ความตึงเครียดระหว่างซาอุดีอาระเบียกับแคนาดา สาเหตุมาจากทวิตเตอร์ : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย และ นางซามา บันดาวี (กลาง)

ประเทศแคนาดา (Canada) เป็นประเทศที่มีอาณาเขตติดสหรัฐอเมริกาทางทิศเหนือ เป็นประเทศที่มีที่ตั้งอยู่ทางเหนือมากที่สุดของโลกและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแต่มีประชากรประมาณ 36 ล้านคน ประเทศแคนาดาประกอบด้วยมลรัฐ 10 มลรัฐ และดินแดน 3 แห่ง และปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นพระประมุขสูงสุด

ประเทศแคนาดามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีเศรษฐกิจที่หลากหลาย เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และมีการค้าขายระหว่างประเทศทั่วโลกโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง

ประเทศซาอุดีอาระเบียก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2475 โดยพระเจ้าอิบนุ ซาอุด เป็นประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นเผด็จการสืบสายโลหิตที่ปกครองตามแบบอิสลาม ขบวนการศาสนาวาฮาบี ภายในนิกายซุนนีประเทศซาอุดีอาระเบียว่า “ดินแดนสองมัสยิดศักดิ์สิทธิ์” โดยหมายถึงอัลมัสยิดอัลฮาราม ในมักกะห์ และอัลมัสยิดอันนาบาวี ในเมืองเมดินา ซึ่งเป็นสองมัสยิดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาอิสลาม แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีประชากร 28.7 ล้านคน เป็นพลเมืองสัญชาติซาอุดีอาระเบีย 20 ล้านคน และ 8.7 ล้านคน เป็นชาวต่างประเทศ

มีการค้นพบน้ำมันปิโตรเลียมใน พ.ศ.2481 และประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยควบคุมน้ำมันสำรองใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก แม้ว่าราชอาณาจักรจัดอยู่ในเศรษฐกิจรายได้สูงของธนาคารโลกและเป็นประเทศอาหรับประเทศเดียวที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี20 ประเทศซาอุดีอาระเบียมีรายจ่ายทางทหารสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และในระหว่าง พ.ศ.2553-2557 ปรากฏว่าประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก

Advertisement

ประเทศซาอุดีอาระเบียถือว่าเป็นมหาอำนาจระดับปานกลางในภูมิภาคตะวันออกกลาง นอกเหนือจากสมาชิกสภาความร่วมมืออ่าวแล้วซาอุดีอาระเบียยังเป็นสมาชิกขององค์การความร่วมมืออิสลามและโอเปค

ทั้งแคนาดาและซาอุดีอาระเบียต่างก็เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาทั้งคู่

คราวนี้มาพูดกันถึงทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งเป็นบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยผู้ใช้สามารถส่งข้อความยาวไม่เกิน 280 ตัวอักษรว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ โดยเรียกการส่งข้อความนี้ว่าทวีต (Tweet) ซึ่งแปลว่าเสียงนกร้อง

ทวิตเตอร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2549 โดยบริษัทอ็อบวีโออุสและต่อมาในเดือนกรกฎาคม ก็ได้เปิดตัวเว็บไซต์สังคมออนไลน์ ซึ่งได้รับความนิยมจากทั่วโลกเพราะเหมาะกับจริตของคนทั่วไปอยู่แล้วที่ขี้เกียจเขียนอะไรยาวๆ และคนอ่านทั่วไปก็ไม่มีสมาธิยาวพอที่จะอ่านอะไรยาวๆ จึงมีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนเข้าใช้ทวิตเตอร์มากกว่า 100 ล้านคน ใน พ.ศ.2555 รวมไปถึงมีทวีตมากกว่า 340 ล้านทวีตต่อวัน และมีการค้นหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์มากกว่า 1,600 ล้านครั้งต่อวัน นับตั้งแต่วันเปิดตัว ทวิตเตอร์เป็นเว็บไซต์ 1 ใน 10 อันดับที่มีผู้เข้าใช้งานมากที่สุด โดยได้รับการขนานนามว่าเป็นเว็บไซต์สำหรับการส่งบริการข้อความสั้นบนอินเตอร์เน็ตซึ่งในภายหลัง นอกจากที่จะสามารถทวีตบนเว็บไซต์แล้ว ได้มีการเปิดให้ใช้งานการส่งทวีตด้วยการส่งบริการข้อความสั้น (SMS) และบนโปรแกรมประยุกต์ ในโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน

