ปฏิรูปการศึกษาในถ้ำหลวง โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลังความสามารถของเด็กทีมหมูป่าได้เผยแพร่ออกไปในสื่อ โรงเรียนหลายแห่งพยายามถอดบทเรียน เพื่อนำมาปรับปรุงการเรียนการสอนในโรงเรียนของตน โดยเฉพาะความสามารถของอดุลย์ในการใช้ภาษาอังกฤษ โรงเรียนบางแห่งเปลี่ยนชั่วโมงภาษาอังกฤษเป็นการสนทนา อีกบางโรงเรียนถึงกับพยายามให้ครูสอนทุกวิชาด้วยภาษาอังกฤษ

บทเรียนที่ถอดออกมาจะผิดจะถูก จะแคบไปกว้างไปอย่างไรก็ตาม ก็ล้วนเป็นเรื่องน่ายินดีที่แสดงให้เห็นความกระตือรือร้นของบุคลากรทางการศึกษา ที่จะปรับปรุงการศึกษาในความรับผิดชอบของตน ความหวังว่าเราจะสามารถปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ โดยไม่ต้องรื้อทุกอย่างทิ้งลงให้หมด จึงพอเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม มีอะไรอื่นนอกจากภาษาอังกฤษ ที่สะท้อนแนวทางปฏิรูปการศึกษาได้อีกมากจากพฤติกรรมของเด็กที่ติดถ้ำ

แพทย์ชาวออสเตรเลียซึ่งดำน้ำเข้าไปประเมินสุขภาพของเด็กรายงานว่า เมื่อเขาเห็นว่าทุกคนมีสุขภาพดีพอประมาณไม่ต่างกัน การจัดคิวว่าควรเอาใครออกมาก่อนตามสภาพร่างกายก็ไม่สู้สำคัญนัก ที่สำคัญกว่าก็คือสภาพจิตใจ โดยเฉพาะของคนที่อยู่ในคิวหลังๆ ซึ่งต้องรอข้ามวันกว่าจะได้ออกมา พร้อมกับรับความเสี่ยงว่าถ้าฝนตกหนัก ก็จะได้ออกมาช้าลงไปอีก ฉะนั้น เขาจึงตัดสินใจให้เด็กๆ วางคิวกันเอง

Advertisement

เข้าใจว่า โดยการยินยอมพร้อมใจเช่นนี้ต่างหาก ที่จะช่วยทำให้คนในคิวหลังๆ สงบใจได้ดี ทำให้นอนหลับพักผ่อนได้เป็นปกติระหว่างรอ ไม่กระทบกระเทือนถึงสุขภาพกาย

สื่อไม่ได้รายงานว่าเด็กจัดคิวกันด้วย “ระเบียบ” อะไร อันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ดูเหมือนเป็นคำถามหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวส่งขึ้นไปให้พิจารณา แต่ไม่ถูกถามในการเปิดให้สัมภาษณ์ทางทีวี

ที่น่าสนใจก็เพราะ ไม่ว่าเราจะจัดลำดับ, จัดวิธีการคิด, จัดการเรียนรู้, หรือจัดอะไรก็ตาม ที่จริงแล้วเราจัดมันขึ้นตาม “ระเบียบ” หรือมาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง บางครั้งก็อย่างรู้ตัวและบ่อยครั้งอย่างไม่รู้ตัว ในการศึกษาไทย ครูและหลักสูตรมักเป็นผู้จัด “ระเบียบ” ดังกล่าวให้แก่นักเรียน จนกระทั่งทำให้นักเรียนมักคิดว่า “ระเบียบ” ดังกล่าวมีอยู่เพียงอันเดียวในโลก ดังนั้น การศึกษาไทยจึงมักไม่ประสบความสำเร็จในการสอนให้เด็ก “คิดเป็น”

Advertisement

เพราะพื้นฐานการคิดของมนุษย์ย่อมต้องเริ่มจากการสร้าง “ระเบียบ” ขึ้นอันหนึ่ง สำหรับจัดข้อมูลจำนวนมากและสับสนขึ้นให้มีความหมายแก่ตนเองอย่างใดอย่างหนึ่ง ปราศจาก “ระเบียบ” ดังกล่าว เราไม่มีทางเข้าใจปรากฏการณ์ทุกชนิดที่เกิดขึ้นรอบตัวเราเลย ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ, ทางสังคม, หรือทางอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง

