จิตวิวัฒน์ ถ้ำหลวงทีมสูบน้ำซิ่งและพื้นที่ส่งเสริมความดีจากปฏิบัติการจริง โดย : ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

ภาพภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนและโค้ช 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย คือจิ๊กซอว์ของความปรารถนาดี ความร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคมที่ร่วมกันต่อประกอบขึ้นมาจนกลายเป็นพลังความดีระดับมหภาค

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ตระหนักถึงคุณค่าของชุดประสบการณ์ และความทรงจำของผู้ที่ร่วมภารกิจครั้งนี้และเชื่อมั่นว่าเมื่อเรื่องราวเหล่านี้ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของเรื่องเล่า จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีให้กับสังคมต่อไปและจากความตั้งใจนี้นำมาสู่การพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องกับภารกิจถ้ำหลวง คือทีมสูบน้ำซิ่ง นครปฐม-บ้านแพ้ว สมุทรสาคร ประกอบไปด้วย คุณธวัชชัย ฟุ้งขจร หรือโจ คุณเอกชัย แซ่เตียว หรือเอก ท่อสูบน้ำซิ่ง และคุณอรรถพล ศรีอยู่ ทีมท่อสูบน้ำซิ่งป๊อปบ้านแพ้ว ของคุณพนม ชื่นภิรมย์

ทีมสูบน้ำซิ่งแต่ละคนบอกเล่าถึงการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำในย่านนครปฐม และสมุทรสาคร ที่มีตั้งแต่ทำนา เลี้ยงกุ้ง รับจ้างสูบน้ำ โดยเทคนิควิธีและท่อสูบน้ำพัฒนาควบคู่กับการเลี้ยงกุ้งมาประมาณ 20 ปี ด้วยขนาดบ่อกุ้งที่ใหญ่ขึ้น และการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา เช่น การสูบน้ำเพื่อจับกุ้ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องคิดค้นพัฒนา “ท่อซิ่ง” ท่อสูบน้ำที่ “เครื่องแรง ท่อใหญ่” เพื่อตอบโจทย์วงการเลี้ยงกุ้ง และการสูบน้ำในภาคเกษตรกรรม

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาความรู้เรื่องท่อสูบน้ำที่แต่ละคนมีนำไปใช้ในการประกอบอาชีพเป็นหลักโดยที่ยังไม่เคยมีการรวมตัวกันในรูปแบบของจิตอาสา ภารกิจถ้ำหลวงจึงเป็นภารกิจแรกที่ช่วยสร้างทีมสูบน้ำซิ่ง นครปฐม บ้านแพ้ว สมุทรสาคร

Advertisement

จุดเริ่มต้นที่นำพาให้ทีมสูบน้ำซิ่งมาสู่ภารกิจครั้งนี้คือบทบาทความเป็นพ่อของแต่ละคน คุณธวัชชัยเล่าว่า “ลูกชายอายุ 20 (ปี) เด็กก็เหมือนลูกเรา ถ้าคนในนั้นเป็นลูกหลานเรา เราจะทำยังไง” ขณะที่คุณเอกชัยกล่าวเสริมว่า “ผมก็เหมือนกัน มีลูกชายคนโตอายุ 14 (ปี) ถ้าเป็นลูกผมเองจะทำยังไง คงนอนไม่ได้แน่นอน” และคุณอรรถพล ซึ่งมีลูกชายเช่นกัน ได้ประเมินสถานการณ์การสูบน้ำจากข่าวเชื่อมโยงกับความถนัดของตนเองที่เป็นช่างเครื่องสูบน้ำคิดว่าสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือได้ “เห็นในภาพข่าวหลายวันแล้ว คนยังไม่รู้จักว่าเครื่องสูบน้ำที่เรามีเป็นยังไง ดูในสื่อน้ำออกน้อย พื้นที่กว้างเจอฝน มีน้ำจากพม่ามาด้วย เราดูในข่าวแล้วพวกเรามีศักยภาพ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ เห็นแล้วอยากให้ลองใช้ของเรา ถ้าให้เราช่วย เราก็น่าจะช่วยได้”

ความรู้สึกร่วมในฐานะพ่อของทั้ง 3 คน นำมาสู่ความตั้งใจช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนและโค้ช 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำ ด้วยความรู้และเครื่องสูบน้ำที่มี เริ่มจากคุณเอกชัยโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่ายินดีไปช่วยสูบน้ำโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ถ้ามีหน่วยงานที่สนับสนุนเรื่องการเดินทาง

ความตั้งใจนี้สำเร็จเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ทีมสูบน้ำซิ่งจำนวน 9 คน พร้อมท่อสูบน้ำ 4 เครื่อง เดินทางไปยังถ้ำหลวงจากการประสานงานของหลายภาคส่วน เช่น คุณพนม ชื่นภิรมย์ ทีมสูบน้ำที่เดินทางไปสำรวจพื้นที่ล่วงหน้า ผู้ประกอบการรถเทรลเลอร์ ผู้นำท้องถิ่นทั้งในนครปฐมและเชียงราย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่อำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง และได้ปฏิบัติภารกิจช่วยสูบน้ำจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่เสร็จสิ้นภารกิจหลังจากทีมฟุตบอลเยาวชนและโค้ช 13 คน รวมทั้งทีมเจ้าหน้าที่ออกมาจากถ้ำหลวงอย่างปลอดภัย

