจัดการการปล่อยน้ำของจีน ถ้าจะเรียกว่า “เป็นความกรุณา” ของจีนก็ไม่น่าจะผิดอะไร

น้ำโขงมีปริมาณน้ำกว่า 4 แสนล้าน ลบ.ม. ในประเทศไทยเราแบ่งออกเป็น 25 ลุ่มน้ำ มีปริมาณน้ำรวมกันแบบหยาบๆ ราว 2 แสนล้าน ลบ.ม. ยังไม่ถึงครึ่งของแม่น้ำโขงสายเดียว

ทะเลสาบเขมร (Tonle Sap : โตนเลสาบ) ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เลี้ยงประชากรและอารยธรรมเขมร ต้องพึ่งน้ำจากน้ำโขง

ความอุดมสมบูรณ์ของโตนเลสาบที่เลี้ยงประชากรได้เกือบทั้งภูมิภาค เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ฝรั่งเศสกรีธาทัพ นำกำลังทหารเข้ามายึดครองดินแดนเขมรในอดีต รวมทั้งขึ้นเหนือไปยึดดินแดนลาวทั้งหมด

โตนเลสาบมีพื้นที่ประมาณ 2,700 ตร.กม. ในยามปกติ แต่ถ้าในช่วงที่มีน้ำมากพื้นที่ของทะเลสาบจะขยายตัวออกไปถึง 16, 000 ตร.กม. (บึงบอระเพ็ด ใน จ.นครสวรรค์ ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีพื้นที่ 212 ตร.กม.)

โตนเลสาบในกัมพูชาแห่งนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีพันธุ์ปลามากถึงกว่า 300 ชนิด ปลาที่คนไทยรู้จักดีชนิดหนึ่ง คือ ปลาบึก (Giant Cat Fish) ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีถิ่นอาศัยเพียงแห่งเดียวในโลกคือในแม่น้ำโขง

น่าเจ็บใจนักที่ “ปลาบึก” จะอาศัยทะเลสาบโตนเลสาบในเขมรเป็นที่วางไข่ แล้วว่ายทวนน้ำจากโตนเลสาบขึ้นสู่ประเทศไทย-ลาว ก่อนไปผสมพันธุ์ที่จีนซึ่งเป็นต้นแม่น้ำโขง

โตนเลสาบของเขมรจะมีอนาคตเช่นไร จะแห้งเหือด จะอุดมสมบูรณ์อู้ฟู่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับว่าลาวจะเดินหน้าสร้างเขื่อนเรื่อยไปหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าสร้างในลำน้ำสายประธาน คือตัวน้ำโขงเอง

ส่วนเวียดนามที่อยู่ท้ายน้ำโขง ก็มีโอกาสที่จะถูกน้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำบริเวณปากแม่น้ำโขงพอจะออกทะเลที่ปลายแหลมญวน แม่น้ำในเวียดนามบริเวณนั้นจะแยกเป็น 8 สายที่แสนจะอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าว ปลา อาหาร มีโอกาสที่จะประสบปัญหาเรื่องน้ำทะเลบุกรุกขึ้นไปเกือบถึงนครโฮจิมินห์ (เดิมคือ กรุงไซ่ง่อน)

ลองกลับมาชำเลืองดูกายภาพของ ลาว ดินแดนแห่งเขาสูง ร้อยเขื่อน

พื้นที่ 70% ของประเทศลาว เป็นเทือกเขาและที่ราบสูงส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ลาวมีพื้นราบบ้างในบริเวณตอนกลางและภาคใต้ของประเทศ

ส่วนที่สูงที่สุดของประเทศเรียกว่าภูเบี้ย (Phou Bia) สูง 2,820 เมตร (สูงกว่าดอยอินทนนท์ของไทย 700 ฟุต) ตั้งอยู่ที่เมืองไซสมบูรณ์ แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 16 แขวง และหนึ่งเขตกำแพงนคร คือกำแพงนครเวียงจันทน์

