ยุคโลกปั่นป่วน โดย สมหมาย ภาษี

ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้สูงอายุทั้งหลายซึ่งเป็นคนไทยขณะนี้ประมาณ 15 ล้านคน คงจะเคยสัมผัสหรือเคยได้ยิน “ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2” กันมาแล้ว ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่ปีสองปี แต่เกิดขึ้นยืดเยื้อมานานถึง 6 ปี (1939-1945) คนที่อยู่ในยุคสงครามโลกทุกคน ไม่ว่าลูกเด็กเล็กแดงหรือใครก็ตาม ต่างหาความสุขไม่ได้เลย สมัยนั้นยังไม่มีทีวี ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือเหมือนสมัยนี้ ความสุขยังพอหาได้บ้าง ในช่วงที่ยังไม่มีเสียงเครื่องบินรบหรือไม่มีเสียงระเบิด

มาถึงสมัยนี้ไม่ต่างกันเท่าใดนักเมื่อโลกกำลังเข้าสู่วาระที่เรียกได้ว่า “ยุคโลกปั่นป่วน” ไม่มีเสียงเครื่องบินรบและเสียงระเบิดเหมือนสมัยโบราณ แต่ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ มันเป็นข้อมูลข่าวสาร มาโดยคลื่นอากาศ มาโดยคลื่นในก้อนเมฆ มันไม่มีเสียง ไม่มีแสง และไม่มีตัวตน มันสามารถสร้างความทุกข์ร้อนให้แก่มนุษยชาติได้มากกว่าสงครามสมัยก่อน

เหตุการณ์ของความปั่นป่วนโลกที่เกิดขึ้นไม่นานซึ่งคนสมัยนี้เคยเห็น คือการถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นิวยอร์ก และตึกเพนตากอนที่วอชิงตัน ดี.ซี. โดยผู้ก่อการร้ายระดับโลกเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ในวันที่ 11 กันยายน 2544 เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความปั่นป่วนและความน่าสะพรึงกลัวจากการก่อการร้ายโลกมาจนถึงทุกวันนี้ ความสุขของประชาชนทั่วโลกในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบินได้หดหายไปมากทีเดียว

ในโลกของการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านคอมพิวเตอร์และด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูง่ายและรวดเร็วไปหมด ไม่ว่าในด้านข้อมูลข่าวสารที่ส่งไปได้ทันทีด้วยปลายนิ้ว ในด้านการผลิตสินค้าทุกด้านทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม การค้าและบริการ การเงินการธนาคาร รวมทั้งด้านการแพทย์ เป็นต้น แต่ในเรื่องที่ดีสุดสุด อย่างนี้ก็ยังมีการสร้างความปั่นป่วนขึ้นมาจนได้ คือการเข้าไปขโมยข้อมูลด้านคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่าการแฮกข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทำลาย หรือทางมิชอบของผู้กระทำ นี่ก็เป็นการสร้างความปั่นป่วนที่อันตรายขึ้นมาในโลกอีกเรื่องหนึ่ง

Advertisement

ความก้าวหน้าของการค้นคว้าและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จะไม่จบเพียงแค่นี้ ตามข่าวที่ออกมาเป็นระยะๆ ทำให้ทราบว่าขณะนี้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล (Google) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และไอบีเอ็ม (IBM) ของสหรัฐ หรือบริษัทใหญ่ของประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น จีน เยอรมนี อังกฤษ และญี่ปุ่น ต่างก็มุ่งพัฒนาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มิติใหม่นี้ในเชิงแข่งขันกันมากขึ้น

ควอนตัม คอมพิวติ้ง (Quantum Computing) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์โดยนำความรู้ทางฟิสิกส์มาใช้เป็นเทคโนโลยีหลัก เรียกว่า “คอมพิวเตอร์เชิงควอนตัม” ว่ากันว่าเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมนี้ จะมีประสิทธิภาพที่สูงและเร็วมาก จะสามารถคำนวณงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ความเร็วจะสูงเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ ถ้าสามารถควบคุมอะตอมได้มากเท่าไหร่ประสิทธิภาพการคำนวณจะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น หากทำสำเร็จเมื่อไหร่ ตามข่าวคาดว่าโลกทั้งใบจะถูกเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วแบบคาดไม่ถึง นี่คือเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ไม่นานเกินรอ