Advertisement

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเองหลังจากเข้าร่วมภารกิจครั้งนี้ ทีมสูบน้ำซิ่งทั้ง 3 คนรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ทำ และเห็นถึงความมีน้ำใจที่คนในสังคมมีต่อกัน

“เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่มากที่ไปช่วย ทำให้สำเร็จภูมิใจมาก เราไม่เคยรู้จักกัน มีอัธยาศัย ไปสูบน้ำ พอกลับบ้านมีประชาชนมา หน่วยงานต่างๆ มาปรบมือ สิ่งที่เราทำเราไม่ได้คาดหวังอะไร ความตื้นตันมาเลยว่าเราทำได้ ไม่เคยคิดว่าคนเป็นร้อยเป็นพันมายืนดู ยืนชื่นชมท่อสูบน้ำ ประทับใจความมีน้ำใจของคนไทยเล็กๆ ที่ไม่ทิ้งกัน ทำอะไรก็ได้สักอย่าง ช่วยกัน อะไรพอหยิบจับได้ก็ช่วยเลย เงินทองสิ่งของ รวมกลุ่มกันช่วย อยากให้สังคมไทยเกื้อกูล สามัคคีกันแบบนี้”

ความภูมิใจและความประทับใจที่เกิดขึ้นยังได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการทำความดีต่อไป โดยทีมสูบน้ำซิ่งมองว่าภารกิจถ้ำหลวงว่า “จุดประกายให้อยากทำความดีมากขึ้น ทำความดีแล้วเป็นความรู้สึกดีๆ ของครอบครัว และของคนที่เรารู้จัก” และเมื่อขอให้ร่วมกันนิยามความหมาย “จิตอาสา” ในแบบฉบับของทีมสูบน้ำซิ่ง ทั้ง 3 คนได้ร่วมกันนิยามว่า “การช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน สิ่งตอบแทนคือรอยยิ้มหรือความสุขของคนที่เราไปช่วย”

ความสุขที่เกิดจากการเป็นจิตอาสาของทีมสูบน้ำซิ่ง จึงเป็นความสุขที่ข้ามพ้นจากการแสวงหาความสุขส่วนตัว ไปสู่ความสุขที่เกิดจากการทำความดีเพื่อผู้อื่น ซึ่งเป็นชุดคุณค่าที่มีนัยสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเกื้อกูล

เรื่องเล่าของทีมสูบน้ำซิ่งที่มีต่อภารกิจถ้ำหลวง เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงพื้นที่ส่งเสริมความดีที่เกิดจากปฏิบัติการจริง ซึ่งมีลักษณะเป็นแรงผลักดัน (Momentum) ที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีต่อไป

จากแรงบันดาลใจของทีมสูบน้ำซิ่งที่อยากช่วยเหลือ 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง นำมาสู่การสำรวจต้นทุนความดีที่มีของตนเองว่าสามารถช่วยเหลือในเรื่องใดได้บ้าง ซึ่งพบว่าความรู้เรื่องการสูบน้ำและอุปกรณ์ที่มีสามารถนำมาสนับสนุนภารกิจครั้งนี้ได้

เมื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ ชุดประสบการณ์ ความทรงจำ และความภูมิใจที่เกิดขึ้นยังได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับตัวเอง คือมีแรงบันดาลใจในการทำความดีเพิ่มมากขึ้นไปอีก และที่สำคัญเป็นการทำความดีที่ไม่ได้เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่มุ่งเน้นที่การทำให้คนรอบข้างมีความสุข

ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงจึงสร้างพื้นที่ส่งเสริมความดีที่เกิดจากปฏิบัติการจริง ทุกคนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่างมีแรงบันดาลใจในการทำความดี และแปลงไปสู่การปฏิบัติด้วยการเป็นจิตอาสาในรูปแบบที่หลากหลายตามต้นทุนหรือศักยภาพที่ตนเองมี ซึ่งความร่วมแรงร่วมใจที่เกิดขึ้นนั้น ในเวลาเดียวกันได้หวนกลับมาสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีต่อไปทั้งกับตัวของผู้กระทำและคนในสังคมที่ร่วมรับรู้เรื่องราว

บทเรียนสำคัญที่สังคมได้เรียนรู้ร่วมกันจากปรากฏการณ์ถ้ำหลวงเมื่อมองจากมิติคุณธรรม ในระดับบุคคลคือการทำความดีที่เริ่มจากการสำรวจต้นทุนความดีที่ตนเองมี และลงมือกระทำตามเงื่อนไขของตนเอง และเมื่อมองไปในระดับนโยบาย สิ่งสำคัญของการส่งเสริมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอยู่ที่การสร้างพื้นที่ส่งเสริมความดีที่เกิดขึ้นจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง เหมือนวลีที่พูดกันเล่นๆ แต่เป็นความจริงว่าการทำความดีเป็นเรื่องของ “คุณ-น่ะ-ทำ” การได้ลงมือทำจริง ชุดประสบการณ์และความทรงจำที่ได้รับจะกลับไปสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีต่อไปโดยพื้นที่ส่งเสริมความดีที่มีความยั่งยืนนั้น หัวใจอยู่ที่กระบวนการมีส่วนร่วมเปิดกว้างให้กับความคิดเห็นของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย โดยมองทั้งหมดว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image