ครับ ! ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาเกิดหลงใหลการใช้ทวิตเตอร์อย่างจริงจัง แบบว่าทรัมป์ต้องทวีตทุกวันทั้งเรื่องจริงหรือโจมตีฝ่ายตรงข้าม ระบายความในใจ รวมถึงออกข่าวปลอม ฯลฯ จึงมีการทวีตลามปามกันไปถึงวงการทูตระหว่างประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ

เรื่องเริ่มต้นขึ้นโดยมีทวีตมาจากบัญชีทางการกระทรวงต่างประเทศของแคนาดา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า “แคนาดามีความกังวลอย่างมากต่อการจับกุมนักเคลื่อนไหวและนักสิทธิสตรีในซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งนางซามา บันดาวี (นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีผู้มีชื่อเสียงที่สุดของซาอุดีอาระเบีย)” ทวิตเตอร์จากรัฐบาลแคนาดาทวีตด้วยว่า “เราขอเรียกร้องให้ทางการซาอุดีอาระเบียปล่อยพวกเขาและนักสิทธิมนุษยชนทั้งหมดทันที”

จากนั้น บัญชีทวิตเตอร์ของกระทรวงต่างประเทศซาอุดีอาระเบียก็ตอบโต้ด้วยการทวีตข้อความติดๆ กัน หลายครั้งการตอบโต้เช่นนี้ ทำให้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศขับไล่ทูตแคนาดาและเนรเทศเขาออกจากประเทศภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงเรียกทูตซาอุดีอาระเบีย ในแคนาดากลับประเทศ นอกจากนี้ ยังระงับการเจรจาและการลงทุนต่างๆ กับแคนาดาและยังยกเลิกโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาและทุนวิจัย รวมถึงสั่งให้นักศึกษาที่อยู่ในแคนาดาหาทางย้ายไปเรียนที่ประเทศอื่น สายการบินแห่งชาติซาอุดีอาระเบียก็ยกเลิกเที่ยวบินไปโตรอนโตด้วยขณะที่รัฐบาลแคนาดาก็ยืนยันในจุดยืนและไม่ถอนคำพูด

ในวันจันทร์ นางคริสเทีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของแคนาดากล่าวว่า “แคนาดาสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในแคนาดาและทั่วโลก และสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน”

ปฏิกิริยารุนแรงจากซาอุดีอาระเบียต่อการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ทางการซาอุดีอาระเบียระบุว่า คำที่ทำให้ไม่พอใจคือ “การปล่อยตัวทันที” ในแถลงการณ์ของแคนาดา ซึ่งทางซาอุดีอาระเบีย เห็นว่าเป็นภาษาที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยความจริงแล้วรัฐบาลซาอุดีอาระเบียถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งจากสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็ตอบโต้ด้วยการออกแถลงการณ์ที่กล่าวว่า

“ไม่ยอมรับการแทรกแซงกิจการภายใน”

การตอบโต้รุนแรงต่อการวิพากษ์วิจารณ์แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของการปฏิรูปของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน วัย 32 ปี ซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศซาอุดีอาระเบียโดยพฤตินัย พระองค์พยายามเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมแต่ไม่ผ่อนปรนการห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่อนุญาตผู้ใดให้โต้แย้ง

พระองค์ใช้อำนาจเด็ดขาด ปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยและจับกุมนักเคลื่อนไหวแม้เมื่อเดือนมิถุนายนจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ดูมีความหวังด้านสิทธิสตรีบ้างเล็กน้อยจากการที่ซาอุดีอาระเบียเพิ่งยกเลิกการห้ามผู้หญิงขับรถแต่ก็ยังมีการจับกุมนักเคลื่อนไหวรวมทั้งนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีจำนวนมากอยู่นั่นเอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image