ภาวะปกติคนละขั้ว โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

เขาว่ากันว่า ใครเป็นคนกำหนดข้อยกเว้นได้ คนนั้นมีอำนาจที่สุด เขาคนนั้นเป็นฝรั่ง แต่เป็นใครผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว

แต่มันคล้ายกับที่ครูผู้สอนภาษาอินโดนีเซียแก่ผมอธิบายว่า เหตุใดตำนานของกษัตริย์ชวาองค์หนึ่ง (หะยัม วูรุก) จึงเต็มไปด้วยเรื่องผิดศีลธรรมต่างๆ เพราะตำนานต้องการบอกว่าเขาเป็นพระเจ้า ซึ่งเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม (หรือความปกติ) จึงย่อมไม่อยู่ภายใต้อาณัติของศีลธรรม หรือสร้างข้อยกเว้นแก่ตนเองได้เสมอ

ปกติเป็นเรื่องของมนุษย์ อปกติเป็นเรื่องของพระเจ้า

มองจากเรื่องปกติ-อปกติ, ข้อยกเว้น-ธรรมดาโลกแล้ว การยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินในประเทศไทยทุกครั้ง ล้วนอ้างข้อยกเว้นหรือความอปกติมาทุกที

Advertisement

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกครั้งที่เราอ้างข้อยกเว้นหรืออปกติ เรากำลังนิยามธรรมดาโลกหรือสภาวะปกติไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นนักการเมืองโกงกินกันมากเหลือเกิน เป็นข้อยกเว้นที่ต้องยุติภาวะธรรมดาโลกลงก่อนด้วยการยึดอำนาจ เรากำลังนิยามธรรมดาโลกของการเมืองไทยว่า ผู้มีอำนาจทางการเมือง (ไม่ว่าจะมาตามรัฐธรรมนูญหรือรัฐประหาร) ตามปกติธรรมดาแล้ว ไม่โกงไม่กิน

นับเป็นธรรมดาโลกหรือภาวะปกติที่ประการแรกขัดต่อข้อเท็จจริง เพราะเรามีผู้นำรัฐประหารที่ถูกยึดทรัพย์ในภายหลังหลายคน หรือถึงไม่ถูกยึดทรัพย์ในภายหลัง ทุกคนก็รู้ว่าคนเหล่านี้ครอบครองทรัพย์สมบัติที่ไม่อาจบอกแหล่งที่มาได้จำนวนมาก ซ้ำยังเป็นนิยามธรรมดาโลกที่ขัดกับตรรกะอย่างเห็นได้ชัดด้วย เพราะเรากำลังบอกว่าอำนาจที่ถูกตรวจสอบได้ย่อมโกง ในขณะที่อำนาจซึ่งไม่อาจถูกตรวจสอบได้ย่อมไม่โกง

ด้วยเหตุดังนั้น การอ้างข้อยกเว้นหรือสภาพอปกติในทางการเมืองบ่อยๆ จึงเป็นผลให้สภาพธรรมดาโลกหรือสภาพปกติรวนเร สับสนไปด้วย

Advertisement

จนทำให้การรัฐประหารยึดอำนาจครั้งสุดท้ายนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นข้อยกเว้นกำลังถูกทำให้เป็นธรรมดาโลก และสิ่งที่เป็นธรรมดาโลกกำลังถูกทำให้กลายเป็นข้อยกเว้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คสช.จะเป็นธรรมดาโลกหรือเป็นข้อยกเว้น? หาก คสช.ไม่สามารถทำให้ตนเองเป็นธรรมดาโลกได้ ยังดำรงความเป็นข้อยกเว้นตลอดไป ก็นับว่ามีอันตรายต่อ คสช.เองเป็นอย่างยิ่ง

เพราะมนุษย์ไม่ใช่พระเจ้า ย่อมทนอยู่กับสภาพยกเว้นไปนานๆ ไม่ได้ เนื่องจากในภาวะยกเว้น มนุษย์สูญเสียความสามารถจะทำนายอะไรล่วงหน้าได้ไปทั้งหมด เพราะหลักเกณฑ์ปกติธรรมดากลายเป็นข้อยกเว้นได้เสมอ แม้แต่การได้ชื่อว่าเป็นพวกหรือผู้สนับสนุน คสช. ก็อาจถูกยกเว้นได้ในบางเรื่อง (เช่นเรื่องราคายาง, เรื่องปราสาทพระวิหาร, เรื่องรถไฟความเร็วสูง, เรื่องปฏิรูป, เรื่องประชานิยม ฯลฯ) แม้การครอบครองขันแดง, ปฏิทิน, เสื้อสี ฯลฯ ก็อาจมีภยันตรายกว่าใครจะคาดคิดได้ ในขณะเดียวกัน คสช.ซึ่งเป็นผู้กำหนดสภาพยกเว้นเองก็อาจกลายเป็นตัวตลก หากพยายามรักษาสภาพยกเว้นให้ดำรงอยู่ไปนานๆ

ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอในขณะนี้ คือความพยายามจะกลับคืนสู่สภาพธรรมดาโลกหรือสภาพปกติ

แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อใดที่ใครนิยามสภาพอปกติ เขาก็ต้องนิยามสภาพปกติไปด้วยโดยอัตโนมัติ ดังนั้นสภาพปกติที่ร่างรัฐธรรมนูญจะนำกลับคืนมาจึงเป็นสภาพปกติที่นิยามขึ้นใหม่ ภายใต้สภาพอปกติที่ คสช.และพรรคพวกนิยามขึ้นไว้ สภาพปกติซึ่งถูกนิยมาขึ้นนี้อาจสรุปได้ดังนี้

อํานาจของประชาชนในการกำกับควบคุมนโยบายสาธารณะและแนวทางการบริหารของรัฐบาล ผ่านพรรคการเมือง, สื่อ, การเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง และการเลือกตั้งเสรี จะถูกควบคุมด้วยอำนาจพิเศษของกลุ่มคนที่ในระยะแรกมาจากการแต่งตั้งของ คสช. และพ้น 5 ปีไปแล้ว มาจากการแต่งตั้งของอำนาจที่มีฐานอยู่กับระบบราชการ ทั้งราชการทหาร, พลเรือนและตุลาการ

ด้วยเหตุดังนั้น อำนาจของประชาชนในทางอื่นที่ไม่ใช่การเมืองโดยตรง จึงถูกกำกับควบคุมไว้ด้วยเช่นกัน ผ่านการนิยามสิทธิเสรีภาพให้จำกัดลง และแนวนโยบายแห่งรัฐที่เป็นแนวทางการวางนโยบายสาธารณะและแนวการบริหาร

ทั้งนี้ เพราะภาวะยกเว้นที่ถูก คสช.และพรรคพวกผู้สนับสนุนนิยามไว้มีว่า การเมืองไทยภายใต้ระบอบเลือกตั้ง นำมาซึ่งความเลวร้ายนานัปการแก่บ้านเมือง ภาวะปกติจึงต้องเป็นภาวะที่อำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งจะต้องถูกกำกับควบคุมอีกชั้นหนึ่ง จากกลุ่มคนซึ่งเป็นที่น่าไว้วางใจแก่ คสช.ในระยะแรก และแก่ระบบราชการและชนชั้นนำในระยะต่อไป

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาปรากฏตัวในภาวะที่สังคมไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว นั่นคือเป็นครั้งแรกที่คนไทยจำนวนไม่น้อย ทั้งที่อยู่ในฐานะชนชั้นนำและชาวบ้านธรรมดาได้ (บังอาจ)นิยามเองว่า ภาวะปกติทางการเมืองคืออะไร

ก่อน 2540 นักวิชาการทั้งไทยและเทศอาจนิยามว่าการรัฐประหารเป็นภาวะอปกติ แต่ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย การรัฐประหารต่างหากคือความปกติทางการเมืองของไทย นับจาก พ.ศ.2490-2516 สยามเมืองยิ้มอยู่ภายใต้อำนาจรัฐประหารในรูปใดรูปหนึ่งอย่างต่อเนื่อง (แม้มีการเลือกตั้งสลับบ้างเป็นครั้งคราว) รัฐธรรมนูญ 2521 ก็เป็นรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ซึ่งอำนวยให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี

แต่หลัง 2540 ต่างหาก ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยเห็นว่า การเลือกตั้งตามวาระ และสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้หลักประกันอย่างจริงจังพอจะนำมาใช้เคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างอิสระ นี่ต่างหากที่เป็นภาวะปกติทางการเมือง

เมื่อภาวะปกติทางการเมืองถูกนิยามโดยคนจำนวนมากและอย่างชัดเจนเช่นนี้ การกำหนดให้ภาวะอะไรเป็นข้อยกเว้นจึงไม่อาจทำได้ง่ายๆ อีกต่อไป

ประชามติที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า จึงไม่ใช่รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นทรรศนะที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มคนที่มองภาวะปกติทางการเมือง (หรืออปกติทางการเมือง) แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image