สิ่งที่ยากเย็นเข็ญใจแสนสาหัส คือ การสำรวจว่าลาวมีประชากรอยู่ที่ไหน และมีเท่าไหร่กันแน่

การสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2552 ประชากรลาวมีประมาณ 6.1 ล้านคน การจำแนกประชากรตามชนเผ่า ใช้ระบบการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามตระกูลภาษา 4 ตระกูลภาษา คือ ตระกูลภาษาไท-ลาว (Tai-Lao) ตระกูลภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต และตระกูลภาษาม้ง-อิวเมี่ยน

จากการจำแนกในระบบนี้ทำให้เห็นภาพว่า ลาวประกอบด้วยชนเผ่าทั้งสิ้น 49 กลุ่ม และแตกเป็นกลุ่มย่อยได้ถึง 160 กลุ่ม ที่มันยากหาตัวไม่เจอ คือ ประชากรในลาวที่กระจัดกระจาย แยกกันอยู่ตามเทือกเขาสูง ไกลโพ้น แต่ถ้าแบ่งเป็นกลุ่มหลัก จะแบ่งคนลาวออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.ลาวลุ่ม (Lao Loum) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบ มีประชากรประมาณ 68% ของประชากรทั้งประเทศ นับถือศาสนาพุทธ มีประเพณีและความเชื่อแบบชาวพุทธทั่วไป

2.ลาวเทิง บางครั้งอาจจะเรียกว่า ลาวกลาง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ราบเชิงเขาและในที่สูง มีประชากรประมาณ 22% ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร ทำไร่เลื่อนลอย ประชาชนเผ่านี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาผี

3.ลาวสูง เรียกง่ายๆ ว่าชาวเขา มีหลายเผ่า เผ่าหลักคือ ม้ง (Hmong) อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบสูงยอดเขา ชาวม้งมีความสามารถในการเดินในป่า เดินบนเขาสูงแบบไม่มีใครเทียบได้ และในอดีตหน่วยข่าวกรอง CIA ของอเมริกามาจ้างชาวม้งทำสงคราม สร้างม้งให้เป็นนักรบต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ม้งเป็นชนเผ่านักรบ ทนต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็น นับถือผี มีนิสัยรักพวกพ้อง มีความเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมเป็นอย่างมาก มีพลเมืองประมาณ 9% ของประชากรทั้งประเทศ

ในสังคมลาวเองมีความหลากหลายทางภาษา ไม่ง่ายที่จะคุยกัน หากมาจากคนละเผ่า

ผู้เขียนเคยมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับนายทหารผู้ใหญ่ และข้าราชการของลาวในด้านความมั่นคงเป็นระยะเวลายาวนาน ได้ยินได้ฟังว่าบางที่คนลาวเองก็ฟังกันเองไม่รู้เรื่อง

ลาวเผชิญกับสงครามกลางเมืองที่รบกันเองและรับผลกระทบรุนแรงจากสงครามเวียดนามรวมแล้วกว่า 60 ปี บ้านเมืองและสังคมบุบสลาย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพัฒนาประเทศให้ฟื้นจากความยากจน

สปป.ลาว เป็นประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) ตั้งแต่ พ.ศ.2514 ด้วยเหตุนี้ลาวจึงวางเป้าหมายที่จะต้องหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดให้ได้ภายในปี พ.ศ.2563

รัฐบาลลาวค้นพบศักยภาพของดินแดนตนเอง ที่มีแต่เทือกเขาสูงค่อนประเทศ ป่าเขียวขจี ลำน้ำหลายสิบสาย ฝนตกเหลือเฟือ ปัจจัยเหล่านี้คือพลานุภาพที่จะทำให้ลาวกลายเป็นเจ้าพ่อ แห่งการผลิตกระแสไฟฟ้าขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และลาวจะขอร่ำรวยแบบยั่งยืน

ที่ตั้งเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าขาย และกำลังก่อสร้าง ปรากฏตามภาพครับ

