เรื่องนอกห้องเย็น กับน้ำท่วม/ไม่ท่วมเพชรบุรี

จากวันแรกที่เริ่มมีรายงานข่าวว่าปริมาณน้ำที่เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีปริมาณน่าวิตกคือมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และเริ่มจะต้องระบายน้ำออกด้วยว่าสภาพดินฟ้าอากาศในช่วงนั้นอาจจะมีฝนเติมเข้ามาอีก ทำให้เกิดกระแสความสนใจต่อเรื่องของความเป็นไปได้ที่จะเกิด “น้ำท่วม” ในบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ด้วยว่าจะต้องรีบระบายออกสู่ทะเล

ความสนใจของสื่อมวลชนและรัฐบาลที่มีต่อพื้นที่จึงเกิดขึ้นอย่างมาก และก็เกิดดราม่ามากมายไล่ตั้งแต่การตั้งคำถามถึงบทสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีที่เสนอทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาระยะสั้นของความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ โดยการเตรียมห้องเย็นไว้ให้ประชาชนเอาปลาที่จับได้มาเก็บไว้ขาย (แนวมองวิกฤตให้เป็นโอกาส) ไล่เรียงไปถึงกระแสดราม่าว่าสื่อรายงานเกินจริงหรือไม่ และตกลงน้ำนั้นท่วมหรือไม่ท่วม ท่วมมากหรือน้อย

เรื่องที่ไม่ค่อยได้พูดกัน หรือถ้าจะมองอีกมุมหนึ่งก็คือเรื่องที่เราไม่ได้รู้เพิ่มเติมจริงๆ หลังจากสถานการณ์น้ำท่วม/ไม่ท่วมเพชรบุรี (ซึ่งจนวันนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าท่วมแค่ไหน ท่วมรุนแรงหรือไม่รุนแรง และจะวัดความรุนแรงจากเรื่องอะไรบ้าง) นั้นมีด้วยกันหลายเรื่อง เรื่องที่ผมอยากนำเสนอนั่นก็คือ จนถึงวันนี้เรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องน้ำท่วมมากขึ้นแค่ไหน (ถ้าจะใช้ศัพท์วัยรุ่นเรียกให้ดู “เกร๋ๆ” ก็คือ เรามี flood literacy) มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหมายถึงว่า เรามีความรู้ สติ และมีความสามารถในการกลั่นกรอง ประเมินตัดสิน และใช้ชีวิตท่ามกลางแนวโน้มและความจริงที่ข้อมูลการคาดเดา และข้อมูลจริงๆ ในเรื่องน้ำท่วมแค่ไหน เราเตรียมการและคาดเดากับภัยน้ำท่วมได้มากน้อยแค่ไหน

เรื่อง flood literacy นี้ไม่ใช่แค่เรื่ององค์ความรู้ในการจัดการน้ำท่วมของภาครัฐ แต่หมายถึงภาพรวมของภาคส่วนอื่นๆ

Advertisement

เช่นเรื่องของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลเรื่องน้ำท่วม และประชาชนเองในการเตรียมการรับมือกับน้ำท่วมทั้งในระดับตัวบุคคล ครัวเรือน และชุมชน ท้องถิ่น

ในประการแรก ผมไม่แน่ใจว่าเวลาที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลนั้นชี้แจงกับประชาชนว่าให้เตรียมการยกของขึ้นที่สูงนั้น รัฐบาลมีความเข้าใจแค่ไหนว่า การยกของขึ้นที่สูงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะว่าประชาชนไม่ใช่คนชนบทแบบดั้งเดิมอีกต่อไป

อธิบายง่ายๆ ก็คือ ทั้งรัฐบาลและสื่อมวลชนไม่ได้มีการนำเสนอความเข้าใจที่มีต่อการตั้งถิ่นฐานของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำมากนัก แผนที่ที่ใช้ในการนำเสนอหน้าสื่อ เป็นแผนที่ที่เน้นภาพผืนดินกับแม่น้ำ และเขตอำเภอ

Advertisement

สิ่งที่เราไม่เห็นคือพื้นที่เขตเมืองและเขตชนบท การนำเสนอพื้นที่เขตเมืองและชนบทถึงทั้งแนวโน้ม ผลกระทบ และการเตรียมการรับมือจากภาครัฐและภาคประชาชน จะทำให้เราเข้าใจว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แตกต่างกันจะสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานที่ต่างกัน และน่าจะทำให้ความเข้าใจต่อชีวิตของผู้คนและผลกระทบที่เขาได้รับจากน้ำท่วมนั้นต่างกัน

