ไพรมารีโหวต : การยกอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชน : โดย นิมิตร จินาวัลย์

กระบวนการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พุทธศักราช 2560 ถือเป็นการจัดการเลือกตั้งขั้นต้น ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 ที่ต้องการให้การบริหารพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้

เป้าหมายที่สำคัญยิ่ง คือ การเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมือง เข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายและสรรหาผู้สมัครรับการเลือกตั้ง

นอกจากนี้แล้ว ในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ด้านการเมือง (2) ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริง ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมในการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Election) ที่มักจะเรียกว่า ไพรมารีโหวต

ความหมายคือ

Advertisement

1.การไปลงคะแนนเพื่อเลือกผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคโดยสมาชิกพรรคหรือประชาชนทั่วไปหรือการเลือกตั้งซ่อมสามารถจัดทำโดยพรรคการเมืองหรือรัฐที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง

2.เป็นการยกอำนาจการตัดสินใจมาให้ประชาชน

3.ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองมากขึ้น

Advertisement

4.เป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้สมัครมีการตอบสนองความต้องการของประชาชนและเปิดโอกาสให้ประชาชนรู้จักผู้สมัครเข้าแข่งขันมากขึ้น

ระบบดังกล่าวมีหลายประเทศที่ใช้กันอยู่ เช่น สหรัฐอเมริกาหรือประเทศในยุโรป (EU) เพื่อหยั่งเสียงหรือเลือกผู้สมัครในการแข่งขัน มี 2 ระบบคือ

1.ระบบเปิด (Open Primary) ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียน (Registered Voter) ไว้แล้วจะสามารถไปลงทะเบียนเลือกตั้งในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองไหนก็ได้ ไม่จำกัดเฉพาะพรรคการเมืองที่ตนสังกัด

2.ระบบปิด (Closed Primary) ผู้ที่สามารถมาลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของพรรคพรรคหนึ่งได้นั้นจะต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนไว้ในฐานะของพรรคการเมืองนั้นๆ เท่านั้น

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ระบุว่าตนเป็นประเภทอิสระ (Independent) อาจได้รับเชิญจากพรรคการเมืองมาร่วมลงคะแนนเสียง กรณีศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกา

สําหรับระบบการสรรหาผู้สมัครที่จะเป็นตัวแทนพรรคการเมือง ในเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นต้นปี 2562 หรือไม่เป็นรูปแบบที่ไม่สลับซับซ้อน มีขั้นตอนดังนี้

1.กรรมการสรรหากำหนดวัน เวลา และสถานที่รับสมัคร

2.ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร

3.จัดประชุมสมาชิกเพื่อลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกผู้สมัคร การประชุมสาขาพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน การประชุมตัวแทนพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าห้าสิบคน

4.การลงคะแนน สมาชิกพรรคการเมืองลงคะแนนเลือกได้ 1 คน

5.จัดเรียงลำดับสูงสุดสองลำดับแรกให้กรรมการทราบ เพื่อส่งให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง

การดำเนินงานที่ผ่านมาของพรรคการเมือง ที่มีอยู่เดิมพบอุปสรรคเป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้มีการยืนยันสมาชิกภาพและไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมทางการเมือง จนกลายเป็นปัญหาลุกลามไม่สามารถจัดทำกิจกรรมตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดรวมถึงการจัดทำไพรมารีโหวต

แม้จะมีข้อเสนอทำไพรมารีโหวต 5 รูปแบบ คือยกเลิกการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก ทำไพรมารีโหวตรายจังหวัด ทำเป็นเขต เป็นรายภาค และไม่ทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้

แต่ใช้วิธีอื่นๆ ที่ให้สมาชิกมีส่วนร่วมในรูปแบบดังกล่าว นอกจากจะไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปพรรคการเมืองที่ประสงค์จะให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทส่วนร่วมโดยตรงอย่างเป็นรูปธรรมยังสิ้นเปลืองเวลา และงบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

เพราะสมาชิกพรรคการเมืองมีน้อยถ้าจะเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นการทำงานแบบสุกเอาเผากินที่ประชาชนไม่มีส่วนรับผิดชอบในกิจกรรมทางการเมืองน้อยมากกับการที่จะคัดเลือกผู้แข่งขันให้ได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม

ที่สำคัญที่สุดคือขัดกับหลักการและความหมายของคำว่า “การเลือกตั้งขั้นต้น” ดังที่กล่าวมาแล้ว

ฉะนั้น เรื่องดังกล่าวควรจะดำเนินการให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือให้สมาชิกพรรคการเมืองได้คัดเลือกบุคคลเข้าแข่งขัน บนพื้นฐานของการตัดสินใจครั้งแรก คือ จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความสำเร็จ แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขให้บรรลุผล

การพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อให้เป็นสถาบันการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง จะต้องเริ่มต้นจากนักการเมืองก่อน มีนักการเมืองกี่คนที่สามารถปฏิรูปตนเองให้เป็นนักการเมืองมืออาชีพ เป็นสถาปนิกทางการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความทุ่มเทและเสียสละ อาสาที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

การเมืองไม่ใช่แค่การไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นภาพกว้างที่เกี่ยวพันกับทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะต้องเกลี่ยเพื่อให้เกิดความเสมอภาค ภาพทางการเมืองที่ปรากฏในสังคมปัจจุบัน สังคมจะต้องช่วยกันตรวจสอบ และลงความเห็น

ครับ….กรณีที่เกิดขึ้นและหลายกรณีที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่เกิดจากนิติรัฐ นิติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการตรากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับทางนิติบัญญัติ ทำให้นึกย้อนกลับไป 4 ปีที่มีการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ “พลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาด และสมดุล หนุนความเป็นธรรม นำชาติไปสู่สันติสุข”

แต่ถูกคว่ำไปในที่สุด ซึ่งประธานผู้ยกร่างได้ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า เกิดจากอะไรก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ต่อมาก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีการทำประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ผลปรากฏว่าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติเห็นชอบฝ่ายเสียงข้างมากร้อยละ 61.40 และไม่เห็นชอบร้อยละ 38.60 และประเด็นเพิ่มเติมที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเสนอผู้เห็นชอบฝ่ายเสียงข้างมากร้อยละ 58.11 ไม่เห็นชอบร้อยละ 41.89 ที่ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นฉบับที่ 20 แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั่วไป บางฉบับแม้จะประกาศใช้แล้วก็ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ ต้องเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และกรณีล่าสุดเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะลงเอยอย่างไร

ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับปฏิทินการเลือกตั้ง เกี่ยวข้องกับงบประมาณมหาศาล เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของคน ที่สำคัญยิ่งคือประเทศเสียโอกาส

นิมิตร จินาวัลย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image