ที่เห็นและเป็นไป : ร่องรอย‘ความอึดอัด’

ทุกครั้งที่มีการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อผลงานรัฐบาล คะแนนที่มาเป็นอันดับหนึ่งเสมอคือ “ความสงบเรียบร้อย”

ประชาชนส่วนใหญ่ชอบที่รัฐบาลชุดนี้ทำให้ความวุ่นวายภายในประเทศยุติลง

เป็นผลงานที่เกิดจากการใช้อำนาจอย่างเข้มข้น ทั้งใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว เติมเต็มด้วยการใช้อำนาจออกคำสั่งของคณะรัฐประหารใช้เป็นกฎหมายเข้าไปบังคับอย่างละเอียดยิบ พร้อมทั้งปฏิบัติการให้เห็นด้วยความเอาจริงเอาจังในการใช้อำนาจ

ถือเป็นรัฐบาลที่มีความสามารถสูงยิ่งในการใช้อำนาจ ประกาศ และทำให้เห็นกันชัดๆ เลยว่าอำนาจเป็นของใคร หากใครฝ่าฝืน หรือทำให้ผู้มีอำนาจไม่พอใจจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของคนผู้นั้น

Advertisement

อาจจะเป็นเพราะความสำเร็จอย่างสูงยิ่งของการใช้อำนาจแบบนี้ แถมยังชัดเจนว่าประชาชนชื่นชอบ ดังนั้นแม้จะบริหารประเทศจนย่างเข้าปีที่ 5 ดูเหมือนความเชื่อมั่นว่าการใช้อำนาจเป็นวิธีการจัดการที่ได้ผลที่สุดยังคงอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผู้มีอำนาจ

ขณะที่หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น และกำลังจะต้องเกิดขึ้น มีแนวโน้มว่าจะเป็นปัจจัยที่การใช้อำนาจจะถูกตั้งคำถามมากขึ้น

การบริหารประเทศอย่างใช้อำนาจเด็ดขาด ด้วยท่าทีพร้อมโมโหโกรธาทันทีเมื่อมีอะไรไม่ถูกใจผ่านเข้ามาในการรับรู้ ในความเป็นไปที่มีหลายเรื่องหลายราวความต้องการคำตอบให้เคลียร์ในบางปัญหาที่เป็นวาระของชาติ อย่างเช่นเรื่องเงื่อนงำความไม่ชอบมาพากลของโครงการต่างๆ มาตรการหรือวิธีการแก้ปัญหาของประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ หรือเรื่องที่จำเป็นต้องใช้การอธิบายให้เกิด
ความเข้าใจ

Advertisement

กลับได้รับคำตอบด้วยการแสดงออกถึงความรำคาญที่จะต้องตอบคำถาม ตามมาด้วยการตั้งกฎเกณฑ์ให้เยอะแยะมากมายขึ้นในการชี้แจง

อย่างแรกด้วยท่าทีเช่นนี้นำมาซึ่งการขยายเรื่องที่ถูกโจมตีว่า “ใช้อำนาจอย่างตรวจสอบไม่ได้” มีน้ำหนักขึ้น ขยายวงจากคนที่ยืนอยู่คนละข้างอยู่แล้วในเชิงอุดมการณ์ มาสู่คนทั่วไป ที่เกิดความสงสัยในบางสิ่งบางอย่าง และเห็นว่าคำตอบไม่ควรทำให้หายไปด้วยการแสดงความโกรธเกรี้ยว และรำคาญ

อีกด้านหนึ่ง ปี่กลองของการเลือกตั้งเริ่มโหมโรงเรียกให้นักการเมืองจำเป็นต้องออกมาแสดงตัวมากขึ้น

แต่กลายเป็นว่า ผู้มีอำนาจยังชื่นชอบงานควบคุมบังคับ จึงยังคงคำสั่งห้ามสารพัดไว้ อันเป็นการฝืนธรรมชาติของนักการเมือง

การเริ่มออกมาวิจารณ์ถึงกาละและเทศะในการใช้อำนาจ จึงมากขึ้น

ยิ่งฝ่ายผู้มีอำนาจเองต้องปรับตัวจาก “ผู้ใช้อำนาจรัฐประหาร” มาเป็น “อำนาจแบบนักการเมือง” มีความจำเป็นต้องสร้างเครือข่าย

ทำให้การให้เหตุผลแบบเป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่กว้างขวางเท่าเทียมจึงเกิดขึ้น

“กลุ่มเคลื่อนไหวได้ แต่พรรคการเมืองเคลื่อนไหวไม่ได้” จึงกลายเป็นคำถามของสังคม

ความเคยชินในการห้าม ทำให้คิด “ออกระเบียบห้ามนักเรียนนักศึกษาในเรื่องความสัมพันธ์ฉันท์หนุ่มสาว อันเป็นธรรมชาติของวัย”

กำลังจะกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาต่อต้าน

ไม่ใช่เพียงการต่อต้านระเบียบ แต่กำลังจะขยายไปสู่การต่อต้าน “อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ และให้ความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม”

ในสถานการณ์ที่บังคับให้นักการเมืองต้องหาเวทีให้ตัวเองได้แสดงออกมากขึ้น และการ “โจมตีเรื่องอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้” เป็นหัวข้อที่ง่ายที่สุดสำหรับเอามาแสดงออก

พร้อมๆ กับ “เด็กรุ่นใหม่” ถูกชี้ให้เห็นว่าความเคยชินของการใช้อำนาจเริ่มกระทบต่อวิถีชีวิต

จึงเป็นเรื่องน่าติดตามอย่างยิ่งว่า สิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้จะมีพัฒนาการไปเช่นไร

ความพยายามทำให้สังคมจำนนต่อการใช้อำนาจจะยังประสบผลสำเร็จ

เป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับอยู่อีกหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image