เมื่อ AI ส่งคุณไปเรียน โดย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

“การเรียนรู้ตลอดชีวิต”

เราอาจได้ยินคำนี้บ่อย บางคนอาจชอบแต่ส่วนมากแล้วจะเบือนหน้าหนี คำถามอาจผุดขึ้นในใจเสมอ ทำไมทุกวันนี้เราต้องเหนื่อยขนาดนี้ด้วย ทำงานยังไม่พอ ยังต้องทำงานและเพิ่มพูนทักษะ ไม่อย่างนั้นจะ “ตกขอบ” จะถูกแทนที่ เด็กรุ่นใหม่จะก้าวขึ้นมาเป็นเวอร์ชั่นที่ดีกว่า แล้วคุณก็จะรู้สึกแก่เก่าเก็บด้วยการหยุดนิ่ง ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้น ถ้าคุณไม่มีใจใฝ่รู้ ไม่รักในการเรียนให้มากพอ ไม่ “คราฟต์” ทักษะให้แหลมคมพอ

เป็นแนวคิดที่ต่างจากสมัยก่อนมากพอสมควร หากเป็นเมื่อก่อน หลังจบการศึกษามหาวิทยาลัย เราอาจใช้เวลาฝึกทำงาน ให้รู้กระบวนการและข้อมูลเบื้องต้นสักปีถึงสองปี แล้วหลังจากนั้นเราก็สามารถใช้ความรู้และทักษะที่ได้ไปเพื่อประกอบอาชีพได้ตลอดชีวิต แน่นอน การเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมก็เกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างจงใจ อย่างหนักหนาสาหัส เทียบกับตลาดแรงงานสมัยนี้

นอกจากคำถามที่ว่าเราจะไปเรียนรู้ที่ไหน (ซึ่งคำตอบตอนนี้ก็มีให้เลือกมากมายตั้งแต่ระบบเรียนออนไลน์ที่เรียกกันว่า MOOC ไปจนถึงชั้นเรียนและเวิร์กช็อปต่างๆ ที่ทุกบริษัทขยันเปิดขึ้นมาโอนถ่ายความรู้สู่แรงงานรุ่นใหม่) คำถามที่สำคัญกว่านั้น อาจจะเป็น “แล้วเราจะเรียนอะไร”

Advertisement

เราจะเรียนอะไร เพื่อให้เราทันโลก เราควรเรียนอะไรเพื่อให้อาชีพการงานของเราดีขึ้น อะไรที่เราขาด อะไรที่เราควรเสริม ท่ามกลางโลกที่มีคอร์สให้เรียนมากมายคล้ายมหาสมุทร บางคนก็อาจรู้สึกว่าตัวเองหลงทาง : เราจะเริ่มตรงไหน อะไรที่เหมาะกับระดับความรู้ความสามารถของเรา?

หากเป็นเมื่อก่อน เราอาจต้องอาศัยครูดีๆ สักคนมาเพื่อตอบคำถามนี้ ครูดีๆ มีความสามารถที่จะมองปราดเดียวแล้วรู้ว่าเด็ก (หรือผู้ใหญ่) ที่อยู่ตรงหน้านั้นต้องค้นคว้าอะไรเพิ่มเติม อะไรที่เขามีเกินพอและอะไรที่เขายังสามารถเติมให้ตัวเองเต็มได้

แต่มาสมัยนี้ – เราอาจสามารถทดแทน “ครูดีๆ” ด้วย AI ได้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โรงเรียนออนไลน์ที่บรรจุคอร์สและนักเรียนมากที่สุด (มากถึง 31 ล้านคนทั่วโลก) อย่าง Coursera เปิดตัวเครื่องมือใหม่ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ บริการที่ Coursera เปิดนั้นพุ่งเป้าไปที่ลูกค้าที่เป็นบริษัทโดยเฉพาะ บริษัทต่างๆ สามารถสมัครใช้บริการนี้เพื่อวิเคราะห์ได้ว่าพนักงานคนไหนของตนที่ได้คะแนนทักษะรายวิชามาก และสามารถเปรียบเทียบทักษะของพนักงานของตนกับพนักงานของบริษัทอื่น รวมไปถึงสามารถใช้เครื่องมือนี้เพื่อระบุได้ด้วยว่า แล้วการจะพัฒนาทรัพยากรบุคคลของบริษัทให้เดินไปข้างหน้าได้นั้น จะต้องอาศัยคอร์สแบบไหนเป็นตัวช่วย

