สมเด็จฯฮุนเซน : รัฐบาลใหม่ในเดือนกันยายนนี้ : โดย ประโคนชัย

หลังจากที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ฮุนเซนพูดกับคนในเมืองหลวงว่า จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีในอนาคตของรัฐบาลต่อไป ตามแผนที่จัดตั้งขึ้นเป็นวันที่ 6 กันยายน โดยเลื่อนขึ้นเร็วกว่ากำหนดเดิมในวันที่ 20 กันยายน (คือสาบานตนต่อสภาแห่งชาติ)

ทั้งนี้ มีกำหนดเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 กันยายน จากนั้นที่ประชุมจะลงมติเพื่อตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น และในตอนบ่ายก็จะมีพิธีสาบานตน แล้วจะนั่งเป็นครั้งแรกสำหรับรัฐบาลใหม่ในวันที่ 7 กันยายน เพื่อจะได้มีเวลาสำหรับการเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 73 ที่นิวยอร์ก ในวันที่ 18 กันยายน

ฮุนเซนกล่าวว่า “อยากให้สมาชิกพรรคของเราทุกคนต้องรับใช้ประชาชนอย่างสุจริต เป็นทาสที่ซื่อสัตย์ของประชาชน” และด้วยวัย 66 ปี สมเด็จฯฮุนเซนประกาศอย่างมั่นใจว่าเป็นนายกรัฐมนตรีมาตลอด 32 ปีแล้ว จะขอเป็นต่ออีกอย่างน้อย 2 สมัย ซึ่งถ้าเป็นได้จริงๆ ก็จะถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในโลก ซึ่งดูแล้วก็น่าจะเป็นจริง สมเด็จฯฮุนเซนทำงานบ้านเมืองตั้งแต่สมัยเป็นประเทศยากจนและรบราฆ่าฟันกันทั้งคนภายในประเทศและรบกับต่างประเทศ จนกลายมาเป็นประเทศที่เจริญมั่นคงก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเท่าเทียมประเทศเพื่อนบ้านที่เป็น ASEAN ซึ่งได้รวมตัวกันปกป้องการแทรกแซงจากมหาอำนาจรอบด้านเป็นสิบๆ ปี

ดูจากหนังสือ Choice of Development Path and Development Strategy of Cambodia โดย Mr.Neak Chardarith, Department of International Studies, Royal University of Phnom Penh ซึ่งจะมีการเสนอตัวเลขทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่ยากจนลำบาก และสู้รบกันทั้งภายในและภายนอกจนแทบไม่เป็นประเทศ จนกระทั่งตั้งตัวได้ เมื่อฮุนเซนเป็นผู้นำยาวนานและมั่นคง จึงมาเป็น 1 ใน ASEAN ทุกวันนี้

Advertisement

และจากบทความใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 นี้ เป็นรายงานพิเศษของ คุณชนัดดา ชินะโยธิน ที่ได้คุยกับ ท่านลง วิซาโล (Long Visalo) ทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ว่าการทูตระหว่างกัมพูชากับไทยเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 1950 ทั้ง 2 ประเทศมีวัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ และรูปแบบการดำรงชีวิตของประชาชนที่คล้ายคลึงกัน

ท่านทูตลง วิซาโล บอกว่า การหารือระหว่างไทยกับกัมพูชาอันดับแรก คือ การประชุมแบบทวิภาคี คือการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของแต่ละฝ่าย เกี่ยวกับความร่วมมือกันในทุกๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือกันมากที่สุด

อันดับ 2 คือการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม

อันดับที่ 3 คือการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป จัดขึ้นที่เมืองเสียมราฐ เมื่อปีที่แล้ว (2017) และเป็นที่กรุงเทพฯ โดยพบกัน 2 ฝ่าย ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความมั่นคง และคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนทั้ง 2 ประเทศควบคู่กันไป

และอันดับ 4 คือการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค มีแม่ทัพของแต่ละภูมิภาค ทหารทั้ง 2 ฝ่ายเป็นประธาน ประชุมปีละ 2 ครั้งสลับกัน เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความร่วมมือกันในระดับท้องถิ่น แก้ไขปัญหาอาชญากรรม สินค้าผิดกฎหมาย ส่งเสริมการค้า ตลอดจนโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในพื้นที่ตามแนวชายแดน

รายงานพิเศษของคุณชนัดดา ชินะโยธิน เน้นบทบาทของกัมพูชาที่มุ่งหวังเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน หรืออย่างน้อย เป็นศูนย์กลางด้านขนส่งระดับไทยและเวียดนาม โดยได้รับการสนับสนุนเป็นเงินทุนส่วนใหญ่จากจีนปีต่อปี ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแห่งนี้ อาจจะมีแกนนำเป็นกัมพูชาในไม่ช้านี้

ประโคนชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image