แต่ในถ้ำไม่มีทั้งครูและหลักสูตร เด็กๆ จึงถูกปลดปล่อยจากพันธนาการแห่ง “ระเบียบ” ที่ผูกมัดความคิดของเขาในห้องเรียน เกิดความจำเป็นที่เขาจะต้องคิดเองว่าจะจัดคิวด้วย “ระเบียบ” อะไร เขาคงถกเถียงอภิปรายกันว่า “ระเบียบ” อะไรจึงทั้งเป็นธรรม, ให้ความปลอดภัยแก่ทุกคน, สอดคล้องกับเงื่อนไขของชีวิตแต่ละคน ทั้งสุขภาพกาย, สุขภาพใจ และสุขภาพของความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน

นี่คือ “คิดเป็น” อย่างที่เป็นเป้าหมายการศึกษาตามลมปากของผู้บริหารการศึกษามานาน

ปราศจากเงื่อนไขของห้องเรียนในการศึกษาไทย เด็กไทย “คิดเป็น” อยู่แล้ว แต่ที่ดูเหมือนคิดไม่เป็นนั้นเกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่ระบบการศึกษาวางไว้ให้ต่างหาก ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรทำในการปฏิรูปการศึกษาก็คือทำห้องเรียนให้เป็นถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ไม่มีครูที่คอยจัดและบังคับ “ระเบียบ” การคิด, การรู้, การรู้สึก, ฯลฯ ที่ตายตัวเพียงหนึ่งเดียว มีแต่ครูที่เหมือนโค้ชเอก คือกระตุ้นให้ช่วยกันคิดหา “ระเบียบ” อื่นๆ ที่แตกต่างกัน แล้วร่วมกันประเมินว่าภายใต้สถานการณ์หนึ่งๆ “ระเบียบ” อันไหนที่ทำงานได้ดีที่สุด

โจทย์เลขบัญญัติไตรยางศ์นั้น มี “ระเบียบ” การตอบโจทย์ได้มากกว่าหนึ่ง ห้องเรียนควรคิดถึง “ระเบียบ” ต่างๆ ในการแก้โจทย์ แต่ภายใต้สถานการณ์บางอย่าง เช่น การสอบซึ่งกำหนดเวลาทำไว้ด้วย การแก้โจทย์ด้วยวิธีคิดตาม “ระเบียบ” อื่น อาจงุ่มง่าม, เสียเวลา, และยากกว่า แม้ว่าให้
คำตอบที่เหมือนกันก็ตาม “ระเบียบ” วิธีคิดที่ดีที่สุดคือวิธีคิดที่เหมาะกับสถานการณ์หนึ่งๆ ไม่มีวิธีคิดที่ดีสุดในทุกสถานการณ์

จะทำอย่างโค้ชเอกได้ ก็ต้องถอดครูและโรงเรียนออกจากอำนาจ เพราะการเรียนรู้ภายใต้อำนาจนั้นไม่มีทางที่จะเกิดการ “คิดเป็น” ขึ้นมาได้ ผู้เรียนก็ไม่อยากฝ่าฝืนอำนาจ ผู้สอนก็ไม่พยายามมองหาวิธีเรียนรู้อื่นมากไปกว่าผ่านอำนาจ เพราะมันดูง่ายดีดังนั้น จะปฏิรูปการศึกษา จึงต้องถอดครูและโรงเรียนออกจากอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจที่ไร้ขอบเขตและเหตุผล เช่นทรงผม, เครื่องแบบ, การลงโทษ (แทนการชี้โทษ) ฯลฯ

อำนาจของครูนั้นมีที่มาจากสามทาง

ทางแรกคือวัฒนธรรม ในสมัยโบราณซึ่งข้อมูลที่ถูกจัดระเบียบไว้แล้วถูกเก็บอยู่กับตัวบุคคล จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ก็โดยการทำให้บุคคลผู้นั้นมีเมตตาต่อตน ถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าวให้ ทั้งนี้ โดยไม่พูดถึง “เส้นสาย” ส่วนตัวของครู ซึ่งอาจช่วยให้ศิษย์สามารถไต่เต้าบันไดทางสังคมในชีวิตได้ วัฒนธรรมเคารพบูชาครูสืบทอดมาแต่โบราณถึงปัจจุบัน

วัฒนธรรมเคารพบูชาครูไม่ใช่ความผิดปกติในตัวของมันเอง แต่จะเคารพบูชาครูอย่างไรให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วต่างหาก ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครู-ศิษย์มีลักษณะเป็นการจราจรทางเดียว

