ที่มา | คอลัมน์สุจิตต์ วงษ์เทศ มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
“ชาวนอก” หมายถึง คนภาคใต้ เป็นคำเรียกของคนภาคกลาง
“คนเมืองใน” หมายถึง คนภาคกลาง เป็นคำเรียกของคนภาคใต้
เท่ากับ “ชาวนอก” มีคู่ตรงข้ามว่า “คนเมืองใน” เป็นความรู้ใหม่ล่าสุดเพิ่งได้จากอ่านข้อเขียนของ กิเลน ประลองเชิง เรื่อง “คนเมืองใน” (คอลัมน์ชักธงรบ ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ 4 สิงหาคม 2561 หน้า 3) ขอบคุณหลายๆ ที่ทำให้ได้รู้
“ชาวนอก” มีความหมายอย่างรวมๆ ว่า คนไม่ไทยในภาคใต้ โดยเฉพาะเมืองนครศรีธรรมราช เป็นคำเรียกอย่างดูถูกจากคนกรุงเทพฯ และภาคกลาง พบหลักฐานสำคัญอยู่ในพระราชดำรัสของพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงชี้ว่าเป็นการหลงเข้าใจคลาดเคลื่อน จะขอคัดข้อความสำคัญมาดังนี้
“เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งยังไม่ได้สาบสูญ คงเป็นบ้านเมืองอยู่บัดนี้ และเป็นชาติไทยแท้ ยังหลงไปว่าเป็นชาวนครชาวนอก นับเข้าใน 12 ภาษาได้”
[พระราชดำรัส ร.5 ก่อตั้งโบราณคดีสโมสร พ.ศ. 2450]
12 ภาษา หมายถึง คนอื่นที่ไม่ใช่พวกเราซึ่งเป็นไทย มีพยานอยู่ในเพลงสิบสองภาษา มีเนื้อหาดูถูก “คนอื่น” ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนบ้าน และมีส่วนเป็นบรรพชนคนไทยทุกวันนี้
พระราชดำรัสฯ ผมอ่านตรงที่ยกมานี้ตั้งแต่เป็นนักเรียนโบราณคดี แล้วเคยคัดทั้งหมดลงพิมพ์ในหนังสือที่เขียนเอง เดินหน้าเข้าคลอง (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2513) โดยไม่เข้าใจคำว่า “ชาวนอก” ถามคนเมืองนครฯ ที่เป็นข้าราชการกรมศิลปากร (สมัยนั้น) ก็ไม่ได้ความกระจ่าง
ล่าสุดหลายปีมาแล้วเคยอ่านโคลงสี่ของพระสงฆ์ชาวใต้ บอกว่าตนเป็น “ชาวนอก” เขียนบนผนังวิหารหลวงพ่อทรงธรรม วัดใหม่ประชุมพล อ. นครหลวง จ. พระนครศรีอยุธยา
เมื่อได้ความรู้ใหม่จาก กิเลน ประลองเชิง เลยชวนให้คิดเลยเถิดไปอีกว่าสำเนียงชาวนอกของภาคใต้เป็นที่รู้ทั่วกันในกลุ่มนักวิชาการด้านนี้ว่าสำเนียงเดียวกับชาวจ้วง มณฑลกวางสี ที่พูดตระกูลภาษาไต-ไท (ไท-กะได) เก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว
เท่ากับภาษาพูดของคนภาคใต้ เป็นสำเนียงภาษาไทยเก่าสุดในประเทศไทย ตามที่ อ. ล้อม เพ็งแก้ว เคยบอกนานแล้ว
ภาษาไทยเหล่านี้เคลื่อนที่จากภาคใต้ของจีนลงตามเส้นทางการค้าภายใน (น่าจะพันปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย) ต่อมาคนท้องถิ่นดั้งเดิมบางกลุ่ม (ซึ่งมีหลายเผ่าพันธุ์ เช่น มอญ, เขมร, มลายู ฯลฯ) ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้า ครั้นนานเข้าก็กลายตนเป็นคนไทยพูดภาษาไทย บางพวกอยู่ภาคใต้สำเนียงชาวนอกนี้เอง
แต่การศึกษาไทยยังตกหลุมดำอยู่แค่จับผิดภาษาวัยรุ่นในโซเชียล