ตามแผนงานใน พ.ศ.2563 ประเทศลาวจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำได้ถึง 20,000 เมกะวัตต์ จากเขื่อนที่สร้างกั้นลำน้ำสาขาต่างๆ นับจำนวนกว่า 100 แห่ง

ลาวจะเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่รับซื้อกระแสไฟฟ้าจากลาว

เมื่อสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา ลาวผลิตไฟฟ้าทั้งจากพลังน้ำและพลังความร้อน ก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมทั้งหมด 42 โครงการ และกำลังจะแล้วเสร็จอีก 9 โครงการในปี 2561 นี้ ซึ่งจะทำให้ลาวมีเขื่อนผลิตไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินรวมกันเป็นกว่า 90 แห่งในปี 2563

จนถึงปัจจุบันทั้ง 42 โครงการ มีกำลังผลิตรวมกันทั้งสิ้น 6,300 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 35 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 14,000 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่การก่อสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งกำลังดำเนินต่อไป

รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวเพิ่งทำพิธีเปิดใช้เขื่อนเซเสด-3 อย่างเป็นทางการวันที่ 6 มกราคม 2559 ถึงแม้ว่าจะเริ่มปั่นไฟเข้าสู่ระบบมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 เขื่อนขนาด 23 เมกะวัตต์แห่งนี้อยู่ในแขวงสาละวัน เป็นแห่งที่ 3 ที่สร้างกั้นลำน้ำสายเดียวกัน รวมมูลค่า 50.7 ล้านเหรียญ ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มนอรินโก (NORINCO) จากจีน

ถึงแม้ว่าจะผลิตพลังงานได้มากมายก็ตาม ในปี 2560 ลาวที่มีประชากรเพียง 6 ล้านคนเศษ อาจต้องการใช้ไฟฟ้าเพียง 1,579 เมกะวัตต์เท่านั้น และจะเพิ่มขึ้นเป็นเพียงประมาณ 2,862 เมกะวัตต์ในปี 2563

ไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้ในประเทศทั้งหมดจะส่งขายให้แก่เพื่อนบ้าน เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด

ลาวขาย-ไทยซื้อ ประชากรมากขึ้นก็ต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศ ราคาก็ไม่แพงนัก โลกร้อนขึ้นทุกหัวระแหง วัดเกือบทุกแห่ง ห้องน้ำ ห้องส้วมตามวัดใหญ่ๆ ยังขอติดแอร์ให้เย็นฉ่ำ

การซื้อขายกระแสไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาว เป็นความร่วมมือด้านพลังงานสองฝ่าย ที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 ทศวรรษ

มีการคุยกันสนุกๆ ว่า ลาวสร้างเขื่อนที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ ไม่มีใครจำได้ เรื่องจริงนะครับ เกือบ 100 เขื่อน จนแทบจำกันไม่ได้ว่า เขื่อนไหน อยู่ที่ใด ขนาดเท่าใด ใครสร้าง ใครลงทุน?

ความมั่นคงด้านพลังงานและไฟฟ้าคืออนาคตของทุกประเทศ ยังไงๆ ทุกประเทศก็ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่ม…ลาวจึงมุ่งมั่น ดำรงความมุ่งหมายที่จะขายไฟฟ้าเป็นหลัก …ต้องสร้างเขื่อน

กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในลาว คือ ไทย จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย มาเลเซีย เกาหลี นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา เบลเยียม เวียดนาม

แบตเตอรี่แห่งเอเชีย สามารถสร้างเขื่อนที่มีกำลังผลิตรวมกันจาก แม่น้ำสายต่างๆ โดยไม่รวมแม่น้ำโขงได้ถึง 26,000 เมกะวัตต์ เป็นอย่างน้อย ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของลาว

ลาวประสบความสำเร็จในโครงการพลังงาน ไฟฟ้าจึงเป็นสินค้าส่งออกหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของ ลาว ซึ่งรายได้จากการส่งออกไฟฟ้าของ สปป.ลาว แต่ละปีมีอัตราเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความตั้งใจจะเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” บังเกิดขึ้นแล้ว

ลาวยังมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่นำรายได้กว่า 720 ล้านดอลลาร์เข้าประเทศ และทางการได้ลงทุนขยายสนามบินแห่งชาติ ในโครงการมูลค่า 61 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ลาวยังมีถ่านหินคุณภาพดีที่มีผู้เข้าไปลงทุน นำไปผลิตกระแสไฟฟ้าขายอีกทางหนึ่ง

เกาหลีใต้ก็เป็นประเทศผู้ลงทุนเบอร์ใหญ่ในลาวนะครับ เมื่อตุลาคม พ.ศ.2555 ได้งานก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำ 1 พันล้านเหรียญ งาน 3 เขื่อน เขื่อนเซน้ำน้อย ที่จะผลิตไฟฟ้า 410 เมกะวัตต์ บริษัท SK ของเกาหลีใต้จะดำเนินการควบคุมการขายไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้ไทยไปจนถึง พ.ศ.2588 โดยลาวจะมีรายได้ปีละ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่ผ่านมา เราไม่ค่อยได้ยินเรื่องอุบัติเหตุเกี่ยวกับเขื่อนแตกในลาว

ขอนำข้อมูลที่เกิดขึ้น กรณีเขื่อนแตกในลาวมาพูดคุยกันแบบย่อๆ ครับ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2018 เวลาประมาณ 20.00 น. พายุฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในแขวงอัตตะปือ

น้ำในเขื่อนจำนวนมหาศาลไหลทะลัก พุ่งออกไปทำความเสียหายเรือกสวนไร่นา กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพัดพาประชาชนหายไปในความมืด มีคนตาย มีคนหายไปไม่น้อย

เขื่อนที่ถล่มลงมานั้นเป็นเขื่อนดินย่อยที่สร้างขึ้นไว้สำหรับกั้นช่องเขาส่วน D โดยตัวเขื่อนมีความสูง 16 ม. ยาว 800 ม. และมีความหนาของสันเขื่อน 8 ม. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 1 ในผู้ถือหุ้นของโครงการก่อสร้าง ชี้แจงว่า เขื่อนดินนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย

อุบัติเหตุครั้งนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักในประเด็น การออกแบบเขื่อน ซึ่งไม่สามารถรับมือกับความผันผวนด้านสภาพอากาศอันเลวร้ายได้ และข้อบกพร่องด้านการเตือนภัยที่ล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ

ทั้งสองประเด็นนำมาสู่คำถามด้านความรับผิดชอบ และมาตรฐานความปลอดภัยของเขื่อนลาว

ขอแถมเรื่อง เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เมื่อสร้างขึ้นแล้วเกิดการรวมตัวของมวลน้ำมากที่สุดในโลก

เขื่อนซานเสียต้าป้า หรือเขื่อนสามหุบเขา (อังกฤษ: Three Gorges Dam) ในประเทศจีน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแบบเขื่อนคอนกรีตถ่วงน้ำหนัก (Concrete gravity dam) กั้นขวางแม่น้ำแยงซี

สภาประชาชนของจีนลงมติให้ก่อสร้างได้ใน พ.ศ.2535 ในสมัยรัฐบาลของ นรม. หลี่เผิง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลักและป้องกันน้ำท่วม เมื่อพญามังกรจีนตัดสินใจสร้างเขื่อนนี้ ต้องเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากน้ำท่วมโดยรอบประมาณ 1.35 ล้านคน เขื่อนสูง 185 ม. สันเขื่อนกว้าง 115 ม. สันเขื่อนยาว 2,335 ม. พื้นที่รับน้ำกว่า 1 ล้าน ตร.กม. ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ 32 เครื่อง

ความอลังการใหญ่ยักษ์ของอภิมหาเขื่อนซานเสียต้าป้าของจีน ก่อให้เกิดมวลน้ำเท่ากับมหาสมุทร จนถูกนินทาล้อเลียนว่า ทำให้แกนโลกเอียงไปเล็กน้อย

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image