นอกจาก”รัฐธรรมนูญ” โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

วาระการเมืองข้นคลั่กด้วยการปะทะว่าด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และการโต้แย้งเรียกร้องว่าจะเอาอย่างไรหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ

เพียงแต่ดูเหมือนว่า ถึงจะเข้มข้นอย่างไร ความพยายามของการที่จะให้ผ่านให้ได้ไม่น่าจะมีอะไรเป็นอุปสรรค กระทั่งทำให้เป็นความพยายามที่ล้มเหลว

เหมือนคู่ต่อสู้ที่ใส่รองเท้าเบอร์ห่างกันมาก จนมองไม่เห็นว่าจะมีแจ็คที่ไหนมาฆ่ายักษ์ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ “รัฐธรรมนูญ” จะเป็นกติกาสูงสุดของการวางโครงสร้างอำนาจ แต่ไม่ว่าจะเขียนละเอียดอย่างไร รัฐธรรมนูญจะยังเป็นแค่กำหนดกรอบของใหญ่

Advertisement

ประเทศที่ปกครองด้วย “นิติรัฐ” หมายถึงมีกฎหมายขึ้นมาให้สิทธิหรือให้สิทธิกับประชาชน

“จำกัดใคร ให้ใคร” กฎหมายจะเป็นตัวชี้ขาด ตัดสินที่ทุกคนต้องยอมรับเมื่อมีการประกาศใช้

จะมาบอกว่ากฎหมายที่ประกาศใช้แล้วไม่ชอบธรรม จึง “ไม่ยอมรับ” ไม่ได้

Advertisement

ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ระหว่าง “ประชาชนและพรรคการเมือง” ทุ่มเทความสนใจ ความใส่ใจไปที่ “ร่างรัฐธรรมนูญ” และ “การเลือกตั้ง”

สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้จัดทำกฎหมายขึ้นมามากมาย

เรื่องนี้เปิดเผยโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเอง ว่า “รัฐบาลชุดนี้ได้จัดทำกฎหมายซึ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาไปมีผลบังคับใช้แล้ว 150 ฉบับ อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯจำนวน 50 ฉบับ ในส่วนที่ประกาศใช้ไปแล้วนั้นมีครึ่งหนึ่งที่บังคับใช้ได้จริง ส่วนที่เหลือยังไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากยังไม่มีการออกกฎหมายลูกหรือกฎกระทรวงเกี่ยวกับวิธีบังคับใช้ขึ้นมาประกอบ”

การออกกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้นั้น จะบังคับใช้กับประชาชนทุกคน

ตามปกติสำหรับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะต้องผ่านรัฐสภาที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผู้แทนประชาชนจะต้องเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็น อีกทั้งตัวประชาชนเองทุกกลุ่มทุกฝ่ายจะต้องมีสิทธิมีเสียงที่แสดงความคิดความเห็นต่อกฎหมายนั้นๆ โดยเฉพาะในส่วนที่ส่งผลกระทบต่อตัวเอง

เป็นการใช้สิทธิอย่างเท่าเทียม เพื่อความรอบคอบในการให้ความยุติธรรมกับทุกคนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ที่เลือกตัวเองเข้ามา จึงเป็นกลไกสำคัญของการออกกฎหมายที่จะคาดหวังได้ในความยุติธรรมนั้น

ในแวดวงของผู้ศึกษาวิชากฎหมาย ย่อมไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินสัจธรรมของการเขียนกฎหมายที่ว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ย่อมเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นนั้น”

มีกฎหมายมากมายที่ออกมาด้วย “สภานิติบัญญัติ” ที่ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้ง

ไม่ว่า “สมาชิกสภา” นี้จะเปี่ยมไปด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติสักเพียงใดก็ตาม ก็มองไม่เห็นว่าผู้ที่ไม่ได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ จะเข้าใจความต้องการของประชาชน กระทั่งเขียนกฎหมายมาบังคับใช้อย่างคำนึงถึงความเท่าเทียมในสิทธิและประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มได้

เป็นประชาชนที่เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบความเป็นประเทศ

องค์ประกอบสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image