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้สิ่งที่ถือว่าเป็นความปั่นป่วนของโลก ไม่มีเรื่องใดจะยิ่งใหญ่และกระทบประเทศต่างๆ เท่ากับเรื่องสงครามการค้าโลกอีกแล้ว โดยมีประเทศที่ทำสงครามกันตัวต่อตัวเป็นคู่เอก คือสหรัฐอเมริกาและจีน ดังที่ได้ทราบกันดีอยู่แล้ว ทั้งคู่เป็นชาติใหญ่สุดของโลก ผู้นำของทั้งสองประเทศนี้ก็มีสถานะที่แข็งแกร่งมั่นคง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนไม่มีปัญหาเพราะได้ต่ออายุอย่างมั่นคงจากสภาประชาชนมาแล้ว ส่วนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐนั้น ตอนนี้น่าจะรู้ตัวบ้างแล้วว่า เสียงประชาชนของเขา
ชักจะร่อยหรอลงไป ดังนั้น เขาจำเป็นต้องแสดงพลังความคิดของเขาให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ทำให้เขาเพิ่มอัตตาในการบริหารประเทศตามอุปนิสัยของเขาและตามนโยบาย “America First” อย่างเต็มที่ดังนั้น อย่าได้หวังว่าสงครามการค้าโลกหนนี้จะยุติโดยเร็ววัน ตอนนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น

Advertisement

ประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่างก็ได้ประกาศลงสนามปะทะในสงครามการค้าโลกกันแล้วหลายประเทศ ไม่ใช่มีเฉพาะจีน ที่เห็นๆ กันก็มีประเทศเม็กซิโก แคนาดา ตุรกี อินเดีย และกลุ่มสภาพยุโรป หรือ EU ส่วนประเทศญี่ปุ่น แม้ยังไม่ได้ประกาศสงครามการค้าเหมือนประเทศอื่น แต่ด้วยฐานะที่เป็นประเทศที่ทำการค้าใหญ่ก็ได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อไม่ให้เป็นเบี้ยล่างในสงครามการค้าครั้งนี้ ส่วนประเทศรัสเซียนั้น แน่นอนเขาได้เตรียมดำเนินมาตรการต่อสู้ไว้หลายประการ สำหรับประเทศที่ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย คูเวต กาตาร์ นั้น แม้ไม่ถูกกระทบมากนัก แต่เขาก็ต้องดูแลเรื่องน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าหลักของเขาไว้ให้ดี

ทีนี้เมื่อการค้าขายระหว่างประเทศต้องตึงเครียด ก็ต้องนำไปสู่ภาวะผันผวนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินของประเทศคู่ค้าระดับใหญ่ของโลก ทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินหยวนของจีน เงินยูโรของสหภาพยุโรป เงินเยนของญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนสกุลเงินของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจนถึงประเทศเล็กๆ ต่างก็ต้องได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างตามสถานะของประเทศนั้น

เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่างๆ ต้องผันผวน ก็ต้องกระเทือนอัตราดอกเบี้ยของเงินแต่ละสกุล อันนี้ต้องเป็นไปด้วยกัน ในทิศทางที่หลีกเลี่ยงยาก ตรงกันข้ามต้องขึ้นอยู่กับการบริหารด้านการเงิน ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน ให้แน่วแน่และมั่นคง ใครละเลยไม่มีการวางมาตรการต่อสู้กับความเสี่ยงให้ดี ก็อาจต้องออกนอกลู่นอกทาง เศรษฐกิจก็จะกระเทือนหนัก ยิ่งถ้าภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีพอแบบของไทย ซึ่งแน่ชัดว่าตอนนี้อัตราการเติบโตของรายได้ประชาชาติสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ใช่ว่าจะวางใจได้ หากผู้บริหารประเทศขาดความรอบคอบ ขาดความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งพอ ประชาชนส่วนใหญ่ก็มีแต่จะแย่ลง

ปกติอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใดของแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกันมาก การบริหารดอกเบี้ยของประเทศส่วนใหญ่ก็ต้องพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของเงินสกุลหลักๆ ของโลกเป็นเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโรของสหภาพยุโรป เงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ เงินหยวนของจีน เงินเยนของญี่ปุ่น เป็นต้น แต่อัตราดอกเบี้ยของประเทศก็ยังห่างกัน มากบ้างน้อยบ้าง เช่น ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของไทยที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเท่ากับ 1.50% แต่ของธนาคารกลางอินโดนีเซียอยู่ที่ 4.75% ของเกาหลีอยู่ที่ 1.50% ของอินเดียอยู่ที่ 6.25% ของตุรกีอยู่ที่ 17.75% และของญี่ปุ่นอยู่ที่ -0.10% จะเห็นว่าแตกต่างกันมากทีเดียว ทั้งนี้ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยของเงินสกุลต่างๆ มีหลายตัว ที่สำคัญ คือ อัตราเงินเฟ้อ ประเทศที่คุมเงินเฟ้อไม่อยู่อัตราดอกเบี้ยก็ต้องสูง และค่าเงินก็มีแต่จะตกต่ำ ปัจจัยรองลงมา คือสถานะเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ถ้าย่ำแย่แบบประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งต้องพึ่งเงินกู้จาก IMF และธนาคารโลก อยู่ในขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยทางการจะอยู่ที่ 40% ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือสภาพของ
การเมืองของประเทศ ถ้าหากการเมืองผันผวนหนักก็มีส่วนดันให้ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ถ้าการเมืองอยู่กันแบบยั่งยืน เช่น ประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และกลุ่มสแกนดิเนเวีย อัตราดอกเบี้ยก็จะต่ำตลอด บางประเทศดอกเบี้ยถึงกับติดลบ

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้อัตราซื้อคืนหลักทรัพย์ของธนาคารกลางที่เรียกว่า Repo Rate นั้นจะอยู่ที่แนวโน้มการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ย มากกว่าที่ว่าอัตราสูงหรือต่ำ กล่าวคือ ถ้าอัตราดอกเบี้ยของไทยเคลื่อนไหวสูงขึ้นหรือต่ำลงตามแนวโน้มของประเทศคู่ค้า หรือประเทศสกุลเงินหลักของโลก ก็จะถือได้ว่าเป็นอัตราที่มั่นคงไม่ปั่นป่วน ซึ่งในปัจจุบันถ้ามองไปถึงสิ้นปี 2561 นี้แนวโน้มของประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคงมีทีท่าว่าจะคงตัว หรือเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งขั้น (0.25%) ประเทศไทยก็น่าจะมีแนวโน้มในทำนองนี้ นอกเสียจากว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทจะผันผวนหนักขึ้น หรืออัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นมาก นั่นก็เป็นเรื่องที่ถึงเวลาต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นบ้าง

จากที่ได้ร่ายยาวมานั้น สรุปได้ว่าโลกเราตอนนี้ได้เข้าสู่ยุคปั่นป่วนในเรื่องเศรษฐกิจและการค้ามากแล้ว ซึ่งนับวันแต่จะลากยาวแน่ ปัญหาและความยุ่งยากต่างๆ ก็จะมีแต่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง สำหรับประเทศไทยเรานั้น เมื่อดูสภาพในตอนนี้ ระบบราชการไทยเราไม่อยู่ในฐานะที่จะรับมือกับความปั่นป่วนนี้ได้ และถ้าหากการเมืองที่จะได้มาจากการเลือกตั้งใหญ่ต้นปีหน้า เป็นการเมืองที่มาจากการผสมพันธุ์ของนักการเมืองที่มี DNA อย่างที่เห็นๆ กัน ประกอบกับการที่การเมืองต้องตกอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ คสช. ที่มีกาฝากเต็มไปหมดเช่นนี้ การเมืองไทยหลังเลือกตั้งก็จะดูไม่จืด จะได้แต่เสนาบดีที่มี DNA พันธุ์โบราณเข้ามาบริหารประเทศชาติ นี่ไม่ใช่ฝันไป แต่หลับตาคิดนานหน่อยก็ต้องสะดุ้งสุดตัวแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image