อย่าลืมว่าในปัจจุบันนี้น้ำท่วมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติล้วนๆ แต่มาจากน้ำมือมนุษย์อยู่มาก เพราะเป็นเรื่องทั้งความพยายามของมนุษย์ในการต่อสู้ต่อรอง และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติผ่านการก่อสร้างต่างๆ ที่อาจจะใช้ป้องกัน หรือขัดขวางทางเดินของน้ำ รวมไปถึงความพยายามในการบริหารจัดการน้ำของหลายภาคส่วน ที่อาจส่งผลทั้งการจัดการน้ำท่วม หรือถ้าบริหารไม่ค่อยดีน้ำก็อาจจะท่วมหนักกว่าเดิม เพราะเมื่อต้องปล่อยน้ำเพื่อรักษาเขื่อน น้ำก็จะมาเร็วและแรงกว่าปกติ

ย้อนกลับมาเรื่องของการยกของขึ้นที่สูง สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ ประชาชนที่อยู่ในเมืองนั้น ถ้าเขาจะต้องยกของขึ้นที่สูง เขาคงจะต้องเตรียมการอย่างจริงจังในเรื่องของการจัดการบ้านเรือนของเขา ไล่มาตั้งแต่ระบบความเป็นอยู่ และปลั๊กไฟ ทั้งห้องน้ำ และพื้นที่ปลอดภัย คำถามก็คือ น้ำท่วมที่ผ่านมานั้นไม่ได้มาทุกปี แต่มาในช่วงหลัง

จากการรายงานข่าวและข้อมูลจากราชการเราไม่ค่อยได้รับรู้ข้อมูลว่า ลักษณะน้ำท่วมของจังหวัดเพชรบุรีนั้นมีแบบแผนการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ประชาชนทั่วไปค้นหาได้มักจะเป็นเรื่องประวัติลุ่มน้ำเพชรบุรีในอดีต หรือประวัติศาสตร์ (และประโยชน์) ของการสร้างเขื่อนแก่งกระจานเสียมากกว่า

เรายังไม่เห็นแผนการเตรียมการของภาครัฐและระบบการเตรียมการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เพชรบุรีจากข้อมูลและการรายงานข่าวมากนัก

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ผมอยากนำเสนอว่า การทำความเข้าใจขั้นพื้นฐานต่อเรื่องของภัยพิบัติจากน้ำท่วมนั้น ส่วนสำคัญที่จะต้องรับรู้คือการทำความเข้าใจระบบนิเวศวิทยาในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัย และส่วนสำคัญของระบบนิเวศวิทยานั้นมิใช่มีแต่เรื่องของธรรมชาติ แต่ต้องทำความเข้าใจรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานและลักษณะของการดำเนินชีวิตของผู้คนด้วย โดยเฉพาะเมื่อเราเข้าใจว่ารูปแบบการตั้งถิ่นฐานในปัจจุบันนั้นเกี่ยวพันทั้งรูปแบบการตั้งถิ่นฐานในชนบท และรูปแบบการตั้งถิ่นฐานในระดับเมือง เราก็จะต้องเข้าใจว่าการตั้งถิ่นฐานในสองรูปแบบใหญ่นั้นจะต้องปะทะสัมพันธ์กับภาวะน้ำท่วมอย่างไร

การรายงานข่าวสถานการณ์น้ำท่วม และการรายงานข่าวของการพยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น เน้นไปที่เรื่องของการเอาน้ำเป็นศูนย์กลางในแง่ของการนับปริมาณน้ำ และพื้นที่ที่น้ำจะท่วม แต่ไม่ค่อยได้พยายามอธิบายว่าน้ำที่จะมาท่วมนั้น ท่วมพื้นที่ที่มีลักษณะอย่างไร และภัยที่แต่ละพื้นที่ประสบนั้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ความเสียหายนั้นเป็นอย่างไร

คนในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรมีทั้งเมืองและชนบท รูปแบบชนบทนั้นอาจจะจับปลาและชดเชยเรื่องการเพาะปลูกรายปีได้ แต่รูปแบบของการดูแลและชดเชยในเมืองนั้นจะมีรูปแบบอย่างไร

ประการที่สอง เราพูดกันน้อยมากในเรื่องของน้ำท่วมในเที่ยวนี้ถึงรูปแบบการบริหารจัดการเมือง อาจจะมีคนพยายามพูดถึงพื้นที่น้ำท่วม และความเชื่อมั่นที่มีต่อคณะกรรมการระดับชาติในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ

แต่สิ่งที่ควรพิจารณาให้ดีก็คือ เมื่อเราพูดถึงพื้นที่น้ำท่วมและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำนั้น เราจะต้องมองภาพขยายจากการบริหารจัดการน้ำท่วมในแบบเดิมที่เป็นเรื่องทางเทคนิคและเรื่องทางกายภาพ (flood management) มาสู่การบริหารการจัดการน้ำท่วมแบบหลายภาคส่วน (flood governance) ที่มองเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วมที่ให้ความสนใจขยายไปถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำท่วมในแบบเครือข่ายมากกว่ารอรับความช่วยเหลือจากภายนอก รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำท่วมที่เน้นไปที่ส่วนที่ไม่ใช่เรื่องทางกายภาพ แต่เป็นเรื่องของการสร้างสำนึกการรับรู้และเตรียมการในการรับน้ำของประชาชนด้วย

เดิมนั้นเรามักจะมองว่าการบริหารจัดการน้ำท่วมเป็นเรื่องของภาครัฐ และการบริหารจัดการน้ำท่วมนั้นเป็นเรื่องทางกายภาพและการปลูกสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างเขื่อน ทางระบายน้ำเลี่ยง พนังกั้นริมน้ำ และการปรับปรุงร่องน้ำ

ต่อมาเริ่มมีการตั้งคำถามกับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำท่วมในแบบบนลงล่างและแบบกายภาพแบบนี้มากขึ้น เพราะหลายครั้งน้ำที่ท่วมนั้นอาจจะเกิดจากการคำนวณการกักเก็บน้ำไม่ดี อาจจะต้องระบายน้ำเหนือเขื่อนเร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งอาจจะมีเขื่อนแตกได้
แนวคิดที่เสริมเติมเข้ามาจึงเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชนและการสร้างความเข้าใจต่อระบบนิเวศรวมทั้งการอยู่ร่วมกับน้ำท่วมให้ได้ รวมทั้งการพยายามสร้างความคงทนและฟื้นสภาพท่ามกลางน้ำท่วมให้ได้มากกว่าการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วม

รูปแบบสำคัญในแนวทางใหม่นี้มีตั้งแต่เรื่องของการสร้างระบบเตือนภัยน้ำท่วม การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ไม่ได้มองว่าน้ำท่วมเป็นแค่ภัย แต่น้ำท่วมนั้นอาจมีประโยชน์ เช่นตะกอนที่ถูกพัดพามาก็อาจจะดีต่อการเพาะปลูก การวางแผนลุ่มน้ำ การเพิ่มหรือรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติและการสร้างระบบระบายน้ำชุมชนเมือง รวมไปถึงการสร้างระบบการวิเคราะห์ความเสี่ยงภัยน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ

และในเรื่องของการพยายามบริหารจัดการน้ำท่วมนี้ รูปธรรมสำคัญมากกว่าตัวโครงสร้างกายภาพ เช่นสิ่งปลูกสร้างที่มักจะมีการพยายามทุ่มงบประมาณสร้างและซ่อมแซมรายปีก็คือ เรื่องของการพัฒนาระบบผังเมืองและกระบวนการจัดทำผังเมืองรวมทั้งผังชนบทและผังระดับภูมิภาคให้ทรงประสิทธิภาพ ซึ่งแม้ว่าทางสำนักผังเมืองและทางท้องถิ่นพยายามผลักดันเรื่องนี้อยู่ แต่ก็เหมือนจะเป็นที่สนใจจากสาธารณะน้อยมาก

เครื่องมือทางด้านผังเมืองนั้นจะทำให้เรามีความเข้าใจต่อพื้นที่มากขึ้น และเข้าใจว่าอะไรคืออุปสรรคในการทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลัน หรือทำให้ระบบการบริหารจัดการน้ำทางกายภาพนั้น “เอาไม่อยู่”
อาทิ การก่อสร้างขวางทางน้ำ การก่อสร้างที่อาจจะเพิ่มทั้งโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วมในเมือง (จากข้อมูลนั้น เขื่อนแก่งกระจานอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรีไม่เกินหนึ่งชั่วโมง คือระยะไม่เกิน 60 กิโลเมตร)