ความพยายามจะรักษาวัฒนธรรมโบราณนี้ไว้ในการศึกษาไทยคือพิธีกรรมไหว้ครู ซึ่งจัดขึ้นทุกปี อันที่จริงพิธีกรรมนี้ในสมัยก่อนมีลักษณะก้ำกึ่งกันระหว่างการไหว้ครูผู้สอนที่ยังมีชีวิตอยู่กับ “บูรพาจารย์” ของวิชาที่ตายไปแล้ว หากเป็นการไหว้ครูโขนละคร ก็จะชัดเจนว่าไหว้ “ผี” ของวิชาความรู้ ไม่ใช่ไหว้คน ดังนั้น หากจะยังมีพิธีไหว้ครูก็น่าจะปรับเป็นการไหว้ผีมากกว่าไหว้คน ทั้งนี้ รวมถึงครูเองก็ต้องไหว้ครูร่วมกับนักเรียนด้วย ไม่ใช่ไปนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋อให้เด็กคลานมากราบ

ยิ่งอธิบายความว่า “ผี” ที่ไหว้คือหลักการบางอย่างของวิชาความรู้ ซึ่งน่าจะมีชีวิตเป็นนิรันดร์ ก็ยิ่งทำให้คนที่ถือชอล์กอยู่หน้ากระดานหลุดออกไปจากอำนาจทางวัฒนธรรมมากขึ้น

ที่มาของอำนาจครูอย่างที่สองคือ “ความรู้” ซึ่งหมายถึงกลุ่มข้อมูลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกกำกับด้วย “ระเบียบ” วิธีคิดที่ลงตัว เพราะย้ำคิดย้ำทำย้ำอ่านมานาน “ความรู้” ส่วนนี้แหละที่ครูมีมากกว่านักเรียน แต่ถ้าปราศจากอำนาจ ครูจะไม่นำ “ความรู้” นี้ไปครอบงำนักเรียน เพียงแต่แนะนำให้นักเรียนเห็นว่า นี่เป็น “ระเบียบ” ของความคิดความเข้าใจอย่างหนึ่งเท่านั้น อาจมี “ระเบียบ” อื่นที่ดีกว่า เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่มากกว่า ฯลฯ ซึ่งครูที่ไม่มีอำนาจจะกระตุ้นให้นักเรียนช่วยกันทดลองคิดขึ้นบ้าง

สรุปก็คือ “ความรู้” เป็นที่มาของอำนาจก็ได้ หรือเป็นที่มาของการเรียนรู้ใหม่ๆ ก็ได้ หากไปหยุดเสียที่อำนาจ การเรียนรู้ก็หายไป

ที่มาของอำนาจอย่างสุดท้ายของครูคือการลงโทษ ซึ่งไม่มีความจำเป็นในการเรียนรู้เลย เพราะนักจิตวิทยาการศึกษาบอกว่าให้ผลน้อยกว่ารางวัล ที่สำคัญคือทำให้ต้นทุนการคิดเองแพงขึ้นมาก จนไม่มีนักเรียนคนไหนอยากเสี่ยงกับการคิดเอง หรือคิดนอกกรอบ

บทเรียนสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ถูก “ถอด” จากเด็กที่ติดในถ้ำก็คือ การเรียนรู้จากกันและกัน โดยเฉพาะเมื่อมีครู (โค้ชเอก) ที่ช่วยตะล่อมให้ข้อมูลและความคิดเห็นที่หลากหลายกลายเป็น “ความรู้” สำหรับเด็กทั้ง 12 คน อันที่จริงเด็กไปโรงเรียนไม่ใช่เพื่อเรียนรู้จากครูเท่ากับเรียนรู้จากเพื่อน ภาษิตการศึกษาอย่างหนึ่งมีว่า สนามเด็กเล่นให้การเรียนรู้แก่เด็กมากกว่าห้องเรียน (เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียซึ่งให้ข้อมูลผิดๆ ถูกๆ ในทุกวันนี้ ก็ให้การเรียนรู้แก่ผู้คนมากกว่าสื่อแบบเดิมที่มี บก.คอยคุม)

ปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ต้องทำให้การเรียนรู้ในแนวราบเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของโรงเรียน

เฉพาะข้อมูลกะปริบกะปรอยที่ได้จากประสบการณ์ของเด็กในถ้ำหลวงเกี่ยวกับการเรียนรู้ ก็ครอบคลุมเนื้อหาการปฏิรูปการศึกษาส่วนที่ขาดไม่ได้ไปหลายเรื่องแล้ว ถ้าจะมีการ “ถอดบทเรียน” จากประสบการณ์จริงในชีวิตของผู้คน เพื่อมองหาลู่ทางของการปฏิรูปการศึกษา ก็คงมีอะไรมากกว่านี้อีกมาก

แน่นอนว่า ความรู้ความเข้าใจระบบการศึกษาฟินแลนด์ก็มีความสำคัญ ทักษะอันหลากหลายที่จะช่วยการผลิตในโลกยุคใหม่ก็มีความสำคัญ แต่ประสบการณ์จริงของผู้คนก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image