วีรพงษ์ รามางกูร : นโยบายข้าวและสินค้าเกษตร

ความเหลวแหลกเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศ โดยที่ชาวไร่ชาวนาไม่ได้ประโยชน์จากโครงการประกันราคาข้าวและจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด กำลังทยอยออกมาให้ปรากฏ

ความจริงข้อแรกที่ปรากฏก็คือหลังจากรัฐบาล คสช.ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าปริมาณส่งออกข้าวของไทยลดลง ปีนี้การส่งออกของไทยจะทะลุ 11 ล้านตัน เห็นว่ามากที่สุดตั้งแต่เคยมีมา ปริมาณการส่งออกของเราคิดคร่าวๆ ก็คือ ปริมาณข้าวที่ผลิตทั้งหมดหักด้วยปริมาณการบริโภคในประเทศ ปรับด้วยปริมาณที่เปลี่ยนแปลงของสต๊อกปลายปี ทั้งๆ ที่สมาคมผู้ส่งออกไทยประกาศว่าเราจะส่งออกได้ประมาณ 9.5 ล้านตันเท่านั้น

การที่ปริมาณส่งออกของเราเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ก็หมายความว่าปริมาณการผลิตข้าวของเราเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะปริมาณบริโภคภายในประเทศค่อนข้างคงที่ การเพิ่มขึ้นของประชากรมีไม่มาก ขณะเดียวกันปริมาณการบริโภคต่อหัวประชากรมีปริมาณคงที่ การที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น ปริมาณการบริโภคภายในประเทศไม่ลดลง แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มาก ปริมาณสินค้าคงเหลือไม่เพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าชาวนาผู้ผลิตข้าวไม่ได้ขาดทุน

หากไม่มีการประกันราคาหรือรับจำนำข้าวอย่างที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยรวมทั้งชมรมชาวนาหรือโรงสีได้กล่าวอ้าง เพราะถ้าขาดทุนปริมาณการผลิตต้องลดลง เพราะคงไม่มีผู้ผลิตคนใดทนขาดทุนทุกปี ติดต่อกันมาถึง 4 ปี ตั้งแต่มีรัฐบาลทหารแล้ว เท่ากับว่าเราใช้เงินภาษีอากรของประเทศไปทำโครงการรับจำนำข้าวและประกันราคาข้าวโดยสูญเปล่า ไม่เคยถึงมือชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

Advertisement

นอกจากนั้นก็ยังมีข่าวว่าปริมาณการผลิตข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น เพราะราคาข้าวหอมมะลิในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นถึง 1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทั้งๆ ที่การผลิตข้าวหอมมะลิของไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการผลิตทั้งหมด เพราะเมื่อรัฐบาลยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ความแตกต่างระหว่างราคาข้าวนาปรังกับข้าวนาปีจะห่างกันมากขึ้น

ราคาข้าวเสาไห้ ข้าวขาวตาแห้งกับข้าวหอมมะลิ จะมีราคาต่างกันมากขึ้นกว่าเดิม เพราะข้าวขาวเสาไห้กับข้าวขาวตาแห้งส่วนใหญ่บริโภคในประเทศมากกว่าส่งออกไปต่างประเทศ ความต้องการของต่างประเทศมีน้อยกว่าข้าวหอมมะลิ

การใช้ที่ดินปลูกข้าวหอมมะลิจึงมีมากขึ้น เป็นการใช้ที่ดินผลิตของราคาแพงเพิ่มมากขึ้นแทนการผลิตของราคาถูก เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยส่วนรวม ที่ห่วงว่าปีหน้าราคาจะทรุดก็ไม่ควรห่วง เพราะราคาข้าวเปลือกภายในประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตของเรา ราคาของเราเป็นไปตามราคาตลาดโลก ซึ่งไม่มีใครควบคุมได้

Advertisement

ผู้ผลิตทุกประเทศเป็นผู้รับราคาตลาดโลกหรือ “price taker” ไม่ใช่ผู้ทำราคาตลาดโลกหรือ “price maker” เราผลิตมากก็ส่งออกได้มาก ผลิตน้อยก็ส่งออกได้น้อย เพราะการบริโภคภายในประเทศเท่าเดิม เปลี่ยนแปลงน้อยมาก

ส่วนข้าวเปลือกจะเหลือมากเหลือน้อยนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตของเรา แต่ขึ้นอยู่กับการเก็งกำไรของโรงสีและผู้ส่งออกในการถือสต๊อกส่วนเกิน เป็นการถือเพื่อธุรกิจค้าข้าวปกติ ซึ่งไม่มากไม่น้อย เป็นสัดส่วนค่อนข้างคงที่กับปริมาณการผลิตหักด้วยการบริโภคภายในประเทศ ปริมาณการถือสินค้าคงเหลือจะเป็นตัวปรับตามราคาที่พ่อค้าคาดการณ์ราคาในต่างประเทศ รวมทั้งปริมาณการขายล่วงหน้าประมาณ 3 เดือนของผู้ส่งออก เมื่อมีการลดปริมาณการผลิตข้าวนาปรังที่ราคาต่ำแล้วใช้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิมากขึ้น ก็ดีแล้ว