ในประการสุดท้าย การทำความเข้าใจเรื่องน้ำท่วมนั้นจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนิเวศวิทยาการเมืองในระดับเมือง (urban political ecology) ซึ่งเป็นเรื่องของการความเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบนิเวศวิทยากับการเมือง

ความซับซ้อนในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ระบบนิเวศวิทยานั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งในธรรมชาติ

ระบบนิเวศวิทยาการเมืองนั้นอธิบายเรื่องธรรมชาติในเมือง ทั้งระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในเมือง และระหว่างคนกับธรรมชาติ และคนกับคนด้วยกัน

ระบบนิเวศวิทยาการเมืองในระดับเมือง หรือระบบนิเวศวิทยาการเมืองนครนั้น จึงต้องทำความเข้าใจทั้งส่วนที่เป็นโครงสร้างของระบบนิเวศวิทยาด้านธรรมชาติ ด้านกายภาพ และความสัมพันธ์ของผู้คนในเมือง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มคนต่างๆ ในเมือง ที่ยังจะต้องเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องของสถาบันทางการเมือง และปฏิบัติการทางอำนาจของคนหลายกลุ่มในเมือง และโครงสร้างรวมทั้งสถาบันทางการเมืองอีกด้วย

ตัวอย่างสำคัญในเรื่องของนิเวศวิทยาการเมืองนครของน้ำท่วมจึงรวมไปถึงเรื่องของการพิจารณาโครงสร้างและผลกระทบจากระบบจัดการน้ำและระบบจัดการน้ำท่วมที่มีผลต่อกลุ่มคนที่แตกต่างกัน กลุ่มไหนเสี่ยงและถูกทำให้เสี่ยงมากกว่ากัน และถูกทำให้เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากระบบจัดการน้ำ

อาทิ อยู่นอกพื้นที่กั้นน้ำ หรือต้องแบกรับภาระของการเป็นที่พักน้ำ และระบายน้ำ ทั้งในระดับพื้นที่นั้นเอง หรือ ต้องเสียสละไม่ให้เมืองอื่นที่ถูกพิจารณาว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่านั้นไม่ท่วม

จากการศึกษาในด้านนิเวศวิทยานครมักพบว่า เรื่องของน้ำท่วมนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมชาติและเรื่องกายภาพเท่านั้น แต่แฝงฝังไปด้วยความสัมพันธ์ทางสังคมมากมายที่ทำให้บางกลุ่มนั้นเสี่ยง และเสียหายมากว่าอีกหลายกลุ่ม ทั้งจากโครงสร้างการตัดสินใจของอำนาจและหน่วยงานนอกพื้นที่ และโครงสร้างและการตัดสินใจของอำนาจในพื้นที่ ทั้งนี้เพราะความไม่เท่าเทียมทางอำนาจในการเมืองและการกำหนดชะตากรรมของตนในเมืองและในพื้นที่ชนบทนั้นเกี่ยวข้องกับการครอบครองพื้นที่ที่ต่างกัน และทำให้เกิดหรือตอกย้ำความเปราะบางของผู้คนที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม รวมทั้งความพยายามของแต่ละกลุ่มที่จะรักษาผลประโยชน์ ขยายประโยชน์ รวมทั้งได้รับผลกระทบที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละสถานการณ์ด้วย (อาทิ เราต้องถามว่าแต่ละครั้งที่เกิดน้ำท่วม การซ่อมแซม และการวางแผนใหม่ๆ กลุ่มไหนได้ประโยชน์มากกว่ากัน)

ทั้งหมดที่นำเสนอมาคือเรื่องที่ผมคิดว่ายังไม่ค่อยได้พูดถึงกันมากในดราม่าน้ำท่วมเพชรบุรีในรอบนี้ และคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่าดราม่าห้องเย็น และข้อถกเถียงว่าน้ำท่วมแค่ไหนกันแน่ในรอบนี้ครับ

หมายเหตุ : งานเขียนของ ธงชัย โรจนกนันท์. การควบคุมและป้องกันน้ำท่วมด้วยการวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน. เอกสารวิชาการ 1/2561. สำนักวิเคราะห์และประเมินผล. กรมโยธาธิการและผังเมือง. 2561. และ Danny Marks. The Urban Political Ecology of the 2011 Floods in Bangkok: The Creation of Uneven Vulnerabilities. Pacific Affairs. 88:3, 2015. ถือว่ามีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจระบบการบริหารจัดการน้ำท่วมในรูปแบบใหม่ และนิเวศวิทยาเมืองในระดับนครของน้ำท่วมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image