เลียฮ์ เบลสกี (Leah Belsky) หัวหน้าฝ่ายโครงการเพื่อธุรกิจของ Coursera ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร MIT Technology Review ว่า “เดิมทีแล้ว จุดอ่อนจุดตายของอุตสาหกรรมการเรียนรู้ในบริษัทก็คือไม่เคยมีใครบอกได้เลยว่าพนักงานเรียนไปแล้วดีอย่างไร พนักงานเรียนไปแล้ว บริษัทจะได้กำไรมากน้อยแค่ไหน การให้พนักงานเรียนคุ้มไหม? บริษัทก็รู้เพียงคร่าวๆ ว่าตนจะต้องสนับสนุนให้พนักงานเรียนทักษะเสริมเพื่อให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขัน แต่พวกเขาก็ไม่เคยประมวลคุณค่าของการเรียนรู้ออกมาเป็นตัวเลขได้เลย”

ทีมวิทยาศาสตร์ข้อมูลของ Coursera พยายามตอบคำถามนี้ พวกเขาจึงใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเข้าใจภาษามนุษย์ (ด้วย Natural Language Processing – การประมวลภาษาธรรมชาติ) เพื่อมาวิเคราะห์ทักษะมากถึง 40,000 ทักษะที่ Coursera สอน พูดง่ายๆ คือ ปัญญาประดิษฐ์จะลองฟังว่าผู้สอนในแต่ละรายวิชาพูดถึงอะไรอย่างไรบ้าง แล้วนำสิ่งที่ได้มา มาประมวลผลว่ารายวิชานี้ช่วยส่งเสริมทักษะอะไร ตั้งแต่ทักษะด้านคณิตศาสตร์ การเขียนโปรแกรม ไปจนถึงทักษะด้านการสื่อสาร

หลังจากนั้น ทีมวิทยาศาสตร์ข้อมูลก็ใช้วิธีการวัดผลที่เรียกว่า IRT (item response theory) มาเพื่อประเมินว่าผู้เรียนมีทักษะมากน้อยอย่างไร โดยดูจากผลการสอบทั้งควิซและการบ้านที่หลักสูตรนั้นๆ สั่งให้ทำ กลาสเบิร์ก แซนด์ส (Glassberg Sands) นักวิจัยในทีมบอกว่า “คุณสามารถรู้ได้เลยว่าพนักงานของคุณได้คะแนนเป็นเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่เท่าไร เปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ในประเทศเดียวกัน หรือธุรกิจที่มีขนาดใกล้เคียงกันก็ได้ทั้งนั้น”

เมื่อฟังทั้งหมดนี้แล้ว ความรู้สึกแรกของเราอาจเป็นความหวาดกลัว – ปัญญาประดิษฐ์จะถูกใช้เพื่อประเมินว่าเราเก่งและไม่เก่งอย่างไร เรามี “คุณค่า” แค่ไหนต่อบริษัท ในสายตาของบริษัทแล้วการรู้ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์แน่นอน แต่ในมุมของลูกจ้าง การประเมินเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อพวกเขาหากบริษัทใช้รายงานทักษะเพื่อเลือก “เก็บ” หรือ “ทิ้ง” ใครสักคน

“การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ไม่ว่าคุณชอบหรือชังมัน – ด้วยความพยายามของบริษัทในการวัด “คุณค่า” ของคุณออกมาเป็นตัวเลข – บางครั้งคุณก็อาจหลีกเลี่ยงมันไม่พ้น

คำพูดหนึ่งของรุ่นพี่ของผมดังขึ้นมาในใจ “บางทีพี่ก็รู้สึกว่าทุกวันนี้ธุรกิจคาดหวังกับลูกจ้างแต่ละคนมากเกินไป”

แต่เราก็อาจทำอะไรไม่ได้ หากเรายังอยู่ในเกม

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image