นอกจากนั้นยังมีข่าวอีกว่า จากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้าวของรัฐบาล ก็พบว่าปริมาณข้าวของรัฐบาลซึ่งฝากไว้กับยุ้งฉางของเอกชน โดยมี อ.ต.ก.และ อคส.เป็นผู้ดูแล เสียค่าเช่าโกดัง เสียค่าดูแลรมควัน มีปริมาณต่ำกว่าตัวเลขทางบัญชีหรือข้าวหายไปเป็นจำนวนถึง 950,000 ตัน ข้อเท็จจริงอันนี้ไม่ควรจะสงสัย เพราะข้าวรัฐบาลที่เช่าโกดังเอกชนเก็บนั้นไม่เคยมีข้าวตั้งแต่ต้น เอกชนรับเงินรัฐบาลไปโดยไม่มีข้าวบ้างหรือนำข้าวออกไปขายในตลาดนานแล้ว เพราะข้าวเปลือกเก็บได้ไม่เกิน 1 ปี ข้าวสารเก็บได้ไม่เกิน 3 เดือนก็เน่าเสียหาย เมื่อรัฐบาลสั่งให้ส่งมอบค่อยซื้อข้าวเปลือกในตลาดมาส่งมอบให้รัฐบาลส่งข้าวที่รัฐบาลขายแบบจีทูจีหรือ government to government

ด้วยเหตุนี้ นโยบายประกันราคาหรือรับจำนำข้าวของรัฐบาล จึงไม่มีผลอะไรเลยต่อราคาข้าวเปลือกภายในประเทศโดยส่วนรวม ยกเว้นโรงสีที่เป็นหัวคะแนนของรัฐบาลที่เข้าร่วมโครงการ ถ้าจะเอาผิดทางกฎหมาย โรงสีทุกโรงและเจ้าของโกดังทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการก็จะถูกจับติดคุกกันหมด จะเหลือแต่โรงสีและเจ้าของโกดังที่ไม่ได้ร่วมโครงการ 3-4 ปีมานี้โกดังเก็บข้าวที่ผู้เข้าร่วมโครงการลงทุนสร้างไว้ จึงมีแต่ข้าวของโรงสีและผู้ส่งออกแทนข้าวของ อ.ต.ก.และ อคส. ซึ่งก็ดีแล้ว เอกชนจะได้เร่งส่งออก

ส่วนที่บ่นกันว่าจำนวนผู้ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิม 30 ราย เป็น 300 ราย ทำให้การแข่งขันกันขายข้าวไปต่างประเทศมีมากขึ้น ก็ดีแล้วเหมือนกัน เพราะอย่างไรก็ต้องขายในราคาตลาดโลกอยู่แล้ว ต้องแข่งขันกับอินเดียและเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งเป็นคู่แข่งตัวจริง ข้อดีของการมีผู้ส่งออกมากรายขึ้นจะทำให้การแข่งขันกันซื้อข้าวเปลือกจากชาวนามีสูงขึ้น เป็นการประกันว่าโรงสีและผู้ส่งออกจะกดราคาข้าวเปลือกจากชาวนาไม่ได้ ชาวนาที่เป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ซึ่ง สามารถจำนำข้าวในยุ้งฉางของตนเองบางส่วนได้ ในยามราคาขึ้นก็จะกักตุนเพิ่มขึ้น ถ้าคาดว่าราคาจะสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ ธ.ก.ส.ให้กู้ ยิ่ง ธ.ก.ส.มีนโยบายพักหนี้ให้ก็ยิ่งมีโอกาสเอาเงินจำนวนนี้มากักตุนข้าวเปลือกได้มากขึ้น แต่ถ้าคิดว่าไม่คุ้มก็คงไม่กู้มากักตุน

การคาดการณ์ราคาเพื่อเก็งกำไรบ้างเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่าจะเป็นอันตรายมากนัก แต่จะทำให้กลไกตลาดทำงาน เป็นการฝึกให้ชาวนาคิด เป็นการตัดกำไรของพ่อค้าคนกลางลงโดยการลดอำนาจของพ่อค้าคนกลางที่คิดกำไรเกินควร ถ้าจะมี

การเป็นผู้รับราคาตลาดโลกเป็นจริง ทั้งกรณีเป็นผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ในกรณีผู้ส่งออกอย่างประเทศไทย เวียดนามและอินเดีย ถ้าราคาข้าวเปลือกภายในประเทศถูกกว่าราคาตลาดโลกหักด้วยค่าขนส่ง ประเทศผู้นำเข้าก็จะหันไปซื้อประเทศอื่นที่ขายไม่ออก ที่มีพรมแดนทางบกติดกัน ที่ไม่อาจจะควบคุมการไหลเข้าออกของสินค้าได้หมด

มาเลเซียเคยคิดจะผลิตข้าวเองให้เพียงพอต่อการบริโภคภายใน โดยปิดพรมแดนไม่ให้มีการนำเข้าจากไทย เพื่อให้ราคาข้าวในประเทศซึ่งมีคุณภาพต่ำมีราคาสูงขึ้น ชาวนามาเลเซียจะได้ผลิตมากขึ้น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็เคยทำ แต่ไม่สำเร็จ แม้ว่าประเทศจะเป็นเกาะก็ยังไม่สามารถป้องกันการลักลอบนำเข้าได้

การทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมากมายในทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่มาเลเซียซึ่งโทษทางอาญาสูงมาก นโยบายราคาสินค้าเกษตรเป็นนโยบายที่ทำไม่ได้อย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ยุโรปตะวันตกและอเมริกา เราจึงไม่ควรทำตาม อย่างเขาเพราะสูญเสียงบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์ เป็นช่องทางให้รัฐมนตรีและข้าราชการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงเปล่าๆ

สําหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เป็นสินค้าเกษตรที่เราเป็นผู้นำเข้าสุทธิ เพื่อป้อนโรงงานอาหารสัตว์ที่ผลิตเป็นอาหารไก่และสัตว์ปีกอื่น รวมทั้งสุกร โคเนื้อ โคนม ราคาข้าวโพดและกากถั่วเหลืองในตลาดโลกต่ำกว่าราคาประกันของไทยเป็นอันมาก เพราะผลผลิตต่อไร่ของเราต่ำกว่าประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล และออสเตรเลียเป็นอันมาก เพราะเราอยู่ในเขตร้อน ผลผลิตต่อไร่ของเราต่ำกว่าของเขามาก เราจึงจำกัดการนำเข้าจากต่างประเทศโดยการกำหนดโควต้าการนำเข้า ให้โควต้าแก่โรงงานผลิตน้ำมันถั่วเหลืองตามปริมาณการซื้อถั่วเหลืองจากเกษตรกรภายในประเทศในราคาสูง ข้าวโพดก็เช่นเดียวกัน นโยบายดังกล่าวทำให้ต้นทุนการผลิตไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร เนื้อโคและนมโค สูงกว่าประเทศคู่แข่ง

กรณีข้าวโพด รวมทั้งยางพาราที่รัฐบาลมี
นโยบายรับซื้อยางแผ่นสูงกว่าราคาตลาดโลก ทำให้มีการบุกรุกทำลายป่าเพื่อปลูกข้าวโพดและยางพาราด้วย นโยบายดังกล่าวควรจะลองนำมาทบทวนดูว่าสมควรจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เช่น การตั้งกองทุนชดเชยให้เกษตรกรเลิกปลูกถั่วเหลือง แล้วหันไปผลิตของอย่างอื่นเพื่อมุ่งไปผลิตอาหารสัตว์ในราคาที่ต่ำลง เพื่อมุ่งผลิตไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร เพื่อให้มีราคาลดลงจนสามารถแข่งขันกับผลผลิตของประเทศที่พัฒนาแล้วได้

การใช้ข้อมูลในเรื่องต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรมาเป็นพื้นฐานของนโยบาย ไม่น่าจะเป็นสิ่งถูกต้อง เพราะต้นทุนที่แท้จริงไม่มีใครทราบ แต่ละพื้นที่แต่ละสินค้า พื้นที่เกษตรก้าวหน้าหรือพื้นที่เกษตรน้ำฝน เทคนิคในการผลิต สัดส่วนการใช้เครื่องจักรและแรงงานที่ต่างกัน เรื่องเหล่านี้ย่อมมีผลต่อต้นทุนการผลิตทั้งนั้น ตัวเลขต้นทุนการผลิตจึงไม่มีความหมายและสร้างความไม่เป็นธรรม สร้างช่องว่างของราคาระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง

สู้ เอางบประมาณจำนำหรือรับประกันดังกล่าวไปลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน หรือ infrastructure ถนนหนทาง ท่าเรือ สนามบิน งานวิจัยและพัฒนาการเกษตรและการประมง ต้นทุนการสร้างและพัฒนาตลาด รวมทั้งเอาเงินไปลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา เพิ่มสวัสดิการการรักษาพยาบาล การสาธารณสุข การศึกษาและอื่นๆ น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

คุณูปการของรัฐบาลทหารก็คือสามารถยกเลิกโครงการนโยบายประกันและยกระดับราคาของสินค้าเกษตรได้ ไม่มีการจัดให้มีการเดินขบวนเรียกร้องประท้วงโดยการให้ท้ายของสื่อมวลชนที่ไม่เข้าใจปัญหาได้

เป็นการประหยัดภาษีอากรได้อย่างมาก โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เสียประโยชน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image